×

เจเรมี หลิน อดีตสตาร์ NBA เปิดใจปัญหาการเหยียดชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกา

04.03.2021
  • LOADING...
เจเรมี หลิน อดีตสตาร์ NBA เปิดใจปัญหาการเหยียดชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกา

หมุนเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปในปี 2019 ชื่อของ เจเรมี หลิน เป็นชื่อของนักกีฬาบาสเกตบอลที่โด่งดังไปทั่วโลก ในฐานะนักบาสเกตบอลเชื้อสายเอเชียน-อเมริกัน คนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้แหวนแชมป์ NBA มาครอบครองในช่วงที่เล่นให้กับทีมโทรอนโต แรปเตอร์ส 

 

นั่นคือช่วงสูงที่สุดในชีวิตการเล่นของเขา ก่อนที่ทุกอย่างจะตกต่ำลงด้วยเหตุผลหลายอย่าง 

 

ในสนาม ปัญหาของเขาเกิดขึ้นหลังจากโด่งดังเป็นพลุแตกในช่วงต้นทศวรรษที่แล้ว โดยเฉพาะในช่วงการเล่นให้กับนิวยอร์ก นิกส์ จนเกิดกระแส ‘Linsanity’ ถึงขั้นได้ขึ้นปกนิตยสาร Times มาแล้ว แต่กลับต้องเผชิญกับอาการบาดเจ็บมากมาย จนทำให้เส้นทางอาชีพของเขาไม่ได้อยู่ในสถานะดาวเด่นของทีมใดอีกเลย

 

เพียงแต่เรื่องอาการบาดเจ็บดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาเดียว เพราะอีกปัญหาที่เขาต้องรับมือตลอดเวลาคือ ‘การถูกเหยียด’ เพียงเพราะเขามีสายเลือดของชาวเอเชียในตัว

 

ครั้งหนึ่งเขาเคยถูก ESPN พาดหัวข่าวในเชิงเหยียดชาวจีนด้วยคำว่า ‘Chink in the Armor’ ซึ่งกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต เพราะข่าวถูกถอดออกในระยะเวลาอันรวดเร็ว และนำไปสู่การปลดบรรณาธิการข่าวในเวลาต่อมา

 

ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ อดีตยอดนักชกเจ้าของตำนานไร้พ่าย ก็เคยกระแนะกระแหนเขาว่า โด่งดังเป็นพลุแตกได้ก็เพียงเพราะมีเชื้อสายชาวเอเชียเท่านั้น

 

และล่าสุดหลิน ซึ่งปัจจุบันยังเล่นบาสเกตบอลอยู่ แต่ไม่ได้อยู่ใน NBA แล้ว เพราะต้นสังกัดปัจจุบันคือทีมซานตา ครูซ วอร์ริเออร์ส ทีมสาขาของโกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส ซึ่งอยู่ในจีลีก กลับต้องตกเป็นเหยื่อของการเหยียดเชื้อชาติอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้เกิดขึ้นในสนามด้วย

 

โดยอดีตดาวดังวัย 32 ปี ได้เปิดเผยว่า เขาถูก ‘ใครสักคน’ เรียกเขาว่า ‘ไวรัสโคโรนา’ ในระหว่างที่ยังอยู่ในสนาม

 

หลินไม่อยากเปิดเผยชื่อของนักกีฬาคนนั้น เพราะไม่คิดว่ามันจะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหา สิ่งที่เขาอยากเห็นมากกว่าคือการเอาใจใส่การแก้ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติอย่างจริงจัง

 

“มันจะมีประโยชน์อะไรในสถานการณ์นี้ที่จะมีคนที่ต้องเจ็บ?” หลินกล่าว “มันไม่ได้ช่วยให้ชุมชนของผมปลอดภัยหรือแก้ไขปัญหาเรื่องการเหยียดเชื้อชาติในระยะยาว

 

“ถ้าอยากจะช่วยจริงๆ ทางที่ดีกว่าคือ การลองไปดูเด็กๆ เชื้อสายเอเชียที่ไม่มีใครพูดคุยกับเขาในระหว่างที่เขาถูกกลั่นแกล้ง ลองดูชาวเอเชียน-อเมริกัน ที่ประสบกับความยากจน แต่ไม่เคยมีใครมาเหลียวแลพวกเขา”

 

ล่าสุด หลินยังได้เปิดเผยความรู้สึกว่า ในเวลานี้ชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกากำลังตกเป็นเป้าหมาย และเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นมากหลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว

 

“ผมรู้สึกว่ามันกำลังปะทุและร้อนแรงขึ้น” หลินกล่าวกับ CNN “ผมเห็นมาตั้งแต่ปีกลายช่วงเดือนมกราคมที่ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้น (การระบาดของไวรัส) ผมได้เห็นการโจมตีและอาชญากรรมจากความเกลียดชังเพิ่มขึ้นมาก”

 

สิ่งที่หลินกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและเป็นกระแสในช่วงที่ผ่านมาในการต่อต้านการเหยียดชาวเอเชีย ซึ่งหนึ่งในเหยื่อของความรุนแรงก็มี วิชา รัตนภักดี ชายไทยวัย 84 ปีที่ถูกวัยรุ่นชาวอเมริกันทำร้ายร่างกายด้วยการวิ่งผลักจนล้มลงกระแทกพื้น ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา

 

หนึ่งในสาเหตุของความเกลียดชังที่เพิ่มขึ้นมาจากการที่อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เรียกไวรัสโคโรนา 2019 ว่า ‘ไวรัสจีน’ ซึ่งในความรู้สึกของหลินแล้วมันทำให้ปัญหานี้เลวร้ายมากยิ่งขึ้น เพราะเดิมที่เป็นอยู่ชาวเอเชียในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเชื้อชาติใดก็ตาม มีโอกาสจะพบกับปัญหาการเหยียดเชื้อชาติอยู่แล้ว

 

แต่แทนที่จะเพิ่มพูนความเกลียดชังเพียงเพราะหน้าตาและสีผิวไม่เหมือนกัน หลินอยากเห็นผู้คนได้เปิดใจและรับฟังกันและกัน มากกว่าจะตัดสินหรือกล่าวโทษกันโดยไม่สนใจอะไรทั้งนั้น

 

การผสมผสานของวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เขาอยากเห็น และอยากให้ทุกคนต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติในวงกว้าง

 

เพียงแต่ปัญหานี้จะแก้ได้ก็ต่อเมื่อทุกคนในสังคมร่วมมือกัน ไม่ใช่เพียงแค่ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X