วันนี้ (28 เมษายน) ดร. โซเมีย สวามินาธาน หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุ วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในอินเดีย อาจส่งผลกระทบต่อประชากรในอีกหลายประเทศทั่วโลก เราทั้งหมดจะไม่ปลอดภัย หากทุกคนไม่ปลอดภัย
“ไวรัสไม่เคารพเขตพรมแดนประเทศ ไม่เลือกสัญชาติ อายุ เพศหรือศาสนา สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอินเดียขณะนี้อาจกำลังจะเกิดขึ้นในอีกหลายๆ ประเทศ”
ถ้ามีประเทศใดประเทศหนึ่งมีอัตราการติดเชื้อสูงมาก อาจมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆ ได้ แม้จะมีมาตรการรับมืออย่างจำกัดการเดินทางท่องเที่ยว ตรวจหาเชื้อและกักตัว แต่เชื้อก็ยังอาจหาช่องโหว่และก่อให้เกิดแพร่ระบาดได้ในที่สุด ยิ่งถ้าบุคคลรายนั้นเดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อที่มีการระบาดอย่างหนัก ก็มีโอกาสสูงที่จะติดเชื้อและนำพาไวรัสนั้นมาด้วย
แต่นอกเหนือจากการติดเชื้อ อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ การกลายพันธ์ุของเชื้อไวรัสในอินเดีย (B.1.617) ที่ผลการศึกษาเบื้องต้นระบุว่า สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น แอนติบอดีตรวจจับและต้านเชื้อไวรัสได้ยากยิ่งขึ้น หากประเทศใดที่พบการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากก็มีแนวโน้มที่เชื้อกลายพันธ์ุชนิดใหม่จะเกิดขึ้น ทุกๆ การติดเชื้อคือการเพิ่มโอกาสในการพัฒนาและกลายพันธ์ุของเชื้อไวรัส ซึ่งอาจส่งผลทำให้ประสิทธิภาพต้านเชื้อของวัคซีนลดลง
อีกทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในอินเดีย อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตวัคซีนและทำให้การเข้าถึงวัคซีนของหลายประเทศล่าช้าออกไปอีก เนื่องจากอินเดียถือเป็นหนึ่งในฐานการผลิตวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก เช่น สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (SII) ที่ผลิตวัคซีน Covishield (AstraZeneca) และ Novavax, Bharat Biotech ผลิตวัคซีน Covaxin และ CoraVax, Biological E รับผลิตวัคซีน Johnson & Johnson, Zydus Cadila ผลิตวัคซีน ZyCoV-D ขณะที่ Hetero Biopharma และ Dr Reddy’s Lab ผลิตวัคซีน Sputnik V ของรัสเซีย
ล่าสุด อินเดียมีผู้ติดเชื้อสะสม 17.6 ล้านราย (17,636,307 ราย) มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก มีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 2 แสนราย (197,894 ราย) ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ไปแล้ว 143 ล้านโดส มีพลเมืองชาวอินเดียเพียง 8.7% เข้ารับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส ขณะที่มีชาวอินเดียเพียง 1.6% ของประชากรทั้งหมด 1.3 พันล้านรายเข้ารับวัคซีนครบโดสแล้ว
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ชมคลิป: อินเดียวิกฤตหนัก! ติดโควิด-19 ทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง ขาดแคลนเตียง-ออกซิเจน
- สำรวจราคาวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชาคมโลก โดสละเท่าไร
- ผลข้างเคียงวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชาคมโลก อาการเป็นอย่างไรบ้าง
- เปิดสถิติน่าสนใจเกี่ยวกับภาวะลิ่มเลือดกับการฉีดวัคซีนโควิด-19
- ความคืบหน้าล่าสุด การฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ในอาเซียน
- เช็กประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิด-19 ล่าสุด
ภาพ: Prakash Singha / AFP
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: