บรรดาอดีตผู้นำโลก ทั้งอดีตผู้นำประเทศ อดีตผู้นำองค์กรระหว่างประเทศและอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ราว 45 รายในมูลนิธิ Global Leadership Foundation (GLF) ส่งจดหมายเรียกร้องให้สหประชาชาติ (UN) เข้าแทรกแซงเมียนมา เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ถูกประหัตประหารโดยกองทัพและเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นเหตุให้มียอดผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 500 ราย ในช่วงตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา
เฟรเดอริก วิลเลิม เดอ แกลร์ก อดีตประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้ ในฐานะประธาน GLF ส่งหนังสือถึง อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้คณะมนตรีแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจที่จะเข้าแทรกแซงรัฐ ภายใต้หลักรับผิดชอบเพื่อปกป้อง (R2P) ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่ เมื่อปี 2005 ให้เข้าช่วยเหลือประชาชนชาวเมียนมาโดยเร็ว หากเข้าข่ายสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม กวาดล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
ทางด้าน เควิน รัดด์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียเผย “ประชาคมโลกมีความพยายามที่จะมีปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองแบบลับๆ กับกองทัพเมียนมา เพื่อหาทางออกและเพื่อประเมินมาตรการที่จะใช้กดดันกับกองทัพ เหตุนองเลือดครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผลักให้เรามาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เราไม่เหลือไพ่ใบอื่นบนมือให้เดินเกมอีกแล้ว”
เดอ แกลร์ก ระบุ “กองทัพเมียนมาไม่มีสิทธิ์ที่จะเข่นข้าประชาชนและเป็นปฏิปักษ์ต่อแรงปรารถนาและความใฝ่ฝันของชาวเมียนมา สหประชาชาติมีความรับผิดชอบอย่างชัดเจนที่จะต้องหยุดยั้งการทำเช่นนั้น”
การให้ความช่วยด้วยวิธีการแทรกแซงทางทหาร ผ่านหลักการ R2P มีค่าใช้จ่ายและต้นทุนสูงมากในการดำเนินการ ต้องคำนึงถึงบริบทภายในภายนอกประเทศผู้เป็นโต้โผในการผลักดันและประเทศที่รอการช่วยเหลือ มักมีประเด็นความถูกผิดด้านมนุษยธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงบางประเทศที่เคยมีการแทรกแซงทางทหารก็ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากการติดหล่มในมิติต่างๆ ส่งผลให้ภาพรวมของประเทศยังไม่ก้าวหน้าและพัฒนาเท่าใดนัก อาทิ โคโซโว
อีกทั้งจีนและรัสเซียในฐานะสมาชิกถาวรของ UNSC ที่มีสิทธิ์วีโต้มีแนวโน้มสูงมากที่จะคัดค้านการเข้าแทรกแซงเมียนมาด้วยวิธีการทางทหาร เนื่องจากทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพเมียนมา ดังนั้นการใช้กลไกองค์กรภายในภูมิภาคอย่างอาเซียน รวมถึงการหาตัวกลางในการเจรจา อาจเป็นทางเลือกที่พอจะเป็นไปได้ในช่วงเวลานี้
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- 4 ฉากทัศน์ชี้ชะตาอนาคตเมียนมา ไทยควรมีบทบาทอย่างไร โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
- นักวิชาการคาด เมียนมาอาจเข้าใกล้สถานะ ‘รัฐล้มเหลว’ ขณะที่กองทัพพยายามปกครองประเทศด้วยความหวาดกลัว
- ชะตากรรมของออง ซาน ซูจี เป็นอย่างไร หลังถูกรัฐประหารมานานกว่า 2 เดือน
ภาพ: STR / AFP
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- https://www.theguardian.com/world/2021/mar/31/myanmar-coup-kevin-rudd-joins-calls-for-un-security-council-intervention
- https://www.smh.com.au/world/asia/tipping-point-rudd-among-45-ex-leaders-calling-for-myanmar-intervention-20210330-p57fbt.html
- https://www.hindustantimes.com/world-news/myanmar-insurgents-sense-growing-conflict-call-for-international-intervention-101617121333838.html