×

หยุดเล่นมือถือก่อนนอนแบบมืดๆ ถ้าไม่อยากเสียสุขภาพดวงตาไปมากกว่านี้

19.03.2021
  • LOADING...
หยุดเล่นมือถือก่อนนอน

HIGHLIGHTS

  • หนึ่งในปัญหาใกล้ตัวที่คนส่วนใหญ่มักจะเป็นกันโดยไม่รู้ตัว คือการทำลายสุขภาพดวงตาผ่านการเล่นมือถือก่อนนอน จนนำไปสู่โรคเทคโนโลยีซินโดรม ส่งผลให้แสบตา ตาแห้ง น้ำตาไหล รู้สึกปวดที่กระบอกตา สายตาพร่ามัว หากปล่อยไว้นานๆ อาจลุกลามเป็นโรคต้อหินในที่สุด 

ช่วงนี้สังเกตว่าจะมีบทความเกี่ยวกับสุขภาพเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่คนยุคใหม่ติดโซเชียลกันหนักหน่วง ทั้งการใช้งานคอมพิวเตอร์ ก้มดูสมาร์ทโฟนในมือจนลืมเปลี่ยนอิริยาบถ ล้วนเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับโรคออฟฟิศซินโดรม หนึ่งในปัญหาใกล้ตัวที่คนส่วนใหญ่มักจะเป็นกันโดยไม่รู้ตัวคือการทำลายสุขภาพดวงตาผ่านการเล่นมือถือก่อนนอน



ใช่คุณหรือเปล่าที่แค่คิดว่า “ก่อนนอน เช็กมือถือสักหน่อยดีกว่า” “ขอส่องอินสตาแกรมอีกแป๊บเดียวก็จะนอนแล้ว” “ตอบไลน์แชตเพื่อนสัก 5 นาทีคงไม่เป็นไร” แต่กลายเป็นว่าหลังจากดับไฟจะนอน มีหลายคนส่องมือถือในที่มืดๆ จนลืมเวลา จาก 5 นาทีกลายเป็นครึ่งชั่วโมง และต่อเนื่องเป็นชั่วโมงก็มี ซึ่งเรื่องนี้ พญ.วฎาการ วุฒิศิริ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากการใช้สมาร์ทโฟนดังนี้  



1. ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักกับรังสีกันก่อน ซึ่งรังสี UV กับแสงสีฟ้า (Blue Light) นั้นมีข้อแตกต่างกัน คือรังสี UV เกิดขึ้นจากดวงอาทิตย์ ซึ่งมีทั้ง UVA, UVB และ UVC โดย UVC จะถูกโอโซนของโลกเป็นตัวป้องกันไว้ ส่วน UVA และ UVB นั้นจะทะลุเข้ามาภายในโลกของเราได้ แต่โอกาสที่จะเข้าไปทำลายจอประสาทตาได้นั้นมีน้อยมาก เนื่องจากรังสี UVA และ UVB จะถูกดูดกลืนแสงไว้ 99% และตกไปยังจอประสาทตาเพียง 1% เท่านั้น ซึ่งไม่มีรังสีเหล่านี้ออกมาจากคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนแต่อย่างใด



ส่วนแสงสีฟ้าคือแสงที่มีความยาวคลื่นสั้นอยู่ที่ 380-500 นาโนเมตร มีการกระจายตัวของแสงสีได้มาก จึงทำให้มีอาการปวดตา สายตาล้าได้ง่าย แต่แสงสีฟ้าไม่ได้มีแต่โทษเท่านั้น ประโยชน์ของแสงสีนี้คือการกระตุ้นให้ร่างกายมีการตื่นตัว ซึ่งการใช้แสงสีนี้อาจมีผลต่อระบบการนอนและการตื่นของร่างกายได้ โดยแสงสีฟ้าสามารถพบได้ทั่วไปจากแสงอาทิตย์ จากหลอดไฟ จากคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟน แต่แสงสีฟ้าไม่ได้ทำให้ผู้ใช้ตาบอดแต่อย่างใด เพียงแต่ทำให้ผู้ใช้ไม่สบายตาเมื่อใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานๆ เท่านั้น 

 

2. กับคำถามที่ว่าการใช้มือถือในที่มืดจะทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อมหรือจอประสาทตาหลุดลอกนั้นไม่เป็นความจริงอย่างมาก เนื่องจากงานวิจัยที่น่าเชื่อถือยังไม่พบความสัมพันธ์ของแสงสีฟ้ากับการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมอย่างชัดเจน เพราะโรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่แสงสีฟ้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น



โดยสรุปคือการใช้งานคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนในที่มืดไม่ได้ทำให้ตาบอด แต่จะทำให้เกิดความไม่สบายตามากกว่าการเล่นขณะเปิดไฟ เพราะจะต้องเพ่งมากกว่าปกติ และมีแสงสะท้อนเข้าตามากกว่าปกติ ทำให้เกิดความไม่สบายตา ตาล้ามากขึ้น โดยอาการเหล่านี้จะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อพักและหยุดใช้งานไปก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมได้ 


นอกจากนี้เรายังพบข้อมูลโดย นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาดวงตา ซึ่งเปิดเผยว่าข้อเสียของการใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตต่อเนื่องเป็นเวลานานนั้นเสี่ยงจะทำให้เป็นโรคเทคโนโลยีซินโดรม ซึ่งจะมีอาการแสบตา ตาแห้ง น้ำตาไหล รู้สึกปวดที่กระบอกตา สายตาพร่ามัว และบางครั้งจะมองเห็นไม่ชัด เพราะการเพ่งมองไปที่หน้าจอตลอดเวลาทำให้ม่านตาขยายใหญ่ขึ้นมากกว่าปกติ



ยิ่งถ้าใครที่ปิดไฟเล่นก่อนนอนบ่อยๆ จนกลายเป็นโรคเทคโนโลยีซินโดรมนานเข้า ปัญหาสุขภาพตาอาจลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่จนกลายเป็นต้อหินในที่สุด



ซึ่งโรคต้อหินนั้น ทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อธิบายว่าเป็นกลุ่มโรคที่มีการเสื่อมของขั้วประสาทตา ส่งผลให้เกิดการสูญเสียการมองเห็น และเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะตาบอดที่เกิดขึ้นทั่วโลก ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของต้อหินคือความดันตาที่สูง ทำให้เกิดการทำลายประสาทตาตามมา เนื่องจากโรคต้อหินไม่มีอาการเตือนในระยะแรก การสูญเสียการมองเห็นจะเริ่มที่ขอบนอกของลานสายตา คือการมองเห็นจากด้านข้าง ส่วนตรงกลางภาพยังเห็นชัด หากไม่ได้รับการรักษา การมองเห็นภาพจะแคบลงเรื่อยๆ โดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัว ในส่วนการรักษามีตั้งแต่การใช้ยา การใช้เลเซอร์ และการผ่าตัด



จากข้อมูลเหล่านี้จะเห็นว่าเราสามารถหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจจะเกิดกับดวงตาได้ตั้งแต่พฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเรา หากที่ผ่านมาคุณชอบเพ่งสายตาจ้องสมาร์ทโฟนเป็นเวลานาน หรือชอบเล่นมือถือแบบมืดๆ ก่อนนอนจนติดเป็นนิสัย คงได้เวลาเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้อันตรายต่างๆ เกิดขึ้นกับดวงตาอันเป็นที่รักของเรา

 


ภาพ: Shutterstock
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:

  • Rama.mahidol.ac.th, Bumrungrad International Hospital, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X