วันนี้ (23 มีนาคม) ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยมีการจัดประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ หลังจากที่รัฐสภาไม่เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และการเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวภายหลังการประชุมว่าภาคีมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และขอให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะรัฐบาลและรัฐสภาร่วมมือกันเพื่อดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ ถามประชาชนในเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
สำหรับคำถามที่จะให้ประชาชนให้ความเห็นชอบในการลงประชามติอาจเป็นดังนี้ “ท่านประสงค์จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่”
อนุสรณ์กล่าวว่า การที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มองค์กรประชาธิปไตยจะดำเนินการให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และเพื่อให้ระบบการเมืองมีดุลยภาพ มีเสถียรภาพ และประสิทธิภาพ ก็ย่อมสามารถทำได้ และต้องได้รับการสนับสนุนจากพลังประชาธิปไตยในสังคมด้วย โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและเกี่ยวข้องกับการสืบทอดอำนาจ อาทิ การแก้ไขมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจของ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี
พร้อมยืนยันจะสถาปนาประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการให้มีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนโดยตรง แต่ที่มีอยู่ปัจจุบันคือการวางกับดักและการวางแผนสืบทอดอำนาจอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นว่าการดำเนินการต้องทำคู่ขนานกัน คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา
ด้าน สมชัย ศรีสุทธิยากร กล่าวถึงกรณีที่จะมี ส.ว. จำนวนหนึ่งเตรียมส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าร่าง พ.ร.บ. ประชามติขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมองว่ากฎหมายประชามติเป็นกฎหมายเดียว และเป็นความหวังเดียวของประชาชนที่จะเกิดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น
ดังนั้นขณะนี้กฎหมายประชามติถือว่าเป็นช่องทางเดียวและช่องทางสุดท้ายที่จะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้จริง แต่คนกลุ่มหนึ่งกำลังพยายามทำให้กฎหมายประชามติตกไปในวาระที่สามโดยการหยิบยกประเด็นดังกล่าวร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการทำแบบเดียวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจนทำให้สมาชิกรัฐสภาไม่กล้าลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมองว่าการกระทำของกลุ่มดังกล่าวเป็นการทำเพื่อขัดขวาง และอยากให้รัฐบาลสนับสนุนดีกว่ามาขัดแข้งขัดขา พร้อมเชื่อว่ากรรมาธิการฯ จะสามารถดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาต่างๆ ให้สอดรับกับมติที่เปลี่ยนแปลงในมาตรา 9 และสอดรับกับรัฐธรรมนูญได้
เมื่อถามว่าหากนายกรัฐมนตรีเลือกตัดสินใจยุบสภาและกลับไปเลือกตั้งใหม่จะทำให้กลับไปสู่วังวนเดิม เพราะรัฐธรรมนูญยังไม่มีการแก้ไขหรือไม่ สมชัยมองว่าถ้ากฎหมายประชามติไม่ผ่านรัฐสภา รัฐบาลมีอยู่สองทางคือลาออกหรือยุบสภา แต่ขออย่านิ่งเฉย ปัดความรับผิดชอบ เรื่องนี้ไม่ได้อยู่นอกเหนืออำนาจของรัฐบาล เพราะร่างกฎหมายนี้เสนอโดยคณะรัฐมนตรี และถือเป็นกฎหมายปฏิรูปที่รัฐบาลมีส่วนสำคัญในการผลักดัน แต่หากต้องล้มเหลว รัฐบาลมีเพียงสองทางที่กล่าวไปข้างต้น และขออย่าหน้าด้าน
ด้าน ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวเพิ่มเติมกรณีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ. ประชามติว่าเป็นการลุแก่อำนาจ ทำให้บ้านเมืองไปสู่ทางตัน และอาจทำให้สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้รุนแรงขึ้น
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์