Foodpanda บริการจัดส่งอาหารแบบเดลิเวอรีที่เน้นเจาะธุรกิจในเอเชียเป็นหลัก ซึ่งอยู่ภายใต้ Delivery Hero บริษัทจากเยอรมนี และเป็นหนึ่งในบริษัทจัดส่งอาหารรายใหญ่ของโลก แสดงความมุ่งมั่นที่จะรุกธุรกิจในเมียนมาต่อ แม้จะมีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ทำให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศหยุดชะงักก็ตาม
ในการให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia เจค็อบ แองเจเล ซีอีโอของ Foodpanda ยอมรับว่าปัจจุบันธุรกิจในเมียนมามี ‘ข้อจำกัดที่มาก’ โดยข้อจำกัดดังกล่าวเกิดจากทหารเมียนมาได้เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปิดอินเทอร์เน็ตบนมือถือ และปราบปรามการประท้วง ส่งผลให้ประชาชนหลายร้อยคนเสียชีวิต
“แม้จะมีอุปสรรคมากมายที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจในเมียนมาเป็นไปอย่างราบรื่น แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือ Foodpanda มองเมียนมาด้วยสายตาระยะยาว”
Foodpanda ซึ่งเปิดให้บริการในเมียนมาในเดือนธันวาคม 2019 ได้กลายเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มการจัดส่งอาหารรายใหญ่ของประเทศ โดยดึงดูดร้านอาหารหลายพันแห่ง และมีพนักงานประมาณ 200 คน
แม่ทัพของ Foodpanda ย้ำกับ Nikkei Asia ว่า ก่อนจะมีสถานการณ์เกิดขึ้น Foodpanda มีความสุขมากกับความคืบหน้าของธุรกิจ เนื่องจากมีแนวโน้มที่ดี และแม้ว่าเมียนมาจะมีความยุ่งยากในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ ด้วยบริษัทมองโอกาสเข้าไปในปี 2023-2025 ซึ่งสิ่งสำคัญคือการสร้างรากฐานธุรกิจให้แข็งแรง “ดังนั้น สำหรับเราไม่ใช่คำถามเรื่องวัน สัปดาห์ หรือเดือน”
ท่ามกลางวิกฤตหลังรัฐประหาร Foodpanda ได้ส่งเสริมบริการ ‘รับสินค้า’ ที่ลูกค้าสั่งซื้อทางออนไลน์จากที่บ้านและรับอาหารเอง ด้วยคนขับบางรายไม่สามารถรับคำสั่งซื้อผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้ของตัวเองได้
นอกจากเมียนมาแล้ว Foodpanda ทำยังดำเนินธุรกิจในกัมพูชา ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย บังกลาเทศ ปากีสถาน ฮ่องกง ไต้หวัน และญี่ปุ่น โดยแข่งขันกับผู้เล่นในพื้นที่และทั่วโลก ซึ่งนับเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตจากความต้องการการจัดส่งที่ขับเคลื่อนด้วยโรคโควิด-19
ข้อมูลจาก Momentum Works บริษัทที่ปรึกษาของสิงคโปร์ ที่เมื่อเดือนมกราคมระบุว่า ปีที่แล้ว Foodpanda ถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่อันดับ 2 รองจาก Grab ในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ในแง่ของมูลค่าสินค้าขั้นต้น หรือ GMV ซึ่งวัดมูลค่ารวมของสินค้าที่ขายบนแพลตฟอร์มที่กำหนด
กระนั้น Foodpanda ก็ไม่ได้ดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ด้วยมี Grab และ Gojek กำลังขับเคี่ยวในสังเวียนนี้อย่างแข้มข้น
แม่ทัพของ Foodpanda ย้ำว่า Foodpanda จะเน้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดส่งสินค้า ซึ่งสามารถสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งที่ดำเนินธุรกิจหลายอย่าง พร้อมกับเสริมว่า ตลอด 9 ปีของ Foodpanda ได้ให้ความสำคัญกับ ‘รายละเอียดการดำเนินงาน’ เช่น การจัดส่งที่รวดเร็วขึ้น และการเรียกเก็บค่าคอมมิชชันที่ยุติธรรมกับร้านอาหาร
สำหรับในญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดล่าสุดที่ Foodpanda เปิดให้บริการ ปัจจุบันได้ขยายไปให้บริการแล้วใน 25 เมือง โดย Foodpanda วางแผนที่จะ ‘ทุ่มทรัพยากรจำนวนมาก’ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในโตเกียว นอกจากนี้ยังมีแผนจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ด้วย Foodpanda มองเห็นโอกาสในเมืองเล็กๆ ที่ผู้เล่นเดิมอย่าง Uber ยังเจาะเข้าไปได้ไม่เต็มที่
กลยุทธ์สำคัญอย่างหนึ่งในระดับภูมิภาคในการตอบโต้คู่แข่งคือการจัดส่งของชำ ที่ Foodpanda เรียกบริการนี้ว่า Pandamart ซึ่งเปิดให้บริการครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2019 และตอนนี้มี Pandamart ประมาณ 200 แห่งใน 8 ตลาด
ตามงบการเงินของ Delivery Hero รายได้ของกลุ่มเอเชียในไตรมาสแรกของปี 2021 เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เป็น 629 ล้านยูโร หรือ 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยซีอีโอของ Foodpanda ระบุว่า ในเอเชียนั้นแข็งแกร่งกว่าตลาดอื่นๆ เล็กน้อย และ Foodpanda ทำกำไรได้แล้วในบางตลาด ดังนั้น Delivery Hero จึงสามารถลงทุนในเอเชียได้มากขึ้น
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: