กลุ่มขบวนการอารยะขัดขืนเมียนมา (CDM) ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี 2022 โดยกลุ่มนักวิชาการ 6 คนจากมหาวิทยาลัยออสโล ในเมืองหลวงของประเทศนอร์เวย์ เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
ทางด้าน ศ.คริสเตียน สโครก หนึ่งในผู้สนับสนุนการเสนอชื่อดังกล่าวเผยว่า การเสนอชื่อนี้คือการแสดงความยอมรับบทบาทของ CDM ในฐานะที่ช่วยขับเคลื่อนพลังเชิงบวก เพื่อประชาธิปไตยและสันติภาพ
โดยสมาชิกของ CDM ยังคงยืดหยัดรวมพลังกันต้านรัฐประหารโดยกองทัพอย่างหนักแน่น ผ่านการประท้วงนัดหยุดงาน ชุมนุมอย่างสันติ และยึดหลักอารยะขัดขืน แม้จะเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่อาจจะถูกจับกุม ทรมาน หรือแม้แต่การถูกเข่นฆ่าก็ตาม หากประสบความสำเร็จ นี่จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการถอดรื้อมรดกตกทอดทั้งทางตรงและทางอ้อมของระบอบเผด็จการทหารที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมเมียนมา
รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เป็น 1 ใน 6 สาขาที่มีพิธีมอบรางวัลครั้งแรก เมื่อปี 1901 ปัจจุบันมี 107 คน และ 25 องค์กร ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนและผลักดันสันติภาพโลกจนได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ โดยรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปีล่าสุด (2020) เป็นของ ‘โครงการอาหารโลก’ (WFP) หน่วยงานด้านมนุษยธรรมภายใต้องค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ให้ความช่วยเหลือและจัดการกับปัญหาความหิวโหยทั่วโลก
โดยคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2021 ปิดรับการเสนอชื่อตั้งแต่ 31 มกราคมที่ผ่านมา มีผู้ได้รับการเสนอชื่อ 329 รายชื่อ เป็นบุคคล 234 รายชื่อ ขณะที่อีก 95 รายชื่อเป็นกลุ่มองค์กรต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะประกาศผลในวันที่ 8 ตุลาคมปีนี้ ขณะที่ CDM จะได้รับการพิจารณาเข้าชิงรางวัลในปีถัดไป ที่ผ่านมา ออง ซาน ซูจี อดีตที่ปรึกษาประเทศ และรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่ถูกกองทัพเมียนมาควบคุมตัวอยู่ในขณะนี้ ก็เคยได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี 1991 สำหรับความพยายามการต่อสู้ที่ไม่ใช้ความรุนแรง ในการเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ชมคลิป: ‘ประท้วงเงียบ’ เมียนมาไร้ผู้ชุมนุม ใช้ความเงียบต้านรัฐประหาร
รัฐประหารเมียนมา: ใครเป็นใครในฝ่ายต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
ภาพ: Hkun Lat / Getty Images
อ้างอิง: