วันนี้ (2 เมษายน) กลุ่ม OctDem นัดทำกิจกรรมที่ลานประติมากรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นำทีมโดยอดีตคนเดือนตุลา ได้แก่ จาตุรนต์ ฉายแสง, เกรียงกมล เลาหะไพโรจน์, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, สมศักดิ์ ปริศนานันนทกุล, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ นพ.ทศพร เสรีรักษ์
ก่อนเริ่มต้นทำกิจกรรม สุเทพ สุริยะมงคล ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดตัวกลุ่ม ‘OctDem คนเดือนตุลาเพื่อประชาธิปไตย’ ว่าเราคือกลุ่มคนที่เคยเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วง 6 ตุลาคม 2519 และถูกตราหน้าว่าเป็นพวกหัวรุนแรง เป็นพวกป่วนบ้าน กวนเมือง กลุ่มคนเดือนตุลา ถูกขัดขวาง ต่อต้าน ดักทำร้าย จนถึงขั้นถูกทำให้ตายในหลายครั้งหลายคราวในช่วงที่ได้เคลื่อนไหวเพื่อสังคม
จนถึงวันนี้ 45 ปีประวัติศาสตร์อำมหิต กำลังวนกลับมาอีกครั้ง รอที่จะสร้างบาดแผลใหม่ เมื่อเยาวชนผู้มีอุดมการณ์ได้รวมตัวกันกับสังคม ว่าสังคมงดงามที่พวกเขาอยากเห็นและมีชีวิตอยู่เป็นเช่นไร แต่กลับถูกจับกุม คุมขังด้วยอำนาจรัฐและข้ออ้างทางกฎหมาย มีการจัดชุดควบคุมฝูงชน แก๊สน้ำตาฉีดน้ำแรงดันสูง เข้าสลายการชุมนุมที่กระทำอย่างสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ ทั้งยังถูกแจ้งข้อหาร้ายแรง ถูกจับกุม คุมขังเรือนจำเสมือนผู้ต้องโทษที่ผ่านการตัดสินความลึกเสร็จเด็ดขาดแล้ว
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยไม่ให้ที่ยืนสำหรับคนคิดต่างเลย วันนี้คณะทำงานเห็นว่าควรเปิดโอกาสให้เยาวนชนกลุ่มดังกล่าวได้รับความเป็นธรรม จึงร่างหนังสือถึงผู้มีอำนาจ เพื่อทวงความยุติธรรม
ขณะที่ สิตา การย์เกรียงไกร อดีตคนเดือนตุลา กล่าวว่า ไม่ต้องการให้การถูกคุม หรือขังเข่นฆ่าสังหาร หวนกลับมาอีก ประวัติศาสตร์บาดแผลที่โหดร้าย ป่าเถือน เช่น เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เกิดขึ้นครั้งเดียวก็เกินพอแล้ว ไม่ควรปล่อยให้มันเกิดขึ้นมาอีก สังคมนี้ต้องสรุปบทเรียน ไม่กระทำความปิดซ้ำซาก ควรจะสรุปบทเรียนได้แล้วว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีใช้ความรุนแรงไม่สามารถหยุด สยบ ความเห็นต่าง พูดต่าง ทำต่างได้เลย ไม่สามารถหยุดความขัดแย้งใดๆ ได้แม้แต่ครั้งเดียวมีแต่การรับฟังร่วมกันแก้ไขด้วยนิติรัฐ นิติธรรมเท่านั้นสังคมจึงจะดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบและสันติ เป็นประวัติศาสตร์ที่ลืมไม่ได้ แต่ก็จำไม่ลง
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นตัวแทนกลุ่ม OctDem คนเดือนตุลาเพื่อประชาธิปไตย อ่านแถลงการณ์ถึงศาลยุติธรรม สรุปใจความได้ว่า ตามที่บรรดานักเรียน นิสิตนักศึกษา เยาวชนและประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ฝ่ายรัฐได้ใช้อำนาจปราบปราม จับกุม คุมขัง พวกเขาไว้ในเรือนจำ ปรากฏว่าศาลยุติธรรมไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว (ประกันตัว) ซึ่งการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
แต่เชื่อว่าศาลยุติธรรมย่อมต้องเข้าใจและทราบดีว่า หลักสำคัญในการปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาทุกคดีนั้น คือการที่จะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า เขาเหล่านั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่และจะปฏิบัติต่อเขาเสมือนหนึ่งว่าเป็นผู้ที่ถูกพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดแล้วไม่ได้ ทั้งนี้เหตุผลของศาลยุติธรรมที่ปฏิเสธการขอปล่อยตัวชั่วคราว ไม่สอดคล้องกับหลักการต่างๆ เพราะผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดยังไม่ได้ถูกศาลตัดสินถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ย่อมต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
ดังนั้น จึงขอเรียกร้องอย่างตรงไปตรงมาต่อศาลยุติธรรมว่า ต้องให้โอกาสกลุ่มที่ถูกจับกุม ในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่โดยเปิดเผย และมีโอกาสแสวงหาพยานหลักฐานต่างๆมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองอย่างเต็มที่ โดยอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดี อันเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ของพวกเขาที่มีอยู่ตามหลักกฎหมายยุติธรรม
ขณะที่จาตุรนต์ ฉายแสง หนึ่งในกลุ่ม OctDem คนเดือนตุลาเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า พวกตนเป็นผู้ถูกกระทำในอดีต ดังนั้นจึงอยากใช้ประสบการณ์นี้ให้เป็นประโยชน์ และสะท้อนถึงผู้มีอำนาจว่าการใช้กฎหมายปราบปรามมีแต่จะเกิดความเสียหาย จึงต้องการเสนอประสบการณ์ให้อยู่กันได้อย่างสันติ เพื่อร่วมสร้างสังคมไปด้วยกัน เพราะเห็นการคุกคามทำร้ายและใช้กฎหมายไม่เป็นธรรมขอให้หยุดทำร้ายและยึดหลักนิติธรรม จึงทำหนังสื่อถึงศาลฎีกาขอให้พิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องหา เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายระหว่างประเทศ
พร้อมย้ำว่าทางกลุ่มฯไม่ได้มาเข้าร่วมกระบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา แต่จะขอเสนอประสบการณ์เพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งของสังคม ส่วนสิ่งที่อยากนำเสนอนักศึกษานั้น เวลานี้คงยังไม่มีอะไรแนะนำ เพราะเห็นว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงต้องการให้เขาต่อสู้คดีได้โดยอิสระ
ทั้งนี้จุดยืนของกลุ่มต้องการให้ รัฐบาลออกไปหรือไม่ ตนเห็นว่ามีคนจำนวนมาก เห็นถึงความล้มเหลวดังนั้นเมื่อเราทำงาน เป็นกลุ่ม จึงยังไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้ร่วมกัน แต่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ถ้าไปถาม ก็คิดเหมือนกัน ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ยังไม่ได้พูดคุยกันในเรื่องนี้
สำหรับข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันของกลุ่ม นักศึกษานั้น จาตุรนต์ กล่าวว่า กลุ่มเราวัตถุประสงค์ชัดเจน ในเรื่องหลักนิติธรรมเฉพาะหน้าคือการประกันตัวผู้ต้องหา ที่มีคดี มาตรา 112 อยู่ และไม่ว่าจะถูกข้อหาใด ถ้ายังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ต้องได้สิทธิ์ประกันตัว เรายังไม่ได้ไปที่เนื้อหาหรือข้อเรียกร้องของนักศึกษาเพราะพูดในหลักใหญ่คือหลักนิติธรรม
ต่อมากลุ่มคนเดือนตุลา ได้เดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ข้ามฟากไปยังหน้าศาลฎีกา เพื่อยื่นหนังสือที่เป็นแถลงการณ์ของกลุ่ม ต่อประธานศาลฎีกา
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า