เมื่อวานนี้ (7 มีนาคม) กองทัพเมียนมาออกแถลงการณ์ปฏิเสธ ระบุไม่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ แจ่ สิ่น หญิงสาวเมียนมาที่รู้จักกันในชื่อ ‘Angel’ หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากการถูกยิงเข้าที่ศีรษะขณะกำลังเข้าร่วมการชุมนุมต้านรัฐประหารที่เมืองมัณฑะเลย์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา
ทางกองทัพอ้างว่า หลังจากตรวจสอบหัวกระสุนที่ยิงเข้าที่ศีรษะของ Angel แล้ว ไม่ตรงกับหัวกระสุนที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ อีกทั้งยังอ้างว่า Angel หันหน้าหนีไปจากทิศการประจัญหน้ากับกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนที่เธอจะถูกยิงเสียชีวิต
นับเป็นการแถลงการณ์ครั้งที่ 2 ที่ทางกองทัพปฏิเสธว่าตนไม่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธและความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ อันเป็นสาเหตุให้ประชาชนเสียชีวิต ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยออกแถลงการณ์ในลักษณะเดียวกัน ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีการเสียชีวิตของสาวเมียนมาวัย 20 ปีที่ถูกยิงเสียชีวิต หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและกองทัพเข้าสลายการชุมนุมในกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมา เมื่อราวสองสัปดาห์ก่อน
โดยกองทัพได้ยกระดับการปรามปรามและสร้างบรรยากาศของความกลัวต่อเนื่อง ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้วราว 60 ราย ถูกจับกุมแล้วกว่า 1,700 ราย ได้รับการปล่อยตัวแล้วราว 300 ราย ชาวเมียนมาจำนวนไม่น้อยเรียกร้องให้ประชาคมโลกเข้าช่วยเหลือเป็นการด่วน ก่อนที่จะมีประชาชนเสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงของรัฐมากไปว่านี้
ในทางการเมือง สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ที่จัดตั้งขึ้นโดยกองทัพเมียนมา ภายหลังจากการยึดอำนาจของรัฐบาลพลเรือนยังไม่ประสบความสำเร็จและเผชิญหน้ากับความท้าทายในการสร้างความชอบธรรม เพื่อให้ได้รับการยอมรับในเวทีประชาคมโลก หลังประชาชนชาวเมียนมาส่วนใหญ่ยังคงให้การสนับสนุนคณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพ (CRPH) ที่กำลังพยายามรักษาการแทนคณะรัฐบาลเมียนมาของ ออง ซาน ซูจี และประธานาธิบดีวิน มินต์อย่างชอบธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะที่การประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) กรณีเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงของกองทัพเมียนมาต่อประชาชน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ไม่ได้ข้อสรุปจากที่ประชุม ไม่สามารถแสดงจุดยืนร่วมกันในการประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากมีบางประเทศสมาชิกคัดค้าน โดยผู้แทนจีนในที่ประชุมระบุว่า ประชาคมโลกควรแสดงท่าที อยู่ภายในกรอบที่เคารพอธิปไตยของเมียนมา
ภาพ: Santosh Krl / SOPA Images / LightRocket via Getty Images
Stringer / Reuters
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: