วานนี้ (15 พฤษภาคม) สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD VACCINE FORUM ถึงการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยสาธิตระบุว่า หลักการใหญ่ของการฉีดวัคซีนคือต้องให้คนฉีดวัคซีนมากที่สุดและปลอดภัย เดิมแบ่งให้ลงทะบียนฉีดวัคซีนสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เนื่องจากเป็นการบริหารตามข้อสัญญาเดิมกับบริษัทที่ผลิตวัคซีนจะส่งมอบให้กับรัฐบาลเป็นล็อต
ต่อมามีการปรับเปลี่ยนในระดับนโยบาย จึงเปลี่ยนแปลงภายใต้แนวคิดจุดที่ใกล้บ้านและสะดวกสบาย จึงเพิ่มอีก 2 ช่องทาง คือ องค์กรหรือบริษัทต่างๆ ที่มีพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ต้องสัมผัสผู้คนเป็นจำนวนมาก ก็จะสามารถจัดจุดพิเศษให้ฉีดได้ ส่วนกรณีการ Walk in ต้องยอมรับว่าอาจมีปัญหาและอาจไม่ได้ฉีดหากมีผู้มาใช้บริการหนาแน่น แต่ก็จะพยายามอำนวยความสะดวก อย่างไรก็ตาม ลำดับของการฉีด ณ จุดฉีดวัคซีน คือคนลงทะเบียนจะต้องได้ฉีดโดยที่ต้องตรงกับเวลาที่จอง แต่อาจมีวัคซีนบางส่วนก็จะอำนวยความสะดวกให้คนที่ Walk in คือเดินเข้ามาแล้วรับการฉีดตามขั้นตอน
“นี่เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้มากที่สุด ถามว่าพอทำได้หรือ ผมคิดว่าพอทำได้ เช่น ในกรุงเทพฯ ปลายเดือนนี้วัคซีนล็อตพิเศษจะเข้ามา ซึ่งจะทำให้เราทดลองได้ การฉีดในพื้นที่ที่มีการระบาด ไม่ต้องลงทะเบียน สามารถจัดระเบียบ เพียงแต่คนหน้างานต้องจัดระเบียบการ Walk in ซึ่งอันนี้คนหน้างานต้องซักซ้อม” สาธิตกล่าว
ส่วนหากฉีดวัคซีนแล้วมีอาการผิดปกติ กระทั่งพิการหรือเสียชีวิต สาธิตกล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีหลักเกณฑ์เยียวยา หากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วเสียชีวิต ก็จะมีการเยียวยาเป็นเงิน 4 แสนบาท กรณีทุพพลภาพหรือเสียอวัยวะ 2 แสนบาท และอาการเล็กน้อย 1 แสนบาท
“โดยหลักการขณะนี้วัคซีนทุกตัวใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะว่าวัคซีนนั้นจะต้องทดลองในระยะเวลา 1 ปีขึ้นไปในจำนวนคนที่มากพอ จะได้แจกแจงข้อมูลผลกระทบ เขามีกติกาว่าหากต้องฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ต้องให้รัฐรับผิดชอบในทุกกรณี ทีนี้มีคำถามว่าทำไมได้แค่ 4 แสนบาทเอง สิงคโปร์ได้ 2 ล้านบาท หรือที่นั่นได้ 4-5 ล้านบาท อันนี้ก็เป็นไปตามฐานะหรือสถานะความมีเงินของรัฐบาลที่แตกต่างกันไป” สาธิตกล่าว
ทั้งนี้ การที่จะไปฉีดวัคซีนนั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขต้องปลอดภัย ฉีดเสร็จต้องตรวจสอบอาการ ต้องมีทีมแพทย์และพยาบาลช่วยดูอยู่ และต้องมีเครื่องมือช่วยชีวิตประจำจุดฉีด ที่สำคัญคือต้องมีรถพยาบาลในมาตรการสูงสุด กรณีที่ต้องนำส่งผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วมีอาการวิกฤตไปถึงหมอโดยเร็ว นี่คือหลักการที่ต้องดำเนินการ
สำหรับความกังวลนั้น สาธิตระบุว่า ตนเองกังวลความเข้าใจของประชาชนที่มีต่อการกระจายวัคซีนและจำนวนวัคซีนที่ได้รับ รวมถึงกังวลว่าวัคซีนที่ได้รับมาจะเพียงพอต่อความต้องการในสถานการณ์ที่สมมติว่าเรารณรงค์ให้มาฉีด แต่ปรากฏว่าทุกคน ทุกวัย ต้องการรับการฉีดภายใน 1-2 เดือน เราจะบริหารความต้องการหรือความหวังได้แค่ไหน และไม่อยากให้สังคมเลือกยี่ห้อวัคซีน ยกเว้นหากเข้ามาได้ แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารสถานการณ์วัคซีนเดือนนี้อาจเป็นแบบนี้ แต่เดือนต่อไปอาจเป็นอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้