วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าช่วงมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ทางธนาคารแห่งประเทศไทยและภาคเอกชน ได้แก่ เอสซีจี และบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด โดยมีบริษัท ConsenSys เป็นผู้สนับสนุนด้านเทคโนโลยี ร่วมพัฒนาระบบต้นแบบการชำระเงินในภาคธุรกิจโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) พบว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงินให้แก่ภาคธุรกิจได้อย่างดี
ทั้งนี้ ผลจากการทดสอบโครงการ CBDC พบว่าเทคโนโลยีประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (DLT) สามารถเชื่อมต่อกับระบบบริหารการจัดซื้อ การวางบิล และการชำระเงินภาคธุรกิจได้ เช่น กรณีเอสซีจีกับคู่ธุรกิจ สามารถกำหนดเงื่อนไขกับระบบต่างๆ ได้ดี เช่น การกำหนดเงื่อนไขให้มีการชำระเงินตามข้อมูลที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้ ซึ่งช่วยลดปัญหาการบริหารเงินสด
ขณะที่การทดลองนี้พบข้อจำกัดของระบบต้นแบบ (ที่ใช้ DLT) เช่น การรองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมาก และการปกปิดความเป็นส่วนตัวของธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งต้องกาทางจัดการทั้งในเชิงเทคโนโลยี หรือการออกแบบระบบต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปี 2564-2565 นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยมุ่งศึกษาและพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลสำหรับภาคประชาชน (Retail CBDC) เพื่อการใช้งานในวงกว้างภายใต้ระบบที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านต่างๆ ทั้งด้านการดำเนินนโยบายทางการเงิน เสถียรภาพระบบการเงิน และบทบาทของสถาบันการเงินและธนาคารกลาง
นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเปิดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบ CBDC ที่จะปรับการทำธุรกรรมทางการเงินให้รองรับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนานวัตกรรมในปัจจุบัน ซึ่งมีผู้เล่นจากต่างชาติมากมาย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์