×

‘บ้านปู เพาเวอร์’ รุกญี่ปุ่น เตรียมสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 13 แห่ง หวังครองตลาดพลังงานทดแทน

22.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับเมืองฟุกุชิมะ (Fukushima) และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิเมื่อปี 2011 ทำให้พลเมืองญี่ปุ่นหมดความเชื่อมั่นในโรงพลังงานผลิตไฟฟ้าแบบเดิมๆ ส่งผลให้รัฐบาลหันมาพึ่งพาการพัฒนาแหล่งผลิตพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง
  • รัฐบาลญี่ปุ่นเลือกปรับโครงสร้างพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศแบบเดิม (ฟอสซิล) ไปสู่แหล่งผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทน และยังปรับเปลี่ยนโครงสร้างในเชิงธุรกิจของพลังงานในประเทศ (restructure energy power) เพื่อเปิดให้บริษัทเอกชนต่างๆ ก้าวเข้ามาลงทุนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขายได้ (energy provider)
  • บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนผู้ประกอบการด้านพลังงานไฟฟ้าจากประเทศไทยรายแรกๆ ที่ตบเท้าเข้าไปลงทุนในประเทศญี่ปุ่นเมื่อช่วงปี 2014 ปัจจุบันมีกำลังในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์รวมกว่า 12.6 เมกะวัตต์ ในฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดใช้งานเชิงพาณิชย์ 3 แห่ง และยังมีอีก 10 แห่งที่อยู่ในระหว่างขั้นตอนพัฒนาและเตรียมเปิดให้บริการในเร็วๆ นี้

     คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า ‘ญี่ปุ่น’ คือหนึ่งในประเทศเจ้านวัตกรรมสุดสร้างสรรค์ของโลกยุคปัจจุบัน เพราะไม่ว่าจะเผชิญปัญหาการดำรงชีวิตกี่ครั้งต่อกี่ครั้งในระดับความรุนแรงที่มากน้อยแตกต่างกันออกไป แต่ที่สุดแล้วพลเมืองญี่ปุ่นก็มักจะคิดหาหนทางถอดสลักอุปสรรคเหล่านั้นได้ด้วยนวัตกรรมไอเดียบรรเจิดอยู่ดี

     โดยเฉพาะกรณีที่ญี่ปุ่นหันมาให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันกำลังกลายเป็นกระแสนิยมทั่วโลก เพราะสะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจในการร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและการลดปริมาณการปล่อยมลพิษ ทั้งยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้มากกว่าการพึ่งพาเชื้อเพลิงแบบเก่าๆ ได้อีกหลายเท่าตัว

     ที่สำคัญยังเปิดโอกาสให้ฝั่งเอกชนเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและพัฒนาพลังงานภายในประเทศอีกด้วย จนมีบริษัทที่สนใจหลายแห่งๆ รวมถึง ‘บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)’ จากประเทศไทยที่ก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งผู้เล่นในตลาดพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์เป็นที่เรียบร้อย

     แต่กว่าจะผ่านมาถึงจุดที่ญี่ปุ่นมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ใช้งานอย่างทุกวันนี้ และเป็นฟันเฟืองสำคัญผลักดันหลายๆ ประเทศให้หันมาใช้พลังงานทางเลือกได้นั้น พวกเขาก็เคยผ่านจุดวิกฤตครั้งสำคัญของประเทศมาก่อนเช่นกัน

 

Photo: Flickr

 

จากหายนะสู่พลังงานทางเลือก เมื่อญี่ปุ่นเปลี่ยนภัยพิบัติให้เป็นโอกาสพัฒนาประเทศ

     ย้อนกลับไปในเดือนมีนาคม ปี 2011 หรือเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งสำคัญ เมื่อฟุกุชิมะ (Fukushima) เมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรง จนนำไปสู่การก่อตัวของคลื่นสึนามิที่สร้างความเสียหายชนิดที่ไม่มีใครคาดคิด คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 18,500 คน มีประชาชนมากกว่า 2 แสนคนต้องอพยพหนีเอาชีวิตรอด

     ไม่เพียงเท่านั้น เหตุการณ์ครั้งดังกล่าวยังสร้างความเสียหายให้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิอีกด้วย ซึ่งแม้จะไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความเสียหายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิโดยตรง แต่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ก็ได้ออกมาประกาศภายหลังว่า อุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นนี้คิดเป็นมาตรความเสียหายในระดับที่ 7 (ระดับสูงสุด) เป็นรองเพียงแค่ภัยพิบัติเชอร์โนบิลที่เคยเกิดขึ้นในสหภาพโซเวียต เมื่อปี 1986 เท่านั้น!

     ยิ่งไปกว่านั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังบั่นทอนความไว้เนื้อเชื่อใจที่ชาวญี่ปุ่นมีต่อโรงพลังงานผลิตไฟฟ้าแบบเดิมๆ และนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของแหล่งพลังงานชนิดนี้อีกด้วย

     โทชิฮิเดะ คุโบะ (Toshihide Kubo) ประธานบริหารบ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ประเทศญี่ปุ่น เล่าถึงจุดเริ่มต้นการหันมาใส่ใจพลังงานทางเลือกของประเทศญี่ปุ่นว่า “การที่ญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศไปสู่แหล่งพลังงานไฟฟ้าทดแทนได้อย่างรวดเร็วมากๆ ในเชิงอุตสาหกรรมนั้น สืบเนื่องมาจากผลของเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิเมื่อปี 2011

     “เดิมทีนั้นคนญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นในตัวโรงงานผลิตพลังงานแบบเดิมมากๆ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น โรงพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ถูก disrupt ทันที ความน่าเชื่อถือในตัวองค์กรผลิตพลังงานไฟฟ้าก็ลดลงต่อเนื่อง และทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มเกิดความคิดที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตพลังงานไฟฟ้าใหม่”

     จากหายนะครั้งดังกล่าวนี่เองที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นหันไปมองตัวเลือกอื่นๆ อย่างเช่นพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และไม่สร้างผลกระทบหรือความเสียหายให้กับธรรมชาติเหมือนที่โรงพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ก่อไว้

     นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างในเชิงธุรกิจของพลังงานในประเทศ (restructure energy power) เพื่อเปิดทางให้บริษัทเอกชนต่างๆ ก้าวเข้ามาลงทุนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขายได้ (energy provider) รวมถึงบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘BPP’ หนึ่งในผู้ประกอบการด้านพลังงานไฟฟ้าจากไทยเจ้าแรกๆ ที่ประสบความสำเร็จในการกลายเป็นผู้เล่นด้านพลังงานทางเลือกที่น่าจับตาในตลาดแดนอาทิตย์อุทัย

 

 

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทจากประเทศไทยที่รุกหนักเดินหน้าขยายฐานธุรกิจในประเทศญี่ปุ่น

     ผลจากการปรับโครงสร้างธุรกิจด้านพลังงานครั้งใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น บ้านปู เพาเวอร์ จึงเล็งเห็นโอกาสสำคัญในการขยายธุรกิจฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์หรือ ‘โซลาร์ เซลล์’ ไปยังต่างแดน และเริ่มเข้าไปลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นเป็นรายแรกๆ ตั้งแต่ช่วงปี 2014 ผ่านการสนับสนุนและความเชื่อมั่นจากพันธมิตรในญี่ปุ่น

     ปัจจุบันบ้านปูมีฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่นมากถึง 3 แห่งแล้ว ได้แก่ โครงการโอลิมเปีย (Olympia), โครงการฮิโนะ (Hino) และโครงการอวาจิ (Awaji) ซึ่งทั้ง 3 แห่งนี้มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 12.6 เมกะวัตต์ และยังมีอีก 10 แห่งที่จ่อคิวเตรียมทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเร็วๆ นี้ รวมถึงโครงการยามางาตะ ไออีเดะ (Yamagata Iide) ที่จะมีขนาดกำลังการผลิตสูงถึง 200 เมกะวัตต์! (คาดว่าจะเสร็จสิ้นทุกแห่งในช่วงปี 2020)

     หากแล้วเสร็จทั้ง 13 โครงการฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น บ้านปู เพาเวอร์จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์คิดรวมเป็น 233.3 เมกะวัตต์เลยทีเดียว

 

 

     วรวุฒิ ลีนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “ตอนนี้เรามีทีมงานที่แข็งแกร่งมาก ขณะที่บ้านปูก็ยังได้รับการยอมรับจากบริษัทพันธมิตรมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นช่องทางในการขยายธุรกิจที่ดี

     “ส่วนในเชิงของผลงานบ้านปู เพาเวอร์นั้น อาจจะต้องแยกตามลักษณะธุรกิจ แต่พอร์ตโฟลิโอของเราก็เริ่มชัดเจนและขยายไปยังต่างประเทศมากขึ้น ไม่ได้กระจุกตัว เรามีกำลังผลิตที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ชนิดของพลังงานที่เราผลิตได้ก็เป็นพลังงานทดแทน (renewable energy) ด้วย และเชื่อว่าผลประกอบการโดยรวมของเราจะดีขึ้นกว่าเดิมแน่นอน”

     ในฐานะที่เป็นพลเมืองญี่ปุ่น โทชิฮิเดะ คุโบะ ให้ความเห็นเช่นกันว่าการเข้ามาลงทุนที่ญี่ปุ่นในครั้งนี้ของบ้านปู เพาเวอร์นับเป็นโอกาสที่ดีมากๆ เพราะเข้ามาเป็นผู้เล่นตลาดพลังงานทดแทนในช่วงที่ญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปไกลแล้ว และยังทันการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (FIT) เป็นระยะเวลา 20 ปีกับทาง KEPCO หรือการไฟฟ้าโอซาก้า (จากโรงไฟฟ้าอวาจิ) ในเรตราคาที่ยัง ‘สูง’ อยู่ คิดเป็น 40 เยนต่อกิโลวัตต์ เพราะยิ่งปล่อยให้เวลาผ่านไปก็จะมีผู้เล่นในตลาดนี้มากขึ้นและจะเป็นผลให้เรตราคาในการขายต่อไฟฟ้าลดลงนั่นเอง

 

 

โครงการอวาจิ หนึ่งในแลนด์มาร์กฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ชุดบุกเบิกของบ้านปู

     สำหรับโครงการพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในอวาจิที่ THE STANDARD มีโอกาสได้แวะเวียนไปเยี่ยมชมนั้นตั้งอยู่บนเกาะอวาจิ ในจังหวัดเฮียวโงะ (Hyogo) บนพื้นที่โล่งขนาดกว่า 160,000 ตารางเมตรหรือราว 100 ไร่

     ฟาร์มผลิตพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้สร้างขึ้นด้วยงบลงทุนกว่า 4 พันล้านเยน และสามารถให้กำลังการผลิตไฟฟ้าได้รวมกว่า 7.92 เมกะวัตต์ โดยเพิ่งจะเปิดใช้งานเชิงพาณิชย์ไปเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมานี่เอง

     เจ้าหน้าที่ประจำบริษัทบ้านปู เพาเวอร์ ประเทศญี่ปุ่นรายหนึ่งบอกกับเราว่า เดิมทีพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นพื้นที่ปล่อยทิ้งร้าง ไม่ได้ถูกนำไปทำประโยชน์มาก่อน รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเล็งเห็นว่าน่าจะนำมาทำประโยชน์ต่อได้มหาศาล ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการนำมาพัฒนาเป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทน จึงได้ติดต่อขอซื้อที่ดินจากผู้สูงอายุเจ้าของที่ในขณะนั้นเพื่อนำมาขายต่ออีกทอดหนึ่งให้เหล่าผู้ประกอบการพลังงานทดแทนในที่สุด

     และเมื่อได้ลงพื้นที่จริงก็พบว่าฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ที่อวาจิของบ้านปูแห่งนี้มีอาณาบริเวณที่กว้างขวาง แผงพลังงานแสงอาทิตย์ทุกแผงตั้งตระหง่านเรียงรายประจันหน้ากับแสงแดดที่สาดส่องลงมาพร้อมสะสมประจุพลังงานไฟฟ้าอย่างไม่หยุดหย่อน

     กระนั้นก็ตาม เราก็ยังมีข้อสงสัยอยู่ดีว่าในกรณีที่อาจจะเกิดภัยพิบัติหรือภัยธรรมชาติกับฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้ขึ้น บ้านปูจะมีวิธีรับมือกับมันอย่างไร

     เจ้าหน้าที่ประจำบริษัทบ้านปู เพาเวอร์ ประเทศญี่ปุ่นคนเดิมบอกกับเราว่าสบายใจได้เลย เพราะก่อนที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้ ทางธนาคารผู้อนุมัติเงินทุนในการก่อสร้างได้ประเมินความคุ้มทุนในการก่อสร้างก่อนที่จะเริ่มอนุมัติเงินอยู่แล้ว นอกจากนี้ก็ยังมีการทำประกันกรณีเกิดอุบัติเหตุล่วงหน้าไว้อีกด้วย

     ทั้งนี้ เป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดของบ้านปู ณ เวลานี้ คือการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยปัจจุบันพวกเขามีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 2,068 เมกะวัตต์ โดยใน 8% ของพลังงานในสัดส่วนดังกล่าวคือพลังงานทดแทน แต่ภายในปี 2025 ที่จะถึงนี้ บ้านปู เพาเวอร์ตั้งเป้าว่าจะต้องผลิตพลังงานไฟฟ้าให้ได้มากกว่า 4,300 เมกะวัตต์จากโรงไฟฟ้าในหลายๆ ประเทศเช่น ไทย, จีน, ญี่ปุ่น, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และลาว โดยสัดส่วนกว่า 20% ของพลังงานไฟฟ้าจำนวนดังกล่าวจะต้องเป็นพลังงานทดแทน

     วรวุฒิ กล่าวว่า “ในฐานะ regional player บ้านปู เพาเวอร์ ยังคงมองหาโอกาสทางธุรกิจที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป และพลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีศักยภาพทางการเติบโตด้านการใช้ไฟฟ้าและมีนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้

     “ที่สำคัญบ้านปู เพาเวอร์ ไม่เพียงมุ่งขยายการลงทุนในประเทศต่างๆ เพื่อสร้างความเติบโตทางธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว เพราะมีปณิธานที่จะเป็นพลเมืองที่ดีที่มีส่วนช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนที่เข้าไปดำเนินธุรกิจด้วยเช่นกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นกรอบแนวทางที่เรายึดปฏิบัติเสมอมา”

     ถือเป็นความเคลื่อนไหวในแวดวงธุรกิจและพลังงานทดแทนที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียวสำหรับการบุกตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่นในคราวนี้ของบ้านปู เพาเวอร์ ส่วนพวกเขาจะบรรลุเป้าหมายในการเดินหน้าสู่ความสำเร็จได้หรือไม่นั้นก็คงต้องติดตามกันต่อไป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X