ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงถึงขั้นวิกฤตในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่กลายเป็นสมรภูมิใหญ่ของสงครามโรคระบาด ด้วยยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก
ภาพรวมของสถานการณ์ในสหรัฐฯ เข้าขั้นทรุดหนัก กระทั่งผู้นำใหม่ของทำเนียบขาว คือ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เอาชนะการเลือกตั้งและเข้ารับตำแหน่งแทนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงเดือนมกราคม พร้อมประกาศภารกิจสำคัญอันดับแรก คือการพาประเทศฝ่าฟันวิกฤตแห่งประวัติศาสตร์
นับจากวันที่ 8 มกราคม ที่ยอดผู้ติดโควิด-19 ในสหรัฐฯ เพิ่มสูงทำลายสถิติกว่า 300,000 รายในวันเดียว จนถึงปัจจุบัน (6 พฤษภาคม) กราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่องจนอยู่ที่ไม่เกินวันละ 50,000 ราย ซึ่งแม้จะยังเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง แต่ถือเป็นความสำเร็จที่เห็นได้ชัดจากผลงานของไบเดน
แต่ที่มาของความสำเร็จเกิดขึ้นจากอะไร? และไบเดนมีแนวทางรับมือสงครามโควิด-19 เช่นไรบ้าง?
แผนปฏิบัติการ 7 ข้อ เอาชนะโควิด-19
คำตอบของคำถามข้างต้น คือแผนปฏิบัติการ 7 ข้อ เพื่อรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทั้งไบเดน และ คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีหญิง ประกาศไว้ตั้งแต่ก่อนรับตำแหน่ง โดยเห็นตรงกันว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการต่อสู้กับวิกฤตครั้งนี้ เพื่อนำพาประเทศกลับสู่เส้นทางแห่งการฟื้นฟู โดยรายละเอียดของแผนปฏิบัติการทั้ง 7 ข้อ ได้แก่
1. แก้ไขความล้มเหลวในการตรวจและติดตามผู้สัมผัสเชื้อ (ในยุคทรัมป์) เพื่อให้แน่ใจว่า ชาวอเมริกันทุกคนจะเข้าถึงการตรวจเชื้อโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และเชื่อถือได้ โดยมีแนวทางคือ
- เพิ่มจำนวนจุดตรวจเชื้อแบบ Drive-Through หรือขับรถผ่านเป็นสองเท่า
- ลงทุนในเทคโนโลยีการตรวจเชื้อ ทั้งชุดตรวจเองที่บ้านและชุดตรวจแบบรู้ผลทันที เพื่อขยายขีดความสามารถในการตรวจเชื้อ
- ตั้งคณะกรรมการตรวจเชื้อ เพื่อดูแลการผลิตและแจกจ่ายชุดตรวจเชื้อหลายสิบล้านชุด โดยทำหน้าที่คล้ายกับคณะกรรมการผลิตช่วงสงครามในยุคอดีตประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ที่ดูแลการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
- ตั้งหน่วยงาน Public Health Jobs Corps เพื่อระดมจ้างงานชาวอเมริกันจากชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศอย่างน้อย 1 แสนคน ทำหน้าที่สนับสนุนการรับมือโควิด-19 ของภาครัฐ โดยสร้างความไว้วางใจในชุมชน และประสานงานใกล้ชิดระหว่างทางการกับผู้นำชุมชน เพื่อช่วยเหลือในการติดตามผู้สัมผัสเชื้อ และคุ้มครองประชากรกลุ่มเสี่ยง
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด หรือ CDC ของสหรัฐฯ ระบุว่า ปัจจุบันสหรัฐฯ มีจำนวนการตรวจเชื้อไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 413 ล้านครั้ง ซึ่งข้อมูลในช่วง 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 16-22 เมษายน พบว่ามีการตรวจเชื้อเฉลี่ยกว่า 1.2 ล้านครั้ง
2. แก้ปัญหาขาดแคลนชุดป้องกันการติดเชื้อ PPE หน้ากากอนามัย เฟซชิลด์
ไบเดนประกาศจะทำหน้าที่รับผิดชอบชีวิตชาวอเมริกันทั่วประเทศ มากกว่าปล่อยให้ประชาชนในรัฐต่างๆ ดูแลตัวเอง โดยมุ่งมั่นในการผลิตอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ (PPE) แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน เพื่อช่วยรับมือสถานการณ์ระบาดให้มากขึ้น ซึ่งที่ผานมามีการดำเนินการดังนี้
- ใช้กฎหมายการผลิตเพื่อป้องกันประเทศ (Defense Production Act) เร่งผลิตชุดป้องกัน PPE หน้ากากอนามัย เฟซชิลด์ ถุงมือผ่าตัด และอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้ออื่นๆ รวมไปถึงชุดตรวจเชื้อ ตลอดจนใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกให้บริษัทผลิตวัคซีนอย่าง Pfizer เข้าถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นในการขยายการผลิตวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย
- เพิ่มขีดความสามารถในการผลิต และเป็นแหล่งผลิตอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ต้องพึ่งพาประเทศอื่นหากเกิดวิกฤตเช่นนี้ในอนาคต
3. ให้ข้อแนะนำที่ชัดเจน ถูกต้อง และยึดถือข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์
ไบเดนมองว่ารัฐบาลนั้นควรให้ข้อแนะนำในการรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ชัดเจนและถูกต้อง โดยอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์ และควรให้แนวทางแก่ชุมชนต่างๆ ว่าจะรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไร ตลอดจนช่วยสนับสนุนทรัพยากรให้แก่โรงเรียนและธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงครอบครัวชาวอเมริกัน โดยมีแนวทางดังนี้
- ไบเดน สั่งการให้ CDC ให้ข้อแนะนำตามหลักฐานเชิงประจักษ์ ในการดำเนินมาตรการป้องกันการระบาด เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงและอัตราการแพร่เชื้อในชุมชน รวมถึงการแนะนำว่าเมื่อไรควรเปิดหรือปิดสถานประกอบธุรกิจ บาร์ ร้านอาหาร พื้นที่สาธารณะและโรงเรียน และแนวทางดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าโรงเรียนและสถานที่ต่างๆ นั้นจะมีความปลอดภัย ตลอดจนให้ข้อแนะนำในการจำกัดขนาดการรวมกลุ่มที่เหมาะสม และเมื่อไรควรจะประกาศให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน
- ตั้งกองทุนหมุนเวียนสำหรับทางการท้องถิ่นในแต่ละรัฐ เพื่อช่วยป้องกันการขาดแคลนงบประมาณ ซึ่งอาจทำให้รัฐต้องลดจำนวนครูหรือเจ้าหน้าที่ด่านหน้าในการรับมือโควิด-19
- เรียกร้องสภาคองเกรสให้ผ่านแพ็กเกจช่วยเหลือฉุกเฉิน เพื่อให้โรงเรียนต่างๆ มีทรัพยากรที่จำเป็นในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์แพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เสนอแพ็กเกจเริ่มต้นใหม่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก โดยครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจอย่างปลอดภัย ซึ่งรวมถึงการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ อาทิ Plexiglass หรือแผ่นกระจกทนความร้อนทำด้วยโพลิเมอร์ ที่ใช้ในการผลิตเฟซชิลด์
4. แผนการกระจายการรักษาและการฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ เท่าเทียม และเพียงพอ (มากกว่าในยุคทรัมป์)
การกระจายการรักษาและฉีดวัคซีน เป็นหนทางสำคัญในแผนเอาชนะวิกฤตโควิด-19 ของไบเดน โดยมีแผนดำเนินการดังนี้
- ทุ่มงบประมาณ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแผนการผลิตและแจกจ่ายวัคซีน เพื่อรับรองว่าชาวอเมริกันทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
- ไม่ยอมให้การเมืองเข้ามามีบทบาทในการกำหนดเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนทุกชนิด โดยควรยึดหลัก 3 ประการ คือ 1. ให้นักวิทยาศาสตร์รับผิดชอบการตัดสินใจเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพวัคซีนทั้งหมด 2. เผยแพร่ข้อมูลการทดลองทางคลินิกของวัคซีนที่ FDA อนุมัติต่อสาธารณะ และ 3. อนุญาตให้เจ้าหน้าที่เขียนรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อการตรวจสอบสาธารณะ และอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ขึ้นให้การต่อสภาคองเ
- ให้ความมั่นใจว่าชาวอเมริกันทุกคน ไม่เฉพาะคนร่ำรวยและมีเส้นสายดี ที่จะได้รับการรักษาและฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ขณะที่มีการควบคุมราคายาและการรักษาใหม่ๆ ไม่ให้สูงเกินไป
ซึ่งจากข้อมูลของ CDC พบว่า จนถึงวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา มีการฉีดวัคซีนให้ชาวอเมริกันไปแล้วกว่า 237.4 ล้านโดส คิดเป็นประชากรประมาณ 143.7 ล้านคน หรือกว่า 43.3% ของประชากรสหรัฐฯ
5. คุ้มครองผู้สูงอายุและกลุ่มความเสี่ยงสูง
ผู้นำสหรัฐฯ ให้ความสำคัญในการคุ้มครองผู้สูงอายุชาวอเมริกัน และบุคคลที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาเขามองว่าความล้มเหลวของทรัมป์ในการรับมือโควิด-19 ทำให้ผู้สูงอายุและกลุ่มความเสี่ยงสูงยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งแนวทางดำเนินการของไบเดน ได้แก่
- ตั้งคณะทำงานรับมือโควิด-19 ด้านความแตกต่างทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ ตามที่เสนอโดยวุฒิสมาชิกแฮร์ริส เพื่อให้คำแนะนำและดูแลเรื่องความแตกต่างทางเชื้อชาติในการรับมือสถานการณ์ระบาดและผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ซึ่งในช่วงปลายของวิกฤต คณะทำงานนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นหน่วยงานถาวรที่ดูแลเรื่องความแตกต่างทางเชื้อชาติระหว่างการรับมือโรคติดเชื้อ
- สร้างกระดานข้อมูลการระบาดทั่วประเทศ (Nationwide Pandemic Dashboard) ที่ชาวอเมริกันทั่วประเทศสามารถตรวจสอบการระบาดในพื้นที่อาศัยของตนทางออนไลน์ได้แบบเรียลไทม์ โดยข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มความเสี่ยงสูง เพื่อให้รับรู้ว่าควรระมัดระวังการติดเชื้อในระดับใด
6. รื้อและขยายนโยบายการป้องกันโควิด-19 ที่ทรัมป์ล้มเลิกไป
ไบเดนมีความเห็นแย้งกับอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ในหลายด้าน รวมถึงการยุบหน่วยงานด้านสาธารณสุขและความมั่นคงต่างๆ ซึ่งไบเดนมองว่ามีความจำเป็น และได้ใช้อำนาจหลังเข้ารับตำแหน่ง ตั้งหน่วยงานที่ถูกยุบเหล่านี้ขึ้นใหม่ ได้แก่
- ตั้งคณะกรรมการสภาความมั่นคงแห่งชาติว่าด้วยความมั่นคงทางสาธารณสุขทั่วโลกและการป้องกันทางชีวภาพ ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่เคยถูกยุบไปในยุครัฐบาลทรัมป์เมื่อปี 2018
- ฟื้นความสัมพันธ์และความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ซึ่งแม้จะยังไม่สมบูรณ์ แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการประสานความร่วมมือด้านการรับมือโควิด-19 กับทั่วโลก
- เปิดตัวโครงการติดตามเชื้อโรคขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่เรียกว่า PREDICT ซึ่งรัฐบาลทรัมป์ยุบไปขึ้นมาใหม่อีกครั้ง พร้อมขยายโครงการให้มีศักยภาพมากขึ้น
- เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่สอบสวนโรคของ CDC เพื่อเป็นหูเป็นตาในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาด และตั้งสำนักงานในปักกิ่งที่ทรัมป์ยุบไปขึ้นมาใหม่
7. บังคับสวมหน้ากากอนามัยทั่วประเทศ
อีกหนึ่งอย่างที่ไบเดนให้ความสำคัญและมองว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างได้ผล คือการสวมใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแนะนำเขาในช่วงรับตำแหน่งว่า หากชาวอเมริกันทั่วประเทศสวมหน้ากากอนามัยได้ 95% ตั้งแต่เดือนธันวาคม จะช่วยป้องกันชีวิตประชาชนได้เกือบ 70,000 คน ซึ่งไบเดนเห็นด้วย และดำเนินการดังนี้
- ให้ชาวอเมริกันทุกคนสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่นอกบ้านและมีผู้คนรอบตัว
- ผู้ว่าทุกรัฐต้องทำให้การสวมหน้ากากอนามัยเป็นข้อบังคับที่จำเป็น
- บังคับสวมหน้ากากอนามัยแก่หน่วยงานท้องถิ่นตามคำสั่งของรัฐ
อย่างไรก็ตาม สงครามโควิด-19 ในสหรัฐฯ นั้นยังไม่สิ้นสุด และต้องดูต่อไปว่าไบเดน จะมุ่งมั่นดำเนินการจนสำเร็จได้เพียงใด เพื่อทำให้ชาวอเมริกันได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ โดยภารกิจสำคัญล่าสุดที่เขาประกาศไว้ คือการฉีดวัคซีนให้ประชากรผู้ใหญ่ให้ได้ตามเป้าที่ 70% ภายในวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งตรงกับวันชาติสหรัฐฯ
ภาพ: Drew Angerer / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: