โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ ‘บัตรทอง’ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อพ.ศ. 2545 กลับมาเป็นประเด็นให้ถกเถียงในวงกว้างอีกครั้ง หลังเกิดกระแสว่ามีความพยายามที่จะแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งสร้างความกังวลใจให้กับเครือข่ายภาคประชาชน เพราะมีการตั้งข้อสังเกตว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หรืออาจถึงขั้นยกเลิกสิทธิประโยชน์ที่เคยมี
ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนโดยยืนยันว่า การยกเลิกระบบบัตรทองเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
THE STANDARD ลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นประชาชนที่ใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยหวังว่าเสียงของพวกเขาจะสะท้อนให้เห็นความจริงและความรู้สึกจากการตัดสินใจของรัฐบาลที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน
พิพัฒพร บางกรวย
อาชีพ: มอเตอร์ไซค์รับจ้าง
“ผมเคยใช้บริการ 30 บาทที่ขึ้นกับโรงพยาบาลเอกชน ตอนนั้นผมป่วยเป็นโรคปอดติดเชื้อ รักษาอยู่ในห้องไอซียูเกือบเดือน ไม่ต้องเสียสักบาท ถ้าไม่มีก็คงต้องจ่ายเป็นแสน เพราะออกจากไอซียูมาก็รักษาตัวอีก 2 อาทิตย์ ถ้าจะมีการปรับให้ต้องจ่ายมากขึ้นสัก 10 บาท 20 บาทก็คงไม่เป็นไร แต่ให้จ่ายมากกว่านั้นก็คงต้องตามเวรตามกรรม
“ทุกวันนี้ผมป่วยเป็นความดัน ป่วยมา 4-5 ปีแล้ว ต้องไปรับยาทุก 2 เดือน แต่โชคดีที่ไม่ต้องจ่ายค่ายา”
ไพบูลย์ บัวบุนนาค
อาชีพ: ขายผลไม้
“ตอนนี้ผมป่วยเป็นตับอักเสบ มันต้องรักษาตลอด ถ้ารักษาในโรงพยาบาลที่เสียสตางค์ก็ต้องจ่ายเยอะ หมอก็บอกว่าไปรักษากับ 30 บาทเถอะ ใช้สิทธิ 30 บาท ไม่ต้องมาเสียเงินเสียทองมาก วอนขอว่าอย่ายกเลิก คนจนมันมาก คนรวยมันน้อย จ่ายส่วนต่างไม่ไหว”
ศรีเพ็ญ บุญรักษ์ (เธอเรียกตัวเองว่า ‘ป้าเพ็ญ มาลัยทอง’)
อาชีพ: ขายพวงมาลัย
“ป้าเป็นความดันอย่างเดียว เบาหวาน หัวใจ รักษาแล้ว ไปโรงพยาบาลไม่ค่อยบ่อยมาก กินยาก็ค่อยยังชั่วขึ้น 30 บาทช่วยส่วนรวมได้ทุกคน บางคนก็มีจ่าย บางคนก็ไม่มีจ่าย ต้องเข้าใจนะ ถ้ายกเลิกไป คนจนจะทำยังไงกัน ถ้าให้จ่ายตามสัดส่วนรายได้ก็พอรับได้ ต้องดูว่าเขามีหรือไม่มี ถ้าไม่พัฒนาคนจนขึ้นมา เสร็จเลยนะ ทุกวันนี้มีตึกอยู่เพราะใคร”
ป้าหง่าว (ป่วยเป็นโรคมะเร็ง)
อาชีพ: แม่บ้าน
“ถ้าเกิดเราไม่มีบัตรทอง 30 บาท มาโรงพยาบาลครั้งหนึ่ง เสียค่าใช้จ่ายส่วนตัวมันก็เยอะ แล้วถ้ามาเสียค่าโรงพยาบาล ค่ายา ค่าหมอ มันก็จะเยอะขึ้น ถ้าจะต้องจ่ายเองนี่เยอะมาก ให้ทำคีโม 12 ครั้ง ครั้งละประมาณ 19,000 บาท แต่นี่ไม่ต้องจ่าย จ่ายแต่ค่าเตียงพิเศษที่เราจอง หมอพูดจาดี สุภาพ พยาบาลก็ดีหมด ถึงเราจะไม่ได้เป็นโรคเรื้อรัง มันก็ทุ่นค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ”
พี่ไพโรจน์
อาชีพ: ไม่ระบุ
“เกือบทุกคนในบ้านก็ใช้สิทธิ 30 บาท ดี มันไม่เสียสตางค์ หรือเสียน้อย ถ้าไม่มี 30 บาท ก็ไม่มีเงินสำรองที่จะมาจ่าย อย่างผมพาป้าไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน เขาก็เหมือนเลี้ยงไข้ หมดค่ารักษาไปเยอะ จนมีหมอมากระซิบว่าให้ย้ายไปรักษาแล้วใช้สิทธิ 30 บาท ตอนนี้ก็เลย ‘เบา’ ลงเยอะ”
จิรารักษณ์ ฉ่ำวารี
อาชีพ: ค้าขาย
“พี่เข้าโรงพยาบาลบ่อย เพราะมีโรคประจำตัว พี่เป็นไวรัสตับอักเสบบี ต้องกินยาต้านไวรัสด้วย 3 ปี ถ้าไม่มีตรงนี้ก็ต้องจ่ายเป็นแสน เดี๋ยวนี้คนมีเงินยังเปลี่ยนมาใช้ 30 บาทเลยนะ เพราะว่าค่ารักษามันสูง แต่ค่าครองชีพต่ำ รายได้ที่จะเข้ามามันน้อยกว่ารายจ่ายที่เราต้องจ่ายออกไป”
สายัณห์ จันทเริง
อาชีพ: ขับรถตุ๊กตุ๊ก
“บัตร 30 บาท คนบ้านนอก ไม่มีรายได้แบบพวกผมถือว่าใช้ได้ ถ้าให้จ่ายเพิ่มก็ไม่มีเงินหรอก ไปโรงพยาบาลไม่บ่อย เพราะไม่ค่อยป่วย แต่ไปอนามัยแล้วยื่นบัตรใบนี้เขาก็จัดยาให้ อย่างพี่ชายผมเข้าห้องฉุกเฉินผ่าตัดนิ่วก็ยื่นบัตรนี้ ไม่ต้องจ่าย”
สมร ชมชื่น
อาชีพ: ขายมะม่วง
“พ่อค้าแม่ค้าบางคนไม่มีบัตรรับรองสิทธิทุกอย่าง มีบัตร 30 บาทก็ดี คนในครอบครัวก็ใช้หมด ยิ่งชาวนาชาวไร่ ไม่มีบัตรอย่างอื่น ใช้ตรงนี้มันก็ยังโอเคอยู่นะ”
บัณฑิต สีลางาม
อาชีพ: ขายน้ำผลไม้
“ปีหนึ่งเข้าโรงพยาบาลประมาณ 2 ครั้ง ครอบครัวและญาติพี่น้องใช้ 30 บาทหมด ถ้ารัฐให้ออกค่าใช้จ่ายเพิ่มก็คงเหมือนย้อนไปอดีตกาล ป่วยทั้งทีต้องขายไร่ขายนา ไม่มีสตางค์ไปใช้เอกชน รายได้มันน้อย”
ติดตามประเด็น พ.ร.บ. บัตรทองเพิ่มเติมได้ที่ เมื่อ พ.ร.บ. บัตรทองกำลังจะเปลี่ยนไป ใครได้ ใครเสีย และทำไมจึงต้องคัดค้าน