วันนี้ (8 เมษายน) พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เปิดเผยข้อมูลกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ติดโควิด-19 จำนวน 24 นาย แบ่งเป็น
- กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 จำนวน 1 นาย
- กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 จำนวน 15 นาย
- กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 จำนวน 1 นาย
- กองบังคับการตำรวจนครบาล 7 จำนวน 2 นาย
- กองบังคับการตำรวจนครบาล 9 จำนวน 2 นาย
- กองบังคับการตำรวจจราจร จำนวน 2 นาย
- ศูนย์ฝึกอบรม จำนวน 1 นาย
ส่วนการกักตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ที่สัมผัสใกล้ชิด มีความเสี่ยงสูง อีกจำนวน 15 นาย เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อเป็นฝ่ายปฏิบัติการที่ต้องออกตรวจสถานที่เสี่ยง โดยเฉพาะสถานบริการ รวมถึงเป็นเพื่อนร่วมงานที่ได้สัมผัสใกล้ชิดในห้วงดังกล่าว ซึ่งทั้งหมดได้ทำการสอบสวนโรค และเข้ารับการรักษาตัวเรียบร้อยแล้ว
พล.ต.ท. ภัคพงศ์ กล่าวต่อไปว่า กรณีคลิปเสียงที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปดูแลนักการเมืองที่มาเที่ยวสถานบริการนั้น ได้ให้ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 (ผบก.น.5) และผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ทองหล่อ ไปตรวจสอบ เบื้องต้นไม่มีข้าราชการตำรวจในสังกัดไปทำหน้าที่ดูแลนักการเมืองแต่อย่างใด
“ถ้าใครมีพยานหลักฐานว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวข้อง ขอให้แจ้งมายัง บช.น. หรือ บก.น.5 เพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง จะได้แจ้งให้สังคมได้รับทราบต่อไป” พล.ต.ท. ภัคพงศ์กล่าว
พล.ต.ท. ภัคพงศ์กล่าวด้วยว่า ส่วนการดำเนินคดีกับสถานบริการ หรือสถานประกอบการ ได้แก่ คริสตัล คลับ และ เอ็มเมอรัล คลับ พิจารณาดำเนินคดีว่าอาจมีความผิดตามกฎหมายสถานบริการ ประกาศ ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ. สถานบริการ ในข้อหาตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ฉบับที่ 5) และประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 20) กรณีให้สถานที่ตามประกาศ ต้องปฏิบัติตามาตรการป้องกันควบคุมโรคเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค แนบท้ายประกาศนี้โดยเคร่งครัด ซึ่งทั้งสองที่ไม่ได้มีการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด พล.ต.ท. ภัคพงศ์กล่าว
ส่วนการจัดงานเลี้ยงในโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์พอยต์ สุขุมวิท 55 พล.ต.ท. ภัคพงศ์กล่าวว่า ได้ให้ฝ่ายสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน คลิปที่ปรากฏ เพื่อพิสูจน์ทราบตัวบุคคล และเตรียมเรียกผู้แทนโรงแรม และผู้จัดงานเลี้ยงมาพบพนักงานสอบสวน ซึ่งการจัดงานดังกล่าว ผู้เข้าร่วมอาจมีความผิดตามไปด้วย
“ทั้งสองกรณี ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน พิสูจน์ทราบผู้ที่มีอำนาจรับผิดชอบสถานที่หรือการจัดงาน เพื่อออกหมายเรียกมาสอบสวน และดำเนินคดีตามกฎหมาย จะได้รายงานความคืบหน้าให้ทราบต่อไป” พล.ต.ท. ภัคพงศ์กล่าว
พล.ต.ท. ภัคพงศ์กล่าวอีกว่า สำหรับการสอบสวนโรค เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หากผู้ติดเชื้อที่จงใจปกผิดข้อมูลการเดินทาง หรือแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและควบคุมโรค เป็นผลให้เชื้อโรคแพร่ออกไป อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ และหากมีการร้องทุกข์จากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ พนักงานสอบสวนก็จะพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป