×

เปิดบทสัมภาษณ์ ‘ชาญศิลป์’ ย้ำ! เดินหน้า ‘แผนฟื้นฟู’ คือทางออกของทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสียของ ‘การบินไทย’

18.04.2021
  • LOADING...
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

หลังจากที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ตัดสินใจเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และได้รับการอนุมัติจากศาลให้มีผู้ทำแผนฟื้นฟูตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2563 จนกระทั่งสามารถยื่นแผนดังกล่าวให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา 

 

แต่ก่อนที่แผนฟื้นฟูดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ จำเป็นจะต้องได้รับการอนุมัติจากเจ้าหนี้และกรมบังคับคดี ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เสียก่อน ทั้งนี้ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของ THAI เชื่อมั่นว่าแผนดังกล่าวจะเป็นทางออกที่ดีให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย 

 

“ปัจจุบันการบินไทยมีหนี้กว่า 4 แสนล้านบาท บนเจ้าหนี้กว่า 13,000 ราย หากสามารถเดินหน้าตามแผนฟื้นฟู อย่างน้อยเจ้าหนี้จะได้รับเงินกลับมาราว 40-60% ของมูลค่าหนี้ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการปล่อยให้การบินไทยล้มละลาย และได้รับการคืนหนี้เพียง 12-13%” 

 

ส่วนเป้าหมายของการนำการบินไทยให้กลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง คาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 5 ปี แต่ในระหว่างทางการบินไทยยังคงมีความเสี่ยงสำคัญหลายประการที่ต้องเผชิญ อย่างเช่น ความไม่แน่นอนของ ‘โควิด-19’ ว่าจะสงบลงเมื่อใด รวมถึงต้นทุน ‘ราคาน้ำมัน’ ที่หากปรับตัวขึ้นจะกระทบต่อผลการดำเนินงาน ขณะที่ปัญหาทาง ‘การเมือง’ ของประเทศ หากมีประเด็นก็อาจจะกระทบต่อการเดินทางมาท่องเที่ยวได้เช่นกัน 

 

ทั้งนี้ การบินไทยประเมินว่าช่วงปลายปีนี้จะเริ่มกลับมาทำการบินได้ราว 10-30% จากระดับปกติกว่า 6 พันเที่ยวบินต่อเดือน ส่วนปี 2565 จะกลับมาทำการบินได้ 30-50% และในปี 2566 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 60-70% สำหรับปัจจุบันในช่วงที่ยังคงปิดประเทศอยู่นี้ จำนวนเที่ยวบินอยู่ที่ราว 400 เที่ยวต่อเดือน

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีแผนพลิกฟื้นบริษัทมาอยู่ในมือแล้ว แต่การบินไทยในเวลานี้อาจจะไม่สามารถนั่งรอเพียงแค่แผนดังกล่าวอย่างใจเย็นได้ 

 

“ช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการไปแล้วหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นที่เคยมีคำถามมาก่อนหน้านี้ อย่างเรื่องการซื้อเครื่องบิน การซ่อมเครื่องบิน กำลังคน การทำงานล่วงเวลา หรืออย่างเรื่องของสิทธิประโยชน์ ซึ่งเหล่านี้เราได้ดำเนินการไปแล้ว 70-80%” 

 

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่การบินไทยเร่งดำเนินการในช่วงแรกของการฟื้นฟูคือ ‘การลดค่าใช้จ่าย’ อย่างเช่น การลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบิน โดยต่อรองในส่วนของการซื้อเครื่องบิน ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้ราว 1 หมื่นล้านบาทต่อปี 

 

รวมถึงการลดพนักงานลงมาเหลือประมาณ 19,000 คน และคาดว่าจะลดลงไปเหลือ 15,000-16,000 คน ในช่วงกลางปี ซึ่งการทำอย่างนี้ได้ต้องขอบคุณคนการบินไทยซึ่งเสียสละ และเข้าใจถึงสถานการณ์ของบริษัทที่กว่าจะกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง อาจต้องใช้เวลาอีก 3-5 ปี 

 

ขณะเดียวกันยังรวมถึงพนักงานของบริษัทในปัจจุบันที่ยอมรับเงินเดือนแบบผ่อนจ่ายตามกฎหมาย นอกจากนี้บริษัทยังได้ปรับเรื่องของสวัสดิการต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่ระดับบอร์ดบริหาร เช่น การไม่รับเบี้ยประชุม 

 

“ค่าใช้จ่ายในส่วนของบุคลากรเหล่านี้ สามารถประหยัดจากเดิมที่จ่ายอยู่เกือบ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ปัจจุบันลดลงมาเหลือกว่า 1 หมื่นล้านบาท” 

 

นอกจากการลดค่าใช้จ่ายแล้ว ช่วงที่ผ่านมาการบินไทยพยายามหารายได้จากทุกๆ ช่องทาง อย่างที่ได้เห็นกันทั้งในส่วนของเที่ยวบินพิเศษ ภัตตาคาร ปาท่องโก๋ หรือครัวซองต์ รวมถึงการพยายามตัดขายสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้บริษัท

 

“รายได้บางส่วนแม้จะคิดเป็นส่วนที่น้อยมากเทียบกับรายได้หลัก แต่มันได้พลังใจ ดีกว่าการอยู่เฉยๆ ดีกว่าการที่คิดมาก เพราะเดิมทีจิตใจของเราตกต่ำมาก ทั้งจากผลขาดทุน และจากที่ไม่มีผู้โดยสาร”

 

พร้อมกันนี้บริษัทได้ดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้สอดรับกับมาตรฐานสากล ผ่านการลดลำดับชั้นของการบริหาร จากเดิมที่มีอยู่ 8 ชั้น เหลืออยู่ 5 ชั้น และลดจำนวนผู้บริหารระดับต้นถึงระดับสูงจาก 700 กว่าคน เหลือ 500 กว่าคน 

 

“ในวันนี้การบินไทยไม่ถือเป็นรัฐวิสาหกิจอีกแล้ว แม้ว่ากระทรวงการคลังจะยังถือหุ้นใหญ่ เราได้จัดทำระเบียบในการทำงานใหม่ทั้งหมดเพื่อให้มีความเป็นเอกชนมากที่สุด” 

 

อีกหนึ่งการปรับตัวที่สำคัญของการบินไทยในปัจจุบันคือ ‘กลุ่มลูกค้า’ ปัจจุบันต้องยอมรับว่าการบินไทยไม่ได้เป็นสายการบินขนาดใหญ่อีกแล้ว จากเดิมที่เคยมีเครื่องบินกว่า 100 ลำ ในช่วงแรกของการฟื้นฟูจะลดลงมาเหลือ 40-50 ลำ ซึ่งช่วยให้บริษัทมีความคล่องตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยให้บริษัทหันมาโฟกัสกลุ่มลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น 

 

อุตสาหกรรมการบินหลังช่วงโควิด-19 จะถูกขับเคลื่อนด้วยลูกค้ากลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ขณะที่กลุ่มลูกค้าธุรกิจมีแนวโน้มที่จะลดลงจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อย่างเช่น การประชุมหรือการร่วมสัมมนาที่สามารถทำได้ผ่านทางออนไลน์ 

 

นอกจากการปรับตัวขององค์กรที่เริ่มเห็นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีก่อน ชาญศิลป์ย้ำว่า ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้การบินไทยพลิกฟื้นกลับมาได้คือ การสนับสนุนจากเจ้าหนี้เพื่อให้แผนฟื้นฟูผ่าน และการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น เพื่อให้มีสภาพคล่องเข้ามาเพิ่มเติมในช่วงเวลาที่เหมาะสม 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X