วันนี้ (31 พฤษภาคม) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสภาองค์กรของผู้บริโภคจัดเสวนาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยโปรแกรม Zoom ค้านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่คาดว่าจะถูกบรรจุเข้าเป็นวาระเร่งด่วนให้ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบในการประชุมในวันอังคารที่ 1 มิถุนายนนี้
สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส. ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ในส่วนกระทรวงคมนาคมที่พรรคภูมิใจไทยดูแลด้วยนั้น ไม่เห็นด้วยกับการนำเรื่องเข้า ครม. ได้มีการยื่นหนังสือคัดค้านถึงนายกรัฐมนตรี ในเรื่องความครบถ้วนของสัญญาสัมปทาน และเหตุใดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงโอนหนี้ไปให้กับเอกชน เขาสามารถโอนหนี้ไปให้กับเอกชนได้ด้วยหรือไม่ รวมถึงประเด็นในข้อกฎหมายที่ กทม. ไปตั้งบริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจขึ้นมาและกำลังถูกฟ้องร้อง ชื่อบริษัท กรุงเทพธนาคม แต่ไปจ้างบริษัทอื่นเดินรถ เป็นการหลบเลี่ยงทางกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้ หากมีการบรรจุเข้าเป็นวาระเร่งด่วนให้ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบ คิดว่ากระทรวงคมนาคมจะไม่เข้าร่วมการพิจารณาใดๆ ส่วนตนอาจจะต้องดำเนินการยื่นฟ้องที่ศาลปกครองอีกครั้ง
ด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ตนรู้สึกผิดหวังหน่วยงานที่จะนำเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวบรรจุเข้าเป็นวาระเร่งด่วน ทั้งที่ไม่มีเปิดเผยรายละเอียดและแก้ไขสัญญา และเรียกเก็บ 65 บาทตลอดสาย โดยไม่ลองพิจารณาทางเลือกอื่นๆ มาเปรียบเทียบที่หลายฝ่ายได้เสนอ แต่ยังเอาเรื่องเดิมๆ ร่างสัญญาสัมปทานเดิมที่ไม่เปิดเผยรายละเอียด รวมถึงค่าโดยสารที่ระบุไว้ 65 บาทนั้นไม่มีที่มาที่ไป ไปบรรจุเข้าเป็นวาระเร่งด่วนใน ครม. นอกจากนี้ ในมุมมองตนอยากเห็นรถไฟฟ้าของกรุงเทพฯ เป็นระบบเดียวกันทั้งระบบเหมือนกับประเทศอื่นๆ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลคือกระทรวงคมนาคมและ กทม. พัฒนาโครงการแยกกันคนละโครงข่าย ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา และมีค่าโดยสารที่จะแพงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอนาคต
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล