×

ผู้เชี่ยวชาญเตือน หากสหรัฐฯ สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ถึง 80% อาจเสี่ยงเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในฤดูหนาวนี้

05.05.2021
  • LOADING...
ผู้เชี่ยวชาญเตือน หากสหรัฐฯ สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ถึง 80% อาจเสี่ยงเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในฤดูหนาวนี้

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเตือนว่า หากสหรัฐฯ ไม่สามารถกระจายวัคซีนจนสร้างภูมิคุ้มกันในหมู่ประชาชนได้ถึง 80% อาจมีความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะเผชิญการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในช่วงฤดูหนาวนี้

 

ดร.พอล ออฟฟิต ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับ เจค แทปเปอร์ ของสถานีโทรทัศน์ CNN ชี้ว่า ประชากร 80% ของประเทศจำเป็นต้องมีภูมิต้านทานไวรัสเพื่อป้องกันการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 

 

ดร.ออฟฟิต ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาวัคซีนแห่งโรงพยาบาลเด็กฟิลาเดลเฟีย และสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวัคซีนขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันสามารถสร้างได้ผ่านการฉีดวัคซีนร่วมกับการติดเชื้อตามธรรมชาติ

 

คำเตือนของ ดร.ออฟฟิต สอดคล้องกับ ดร.ลีนา เวน ที่ปรึกษาทางการแพทย์ของ CNN ที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า เธอกังวลว่าสหรัฐฯ จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ทันภายในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้

 

“จากนั้นพอถึงฤดูหนาวจะเกิดการระบาดใหม่ครั้งใหญ่ ซึ่งในเวลานั้นอาจมีไวรัสหลายสายพันธุ์ที่มาจากประเทศอื่นๆ และเราอาจต้องเริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง”

 

ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญประมาณการว่า การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้สำเร็จได้นั้น ประชากรสหรัฐฯ จำนวนระหว่าง 70-85% จำเป็นต้องมีภูมิต้านทานไวรัสจากการฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาก่อนและรักษาหาย เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส อย่างไรก็ตามปัญหาท้าทายสำคัญในเวลานี้ก็คือ ประชากรจำนวนมากยังไม่เต็มใจที่จะรับวัคซีน

 

ลอเรน แอนเซล เมเยอร์ส ผู้อำนวยการสมาคมสร้างแบบจำลองการระบาดของโควิด-19 แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัสในเมืองออสติน มองว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ถึงเป้าหมาย หนึ่งในนั้นคือไวรัสระบาดเร็วเกินไป นอกจากนี้ยังมีไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ที่ติดต่อกันง่ายขึ้นและทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง ขณะเดียวกันเด็กก็ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และยังมีประชากรอีกราว 25% ที่ลังเลหรือปฏิเสธการฉีดวัคซีน 

 

ภาพ: Spencer Platt / Getty Images

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising