ตั้งแต่ช่วงโรคระบาดโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อปี 2020 หลายบริษัทมีนโยบาย Work from Home และเรียนรู้ที่จะทำงานในรูปแบบ Remote Working ให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด เป็นเหตุให้เจ้านายหรือนายจ้างหลายบริษัท เริ่ม ‘ติดตาม’ การทำงานของลูกจ้างจากทางไกล แต่สุดท้ายก็กลับตาลปัตร เมื่อพบว่าพนักงานจำนวนมาก ‘แสร้ง’ ว่าพวกเขากำลังทำงานอยู่
ผลการศึกษาล่าสุดจาก Gartner บริษัทวิจัยชั้นนำของโลกเผยว่า พนักงานมีแนวโน้มที่จะแสร้งทำเป็นทำงานมากกว่าสองเท่า เมื่อพบว่าเจ้านายของพวกเขามีการใช้ ‘ซอฟต์แวร์’ ติดตาม เพื่อตรวจสอบการทำงานจากทางไกล โดยข้อมูลนี้ Gartner ได้ไปสำรวจจากผู้ประกอบอาชีพต่างๆ จำนวน 2,400 คน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
แครอล โคชแรน (Carol Cochran) รองประธานฝ่ายบุคคลและวัฒนธรรม ของเว็บไซต์ FlexJobs กล่าวว่า บทบาทของเราในฐานะผู้จัดการ คือการสร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้คนสามารถทำงานออกมาได้ดีที่สุด ซึ่งมันยากมากที่พวกเขาจะทำงานได้ดี ถ้าพวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความไว้วางใจ
“ถ้าฉันรู้สึกว่ามีคนกำลังไม่ไว้ใจฉันมากพอที่จะคิดว่า ฉันสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบผ่านซอฟต์แวร์ แล้วแบบนี้ฉันจะเชื่อใจพวกเขาคืนได้อย่างไร? แล้วฉันจะสามารถสร้างความปลอดภัยทางกายภาพให้พวกเขาเห็นได้ยังไง?” โคชแรน เสริม
สิ้นปี 2020 ที่ผ่านมา มีผลการศึกษาพบว่ามีบริษัทจำนวนมากใช้ระบบนี้ เพื่อตรวจสอบการทำงานระยะไกลของพนักงาน ทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ติดตามการกดแป้นพิมพ์ ติดตามประวัติการค้นหา ประมวลผลข้อความในอีเมล ข้อความในโซเชียลมีเดีย ตลอดจนเครื่องมือที่ใช้จับภาพหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นระยะๆ ซึ่งพนักงานจำนวนมากมองว่าวิธีนี้ไม่ยุติธรรมกับพวกเขา
ในสมัยก่อนระบบการติดตามพนักงานนี้เคยถูกใช้เพื่อปรับปรุบการทำงานของพนักงาน ไปจนถึงช่วยให้พวกเขาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เมื่อเรากำลังเผชิญกับการทำงานระยะไกลในสภาวะที่ไม่ปกติ เจ้านายหรือนายจ้างควรปรับตัวโดยการตรวจสอบหรือให้พนักงานรายงานสิ่งเหล่านี้น้อยลง
รีด แบล็กแมน (Reid Blackman) ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัทให้คำปรึกษาด้านจริยธรรมองค์กร Virtue Consultants ให้ความเห็นว่า เขาไม่แปลกใจเลยที่เห็นพนักงานหลายคนปลอมงานของตัวเองขึ้นมาในช่วงนี้ เพราะเห็นได้ชัดว่าพวกเขากำลังเล่นเกมกับระบบที่ไม่ยุติธรรมอยู่
นอกจากนี้แบล็กแมนยังให้คำแนะนำว่า จริงๆ ไม่มีเหตุผลเลยที่ผู้จัดการหรือหัวหน้าจะกังวลเกี่ยวกับประสิทธิผลการทำงานของพนักงาน และอยากให้ลองทบทวนอย่างถี่ถ้วนว่าเหตุผลในการใช้ระบบดังกล่าวคืออะไร และสิ่งที่ต้องการให้บรรลุคืออะไร แบล็กแมนบอกว่าทางที่ดีควรพูดคุยเรื่องนี้กับพนักงานก่อน เพื่อให้พวกเขาสามารถถามหรือเข้าใจเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังระบบนี้ได้
ซึ่งในช่วงหลังมานี้เราจะพบว่าการทำงานระยะไกลส่งผลให้พนักงานจำนวนมากมีสภาพ ‘เหนื่อยล้า’ เนื่องจากทุกอย่างถูกย้ายมาอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น อีกทั้งบริบทหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยความสะดวก หากพูดถึงประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลของการทำงานในช่วงนี้ จะพบว่าถ้ามีเปอร์เซ็นต์ลดลงเรื่อยๆ ก็คงจะไม่แปลกอะไร
อเล็กเซีย แคมบอน (Alexia Cambom) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Gartner กล่าวว่า ช่วงเแรกสัญชาตญาณของเจ้านายในการติดตามพนักงาน อาจเป็นไปด้วยเจตนาที่ดี โดยเฉพาะในช่วงที่โรคระบาดเพิ่งเกิดใหม่ๆ และจำเป็นจะต้องสร้างกลยุทธ์ต่างๆ ขึ้นมา แต่ถึงอย่างนั้นหลายบริษัทก็ลืมที่จะคิดถึงพฤติกรรมของมนุษย์ด้วย
“ถ้าคุณเข้าใจว่าในฐานะมนุษย์ พวกเราจะต้องดิ้นรนเพื่อตัดการเชื่อมต่อจากโลกทางไกล จากนั้นคุณจำเป็นต้องสร้างกลยุทธ์เพื่อจูงใจให้ผู้คนตัดการเชื่อมต่อเหล่านั้น และไม่ให้พวกเขาต้องอยู่ในโลกนั้นนานเกินไป” แคมบอนกล่าวเพิ่มเติม
Gartner ยังพบอีกว่า การปรับแนวทางปฏิบัติที่เน้นสำนักงานเป็นศูนย์กลาง (Office-Centric) หรือเน้นการพบปะตัวต่อตัวเป็นหลัก เช่น กำหนดให้มีการประชุมบ่อยๆ จะทำให้พนักงานเกิดสภาวะ Virtual Fatigue หรือความเหนื่อยล้าจากโลกเสมือนจริง และพบว่าการใช้เวลาประชุมมากขึ้นจะทำให้พวกเขาหมดอารมณ์จากงานมากกว่าปกติ 1.24 เท่า
แคมบอนเตือนว่า เมื่อพนักงานมีความเหนื่อยล้าสูง ประสิทธิภาพการทำงานของพวกเขาอาจลดลงถึง 33% และถ้าพวกเขารู้สึกว่าถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับงานตลอดเวลา ประสิทธิภาพการทำงานอาจลดลงได้ถึง 44% และในที่สุด พวกเขาจะมีโอกาสอยู่กับเจ้านายน้อยลงถึง 54%
แต่ก็ใช่ว่าเรื่องนี้จะไม่มีทางออกที่ดี โคชแรนได้แนะนำให้บริษัทต่างๆ พิจารณาอีกครั้ง เรื่องการขอให้พนักงานเปิดกล้องตลอดเวลาขณะประชุม เพราะวิธีนี้จะทำให้พนักงานเกิดอาการเหนื่อยล้ามากขึ้น เธอเสนอว่าให้ทุกคนเปิดกล้องเพียงช่วง 2-3 นาทีแรกของการประชุมก็พอ เพื่อแลกเปลี่ยนความพึงพอใจระหว่างเพื่อนร่วมงาน จากนั้นก็ค่อยปิดกล้องเมื่อถึงเวลาทำงาน
“เราไม่ควรทำสิ่งต่างๆ เพียงเพราะดูเหมือนว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด แต่เราควรจะตั้งใจที่จะจัดการพนักงานให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากทางไกล แบบไฮบริด (ทั้งทางไกล ทั้งเข้าออฟฟิศ) หรือแบบตัวต่อตัวก็ตาม” โคชแรนกล่าว
แต่เมื่อเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกจับจ้องตลอดเวลาการทำงาน เราจะกลับมาโฟกัสงานตรงหน้าอย่างไรไม่ให้เหนื่อยล้า ไบรอัน ครอปป์ (Brian Kropp) หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ Gartner มีวิธีมาเสนอ นั่นก็คือเริ่มจากกิจวัตรยามเช้า โดยสร้างกิจวัตรให้คล้ายกับตอนไปทำงานปกติ ตื่นนอน อาบน้ำ แต่งชุดทำงาน (ที่ไม่ต้องจริงจังมากเกินไป ขอแค่ไม่ใส่ชุดนอนก็พอ) เพื่อสร้าง ‘Mental Commute’ หรือการสะกดจิตตัวเองว่ากำลังไปทำงานตามปกติอยู่ เป็นการแบ่งแยกบริบทระหว่างบ้านกับการทำงานในทางจิตใจนั่นเอง
นอกจากนี้ควรสร้างบริบทของการทำงานในทางกายภาพด้วย โดยแบ่งพื้นที่การใช้ชีวิตกับการทำงานออกจากกัน อย่าทำงานใกล้ที่นอน หรือควรสร้างมุมทำงานขึ้นมาโดยเฉพาะ เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้พื้นที่พักผ่อนเรากลายเป็นพื้นที่ทำงานไปด้วย
และเมื่อถึงเวลาที่ต้องพักผ่อน เราก็ควรพักผ่อนอย่างเต็มที่และไม่พะวงหน้าพะวงหลังเกี่ยวกับเรื่องงานมากนัก เพื่อที่จะได้ไม่เอาเวลาพักผ่อนไปผสมปนเปกับการทำงานจนเกินไป และเกิดสมาธิในการทำงานมากขึ้น
อ้างอิง:
- https://www.forbes.com/sites/kristinstoller/2021/05/05/employees-are-more-likely-to-pretend-theyre-working-when-employers-track-their-productivity-heres-why/?ss=futureofwork&sh=4c60f80649c2
- https://www.cnbc.com/2020/03/19/when-working-from-home-employers-are-watching—heres-what-to-know.html