ตลอดเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังคงมีการพบตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในขณะนี้นอกเหนือจากประเด็นเรื่องวัคซีนป้องกัน เรื่องของความสามารถในการรองรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลเองก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ ที่เราเชื่อว่าทุกคนคอยติดตามความคืบหน้าและวิธีการพิจารณาแก้ปัญหาอยู่ตลอด
จากความสามารถในการแพร่ระบาดเชื้อที่รวดเร็ว ผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ควรได้รับการจัดแยกเพื่อดูแลรักษา และเพื่อเป็นการควบคุมการระบาดของโรค ทางรัฐได้จัดสถานที่ ได้แก่ โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) เพื่อรองรับ ซึ่งด้วยตัวเลขที่สูงขึ้นและระยะเวลาที่ต้องกักตัวผู้ป่วยเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วันนั้น ทำให้สถานที่อาจจะไม่เพียงพอ ทำให้หากยกกรณีของต่างประเทศขึ้นมาเป็นแนวทาง การพิจารณาแยกตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศว่าด้วย ‘แนวทางการพิจารณาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เหมาะสมกับการแยกตัวที่บ้าน (Home Isolation)’ โดยมีสาระสำคัญคือ โรงพยาบาลอาจพิจารณาให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใช้ที่พักอาศัยเป็นสถานที่แยกตัวได้ แต่ต้องผ่านเกณฑ์ต่างๆ ที่ทั้งผู้ป่วย และโรงพยาบาลต้องพิจารณาดังต่อไปนี้
เกณฑ์การพิจารณาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อการแยกตัว
- เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ (Asymptomatic Cases)
- มีอายุไม่เกิน 40 ปี
- มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
- มีผู้อาศัยร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
- ไม่มีภาวะอ้วน (ภาวะอ้วน หมายถึง ดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 25 กก./ม2 หรือน้ำหนักตัวมากกว่า 90 กก.)
- ไม่มีโรคร่วม ดังต่อไปนี้
-
- โรคปอดอุดตันเรื้อรัง (COPD)
- โรคไตเรื้อรัง (CKD)
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคหลอดเลือดสมอง
- เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
- โรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
และ 7. ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง
การดำเนินการของโรงพยาบาล
- ประเมินความเหมาะสมสำหรับผู้ติดเชื้อแยกตัวในสถานที่พักของตนเอง
- ลงทะเบียนผู้ติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์การแยกตัวที่บ้าน (Home Isolation) ในระบบของโรงพยาบาล
- ควรถ่ายภาพรังสีทรวงอก (Chest X-ray) หากพบความผิดปกติ แนะนำเข้ารักษาที่โรงพยาบาล
- แนะนำการปฏิบัติตัวและจัดเตรียมปรอทวัดไข้ และ Pulse Oximeter ให้กับผู้ป่วยติดเชื้อ
- ติดตามประเมินอาการผู้ติดเชื้อระหว่างการแยกตัวที่บ้านผ่านระบบการสื่อสารต่างๆ อาทิ โทรศัพท์ติดตามอาการ สอบถามอาการไข้ ค่า Oxygen Saturation วันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) เป็นระยะเวลา 14 วัน
- จัดช่องทางติดต่อในกรณีผู้ติดเชื้อมีอาการเพิ่มขึ้นหรือภาวะฉุกเฉิน อาทิ มีไข้ลอย หอบเหนื่อย หายใจลำบาก
- จัดระบบรับ-ส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในกรณีผู้ติดเชื้อจำเป็นต้องย้ายเข้ารับการรักษาต่อในโรงพยาบาล
- ให้ความมั่นใจในมาตรฐานการดูแลรักษาของทีมแพทย์และพยาบาลสำหรับผู้ติดเชื้อ
ตารางแสดงรายการตรวจสอบ สำหรับพิจารณาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อการแยกตัวที่บ้าน (Home Isolation)
เพื่อให้เข้าใจแนวทาง จากตารางด้านขวามือได้แบ่งสิ่งที่ต้องพิจารณาออกเป็น 3 ส่วน ผู้ป่วยและโรงพยาบาลต้องตอบใช่ทุกข้อถึงจะได้รับการพิจารณาให้แยกตัวที่บ้านได้ หากมีข้อใดข้อหนึ่งที่ไม่ครบเกณฑ์ ให้ทางโรงพยาบาลพิจารณารักษาในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า