×

เปิดโจทย์ 3 ปี ‘ทีเอ็มบีธนชาต’ ขอครองใจลูกค้าในระดับ ‘ชื่นชอบและบอกต่อ’

โดย THE STANDARD TEAM
18.05.2021
  • LOADING...
ทีเอ็มบีธนชาต

HIGHLIGHTS

  • หลังรวมสองธนาคารเข้าด้วยกันและกลายเป็น ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ttb แล้ว ก้าวแรกคือส่งมอบบริการที่ดีและครบกว่าเดิม เร่งให้ลูกค้าที่อยู่ในฐานกว่า 10 ล้านราย มาใช้ ‘ttb’ เป็นธนาคารหลัก
  • เป้าหมายระยะ 3 ปี ttb ขอเป็นธนาคารที่ลูกค้า ‘ชื่นชอบและบอกต่อ’
  • ช่องทางดิจิทัลจะเป็นเครื่องมือหลักในการเชื่อมต่อลูกค้าสู่บริการเดิมและบริการใหม่

กว่า 18 เดือน สำหรับการก้าวข้ามความท้าทาย ‘ดีลแห่งปี’ การรวมสองธนาคาร ‘ทีเอ็มบี’ และ ‘ธนชาต’ ได้เดินทางมาถึงไมล์สำคัญสุดท้าย ในการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ที่กำลังจะเสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยล่าสุด ธนาคารได้เปลี่ยนโลโก้ใหม่พร้อมสื่อสารแบรนด์ใหม่เพื่อสร้างการจดจำให้คนไทยทั้งประเทศในชื่อ ‘ทีเอ็มบีธนชาต’ หรือ ttb โดยโจทย์ใหญ่ที่คณะกรรมการ (บอร์ด) บริหารตั้งไว้ สำหรับการขับเคลื่อนธนาคารภายในระยะ 3 ปี คือ ‘การเป็นธนาคารที่ลูกค้าชื่นชอบและบอกต่อ’  

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานกรรมการ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) หรือ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โจทย์หลักในระยะ 3 ปี คือการเป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่คนไทยชื่นชอบและบอกต่อ ผ่านการสร้างบริการทางการเงินที่ครบครันกว่าเดิม และส่งมอบให้กับฐานลูกค้าของธนาคารรวมกว่า 10 ล้านราย ให้มาใช้ ttb เป็นธนาคารหลัก (Main Bank) ได้อย่างตรงโจทย์ของแต่ละกลุ่ม แต่ละช่วงชีวิต หรือเรียกได้ว่า Tailor Made ให้แต่ละบุคคลได้

 

ทีเอ็มบีธนชาต

 

“ttb เป็นธนาคารใหม่ที่ผสานจุดแข็งของสองธนาคารเข้าด้วยกัน โดย TMB มีจุดแข็งในด้านเงินฝาก และบริการด้านดิจิทัล ซึ่งทุกคนต่างยอมรับว่า TMB เป็นธนาคารแรกๆ ที่ปรับตัวเป็น Digital Banking ขณะที่จุดเด่นของธนาคารธนชาตคือ ผู้นำในผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากเป็นอันดับต้นๆ และเมื่อรวมกันแล้วมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านราย มีลูกค้าที่ซ้ำซ้อนกันเพียง 10% หรือคิดเป็น 1 ล้านคนเท่านั้น”

 

เปิดแผนระยะยาวเป็นธนาคารที่ลูกค้าเลือกใช้ และชื่นชอบจนต้องบอกต่อ ชูดิจิทัลตอบโจทย์

โดยเป้าหมายต่อไปของ ttb คือ การสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีให้กับคนไทย (Better Financial Well-being) ผ่านบริการและผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดแข็งของทั้งสองธนาคาร เพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้า

“สำหรับสะพานเชื่อมลูกค้าไปสู่จุดที่รู้สึกชื่นชอบบริการของ ttb และอยากบอกต่อ คือ การเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า ด้วยการส่งมอบบริการแบบ Connecting the Target เพื่อให้ลูกค้าเดิมของ TMB ได้มีประสบการณ์ใหม่กับผลิตภัณฑ์ด้านสินเชื่อของธนาคารธนชาต ในทางกลับกันลูกค้าของธนาคารธนชาตก็จะได้รับบริการด้านการออม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์โดดเด่นของ TMB อย่างไรก็ตาม การส่งมอบบริการแก่ลูกค้าต้องไม่ทำให้เกิดความรู้สึกถูกยัดเยียด” 

และเพื่อให้บรรลุความตั้งใจในการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีตามพันธกิจ (Mission) ของ ttb ธนาคารแห่งใหม่จึงได้นำจุดแข็งของ TMB และธนชาตมาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่แบ่งออกได้เป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1. การออม ช่วยให้ลูกค้าฉลาดในการออมผ่านผลิตภัณฑ์เงินฝากดอกเบี้ยสูง และฉลาดใช้กับบัญชีที่มอบสิทธิประโยชน์แบบฟรีรอบด้าน พร้อมรับฟรีประกันอุบัติเหตุ 2. สินเชื่อ ไม่ยัดเยียดให้ลูกค้าเป็นหนี้เกินภาระที่ควรเป็น มีการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 3. การลงทุน ที่เน้นให้ความรู้กับนักลงทุน พร้อมบริการจัดพอร์ตตามความเสี่ยงได้อย่างครบวรจร และ 4. การคุ้มครอง มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันที่ตอบโจทย์ ทั้งมอบความคุ้มครอง และดูแลความมั่งคั่ง ส่งต่อให้ทายาทได้อย่างสบายใจ

 

เน้นครองใจฐานลูกค้าเดิม

“ในช่วง 2-3 ปีหลังจากรวมกิจการ ttb จะเน้นธุรกิจในประเทศเป็นหลัก ซึ่งคณะกรรมการให้ความสำคัญถึงการมุ่งตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายเฉพาะด้านนั้นๆ เราไม่ต้องการเร่งเติบโตในเรื่องสินทรัพย์ เราต้องการเติบโตด้วยการโฟกัสทำในแต่ละเรื่องที่ตอบโจทย์ลูกค้าคนไทย และชื่นชอบจนต้องนำไปบอกต่อ เช่น ลูกค้ารายย่อยกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบ้าน

ขณะที่ธรรมชาติการเงินของคนไทยยังมีความแตกต่างกันพอสมควรระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด ซึ่งการที่ธนชาตมีจุดแข็งในต่างจังหวัด ttb จึงสามารถเข้าไปตอบโจทย์ในจุดนี้ด้วย ทำให้การรวมกันสร้างประโยชน์ได้จริงควบคู่ไปกับการสร้างความแข็งแกร่ง โดยอีกหนึ่งจุดแข็งของธนาคารที่หลายคนอาจมองข้ามก็คือ ผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย ING ซึ่งเป็นธนาคารที่มีประสบการณ์และเป็นผู้นำด้านดิจิทัลแบงกิ้ง กระทรวงการคลังให้การสนับสนุน และกลุ่มธนชาตที่เก่งเรื่องสินเชื่อรถยนต์รายย่อย

 

นำ ‘ดิจิทัล’ เชื่อมโยงลูกค้าสู่บริการ

ธนาคารมีการนำดิจิทัลมาใช้มากขึ้น ทั้งการวิเคราะห์พฤติกรรม นำผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลมาตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยตั้งเป้าหมายที่จะขึ้นเป็นอันดับ 3 ของดิจิทัลแบงกิ้งภายใน 3 ปี นับจากปี 2564 สร้างความชื่นชอบจากการโฟกัสความต้องการของลูกค้าแต่ละคน มีลูกค้าเป้าหมายที่มีอยู่ 10 ล้านราย ให้ใช้ ttb เป็นธนาคารหลักผ่าน Financial Well-being Solution ขณะเดียวกัน การนำดิจิทัลมาเชื่อมโยงบริการต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น  ยังเป็นการสานต่อเทรนด์ในปัจจุบัน ที่ลูกค้าลดการเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านทางสาขาด้วยเช่นกัน โดยหลังการรวมกิจการ ttb จะมีสาขาให้บริการอยู่ประมาณ 600 กว่าสาขา

 

ฐานะทางการเงินแข็งแกร่งขึ้น

การรวมกันเป็น ttb ส่งผลให้ฐานะทางการเงินแข็งแกร่งขึ้น โดยตั้งแต่เริ่มรวมกิจการธนาคารก็สามารถทยอยรับรู้ผลประโยชน์จากการรวมกิจการ ทั้งในเรื่องของประโยชน์ด้านงบดุลจากการปรับโครงสร้างเงินฝากและสินเชื่อให้มีความเหมาะสม และประโยชน์ทางด้านต้นทุนจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและลดค่าใช้จ่ายทับซ้อน ส่งผลให้กำไรก่อนสำรองในปี 2563 ปรับตัวดีขึ้นราว 90%

นอกเหนือจากประโยชน์ทั้งสองส่วน ภายหลังรวมกันเป็นหนึ่งธนาคารแล้ว จะเอื้อให้เกิดการรับรู้ประโยชน์ด้านรายได้ และช่วยเสริมแนวโน้มฐานะการเงินของ ttb ให้แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ โครงสร้างผู้ถือหุ้นยังเสริมความแข็งแกร่งให้กับ ttb เช่นกัน โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นหลักประกอบด้วย ING 23.0% กลุ่มทุนธนชาต 20.5% กระทรวงการคลัง 11.8% และกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง 10.4%

ทั้งนี้ ภายหลังการรวมแล้วเสร็จ ttb จะนำไปสู่การยกระดับประสบการณ์ทางการเงินที่ดียิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

 



พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X