“ประเทศเจ้าภาพต้องตอบคำถามว่าการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาใดๆ ก็ตาม จะสร้างประโยชน์อะไรต่อหลังจากที่การแข่งขันจบลง” เป็นหนึ่งในประโยคที่ THE STANDARD ได้ยินบ่อยครั้งในงาน SportAccord การประชุมสมัชชาสหพันธ์กีฬานานาชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทยเมื่อปี 2018 ถึงความสำคัญในการพิจารณาประโยชน์ของการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับสากลของประเทศเจ้าภาพ
ซึ่งญี่ปุ่นเคยใช้โอลิมปิกฤดูร้อน 1964 นำพาโตเกียวขึ้นไปสู่มหานครล้ำสมัยในปีนั้นมาแล้ว จึงมีบทเรียนต่างๆ มากมายจากการเป็นเจ้าภาพครั้งก่อนมานำเสนอในการเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 2 ของกรุงโตเกียว
โดย ยูริโกะ โคอิเคะ ผู้ว่าการกรุงโตเกียว ยืนยันว่าการแข่งขันจะให้ความสำคัญกับการแข่งขันพาราลิมปิกมากกว่าโอลิมปิก เนื่องจากการแข่งขันปีนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังรับมือกับสภาวะสังคมสูงวัย ที่การเดินทางภายในเมืองจำเป็นต้องมีความพร้อมสำหรับผู้ที่ใช้รถเข็นหรือไม้เท้าในการเดินทาง
รวมถึงญี่ปุ่นอยู่ในสถานการณ์ของสังคมสูงวัย ที่จะส่งผลกระทบต่อจำนวนแรงงานที่น้อยลงในอนาคต ทำให้การแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกในปีนี้ ยังมีการใช้ระบบการขนส่งอัตโนมัต และการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานร่วมกับผู้คน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปมีความคุ้นเคยกับการที่หุ่นยนต์เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต
นวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2021 จึงเป็นส่วนสำคัญในการนำพากรุงโตเกียวเข้าสู่มหานครแห่งอนาคตอีกครั้งหนึ่ง เสมือนเป็นการป้องกันความสำเร็จที่เคยเกิดขึ้นกว่า 50 ปีก่อนมาแล้วที่มหานครแห่งนี้