×

“ผมต้องพูดเรื่องอนาคตบาสเกตบอล ทั้งที่ผมไม่รู้ว่ามันยังมีอยู่หรือเปล่า” เจเรมี หลิน พลุมังกรกำลังดับแสงกับ NBA

05.08.2019
  • LOADING...
Jeremy Lin

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เจเรมี หลิน คือนักบาสเกตบอลชั้นนำของ NBA เมื่อปี 2012 จนหลายสื่อยกย่องและตั้งฉายาให้ว่า Linsanity 
  • แต่หลังจากการคว้าแชมป์ NBA ฤดูกาลล่าสุดกับ โทรอนโต แรปเตอร์ส เขาก็กลายเป็นนักบาสไร้สังกัด จากการที่โทรอนโตไม่ต่อสัญญา 
  • หลินยอมรับว่าเขารู้สึกเหมือน NBA กำลังทอดทิ้งเขา และรู้สึกเหมือนอยู่ในจุดต่ำสุดที่เขาอาจจะไม่สามารถกลับมาสู่การแข่งขันบาสเกตบอลระดับสูงอย่างใน NBA ได้แล้ว

“ผมรู้สึกว่าบางที NBA คงเมินหน้าใส่ผมแล้ว” นี่คือส่วนหนึ่งในคำพูดของ เจเรมี หลิน ระหว่างเดินทางไปพูดให้กำลังใจเด็กๆ ที่ไต้หวันเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา โดยต้องพยายามสะกดอารมณ์ตัวเองเต็มที่

 

หลังจากตะลอนแข่งมา 8 ทีมใน NBA รับค่าจ้าง 9 ซีซันรวม 65.75 ล้านเหรียญ (ประมาณ 2,100 ล้านบาท แต่รับจริงอาจครึ่งเดียว เพราะภาษีรายได้ของ สหรัฐอเมริกาแพงทีเดียว) และเพิ่งเป็นสายเลือดเอเชียรายที่ 3 ซึ่งคว้าแหวนแชมป์ NBA ต่อจาก เม้ง บาเทียร์ ที่รับส้มหล่นไปอยู่กับซาน อันโตนิโอ สเปอร์ส ชุดแชมป์ปี 2003 และ ซุน เยี่ยว์ ซึ่งมารับส้มหล่นแบบเดียวกับบาเทียร์ โดยคว้าแชมป์ได้กับแอลเอ เลเกอร์ส ปี 2009 ซึ่งทั้ง 2 คนไม่ได้ลงสนามรอบชิงแม้แต่วินาทีเดียว

 

Jeremy Lin

 

หลินทำท่าจะหลุดวงโคจรจากลีกบาสเกตบอลใหญ่สุดของโลกตั้งแต่เปิดตลาดฟรีเอเจนต์เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม มีการเซ็นสัญญาผู้เล่นมูลค่าเกินพันล้านเหรียญตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรก

 

แน่นอน หลินไม่อยู่ในกลุ่มดังกล่าว

 

“ทุกปีมีแต่จะยิ่งลำบากขึ้น” หลินพูดถึงอนาคต NBA ที่สั่นคลอนของเขา

 

“ในภาษาอังกฤษมีการพูดกันว่า เมื่อไรก็ตามที่คุณหล่นไปยังก้นบึ้ง ก็มีแต่ทางขึ้นอย่างเดียวแล้ว แต่ดูเหมือนก้นบึ้งของผมมันกลับลึกลงไปเรื่อยๆ”

 

ผู้เล่นวัย 30 ปีเพิ่งได้แชมป์กับโทรอนโต แรปเตอร์ส แม้บทบาทจะน้อยนิด เฉลี่ยแค่ 3.4 นาที จาก 8 เกมเพลย์ออฟ

 

“เมื่อจบฤดูกาลผมก็ต้องเตรียมตัวเดินทางมายังเอเชีย ซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายที่ผมอยากทำ” หลินยอมรับ “เพราะผมรู้ตัวว่าตลอด 6 สัปดาห์ก็ต้องพยายามฝืนยิ้ม พยายามฝืนพูดเรื่องการได้แชมป์ ทั้งๆ ผมไม่ได้รู้สึกว่ามีความเหมาะสม ผมต้องพูดเรื่องอนาคตบาสเกตบอล ทั้งที่ผมไม่รู้ว่ามันยังมีอยู่หรือเปล่า มันเป็นความน่าอายและทำใจลำบาก”

 

Jeremy Lin

 

ตั้งแต่สร้างปรากฏการณ์ Linsanity ในนิวยอร์ก ขนาด New York Times ยังเอาเขาขึ้นปกโซนเอเชีย หลินก็มีปัญหาอาการบาดเจ็บ

 

ตลอดอาชีพเฉลี่ย 11.6 คะแนน 4.3 แอสซิสต์ แต่ไม่เคยสตาร์ทเกิน 3 เกมต่อซีซันมาตั้งแต่อยู่บรูกลิน เน็ตส์ เมื่อ 2016-17 แล้ว

 

หัวข้อสุนทรพจน์ที่หลินสอนเด็กๆ คือ ‘The Waiting Game’ เน้นเรื่องความอดทนอดกลั้น แม้จะมีความรู้สึกหลุดออกมาบ้าง หลินก็พยายามให้ความหวังกับคนที่อาจกำลังประสบปัญหา

 

Jeremy Lin

 

“ผมมาที่นี่เพียงเพื่อบอกคุณว่าอย่ายอมแพ้ ใครก็ตามที่ทำงานอย่างหนักแล้วยังไม่ได้รับผล ก็อย่ายอมแพ้”

 

หลินเองก็เช่นกัน แม้มีรายงานข่าวว่าซีเอสเคเอ มอสโก จากรัสเซีย ซึ่งอยู่ระดับหัวแถวยุโรป กำลังอยากได้พอยต์การ์ดและให้ความสนใจ

 

ปรากฏว่า อันเดรย์ คาร์ชาชอฟ นักข่าวกีฬารัสเซียของสำนักข่าว TASS กลับปฏิเสธ ว่าสโมสรไม่เคยสนใจหลิน และไม่เคยเจรจาสัญญาด้วย

 

“มีข่าวออกมาหลายแห่งว่า เจเรมี หลิน ปฏิเสธข้อเสนอของซีเอสเคเอ มอสโก ทั้งๆ ที่ไม่มีการเจรจาเกิดขึ้นแต่อย่างใด ทางทีมไม่สนใจเขา เนื่องจากสภาพร่างกาย”

 

หลินมีบทบาทหนสุดท้ายตอนอยู่กับบรูกลิน เน็ตส์ เฉลี่ย 24.5 นาที 14.5 แต้ม จาก 36 เกม แล้วก็บาดเจ็บกล้ามเนื้อหลังเข่าจนต้องปิดเทอมก่อนกำหนด

 

หนุ่มจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยังมาเจอหายนะเอ็นกระดูกสะบ้าขาด เมื่อวันเปิดซีซัน 2017

 

เขาคงต้องรอโอกาสจาก NBA จนใกล้เปิดฤดูกาล แม้สัญญาณที่ออกมาล่าสุดยังริบหรี่มาก

 

บางทีหลินคงต้องมองหาโอกาสพิสูจน์ตัวเองที่จีนแทน ในเมื่อแฟนๆ ยังชื่นชอบ หรืออาจลงสนามกับ โจเซป หลิน น้องชายตัวเอง ซึ่งแข่งกับฟูบอน เบรฟส์ แชมป์เก่าซูเปอร์บาสเกตบอลลีกของไต้หวัน

 

“ผมเคยคิดเอาไว้ ความฝันสูงสุดของผมก็คือลงแข่งทีมเดียวกับน้องชายตัวเอง”

 

งานเลี้ยงย่อมต้องมีวันเลิกรา นี่คือสัจธรรมอันจริงแท้แน่นอน เพราะปัจจุบันไม่เพียงหลินที่ยังตกงาน อดีตตัวดังอย่าง จามาล ครอว์เฟิร์ด ดีกรีสำรองยอดเยี่ยม 3 สมัย, วินซ์ คาร์เตอร์ หรือ Vinsanity ตำนานเดินได้, เจ.อาร์. สมิธ หรือ อิมาน ชัมเพิร์ต สองการ์ดประสบการณ์ ก็ยังไม่มีสังกัด

 

ย้อนรอย จุดเริ่มและจุดดับ Linsanity 

 

Jeremy Lin

 

ไม่ถึง 7 ปีก่อน หลินโด่งดังไม่เป็นสองรองใครในเวทีบาสเกตบอล เมื่อกดคนเดียว 38 แต้มใส่โคบี ไบรอันต์และเลเกอร์ส ขณะลงสนามช่วยนิกส์คว้าชัยใน Madison Square Garden

 

สมัยนั้นสื่อและแฟนๆ เริ่มจุดประเด็นว่า การ์ดสายเลือดจีนซึ่งเคยเป็นแค่ตัวดี-ลีก (ลีกสำรอง) กับตัวประกอบของวอร์ริเออร์สเก่งจริงหรือว่าฟลุก

 

พูดถึงเรื่องวอร์ริเออร์สแล้วแปลกมาก ผมกลับเคยนั่งดูเขาลงแข่งให้โกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส สมัยยังเป็นรุกกี้ เพราะช่วงดังกล่าวเวลามีโอกาสแวะไปซานฟรานซิสโก ก็จะข้ามฟากไปโอ๊กแลนด์ ซื้อตั๋ววอร์ริเออร์สเพราะราคาถูก หาง่าย ต่างจากยุคปัจจุบันลิบลิ่ว

 

จำได้ว่าวันนั้นหลินเปลี่ยนตัวลงมาบนคอร์ต ท่ามกลางเสียงเชียร์ของแฟนๆ เชื้อสายจีน (หลินเป็นเด็กที่เกิดย่านเบย์ แอเรีย และย่านนั้นคนจีนมีเยอะทีเดียว) ผมต้องเปิดหนังสือคู่มือดูว่าเด็กคนนี้คือใคร

 

วอร์ริเออร์สขณะนั้นตัวดังสุดคือ เดวิด ลี แล้วก็ มอนตา เอลลิส ส่วน สตีเฟน เคอร์รี กำลังเป็นดาวรุ่ง

 

เกมจบ ผมก็ไม่เคยนึกเรื่องหลินอีกเลย 

 

จู่ๆ เดือนกุมภาพันธ์ 2012 หลินซึ่งโดนวอร์ริเออร์สปล่อยทิ้ง และกำลังจะโดนนิกส์ ต้นสังกัดที่สองใน NBA ปล่อยทิ้ง ทำให้ผมได้ยินชื่อเขาอีกครั้ง

 

เขาซัด 25 คะแนน 5 รีบาวด์ 7 แอสซิสต์ มากสุดในอาชีพใส่ เดอรอน วิลเลียมส์ การ์ดออลสตาร์ของเน็ตส์ จน คาร์เมโล แอนโธนี ดาวดังเพื่อนร่วมทีมชอบใจมาก

 

หลินยังมาทำอีก 28 แต้ม 8 แอสซิสต์ ช่วยนิกส์เก็บชัยชนะต่อเนื่อง ทั้งที่แอนโธนีกับ อมาเร สเตาดาไมร์ สองตัวดังยังบาดเจ็บ

 

วันเอาชนะวอชิงตัน วิซาร์ดส์ 107-93 หลินดวลกับ จอห์น วอลล์ อีกการ์ดดัง จัดการ สกอร์ 23 กับ 10 แอสซิสต์ เป็นดับเบิล-ดับเบิลหนแรกของอาชีพ

 

10 กุมภาพันธ์ น่าจะเป็นวันที่หลินจดจำมาถึงทุกวันนี้ ด้วยการระเบิดฟอร์มแห่งอาชีพ 38 คะแนน 7 แอสซิสต์ ทำให้นิกส์ปราบเลเกอร์ส 92-85 ต่อหน้าคนดูทีวีทั่วประเทศ โดยเขาทำคะแนนมากกว่าโคบี (34) เสียอีก 

 

ท้ายสุดหลินได้รับเลือกเป็นผู้เล่นยอดเยี่ยมฝั่งตะวันออกแห่งสัปดาห์ เมื่อเฉลี่ย 27.3 แต้ม 8.3 แอสซิสต์ 2.0 สตีลส์ จากการลงตัวจริง 4 นัด และนิกส์ไร้พ่าย

 

“ผู้เล่นซึ่งฟอร์มดีขนาดนั้น ยากมากที่จะมาจากไหนไม่รู้ พวกเขาต้องฉายแววมาก่อน แต่ถ้าคุณมองย้อนกลับไปและมองดูดีๆ ระดับทักษะของเขาน่าจะมีมาแต่แรก เพียงแต่โดนมองข้ามมาตลอด”

 

นั่นคือคำชื่นชมของโคบีที่มีต่อหลินหลังเกม

 

ความดังของหลินกลายเป็นปรากฏการณ์ Linsanity จาก 12 เกมตัวจริง ก่อนพักออลสตาร์ เขามีผลงาน 22.5 แต้ม 8.7 แอสซิสต์ และนิกส์ สถิติ 9-3

 

จากเคยโดนมองข้าม กลับได้ลงแข่ง Rising Stars Challenge ระหว่างสัปดาห์ออลสตาร์หน้าตาเฉย โดยที่สื่อดังระดับชาติ รวมทั้ง USA Today, The L.A. Times กับ CBS Sports พากันอวยว่าเหมาะสมอย่างที่สุด

 

หนังสือพิมพ์ New York Times ถึงกับต้องไปขุดประวัติว่าชื่อเสียงหลินกระจายไปถึงตอนเหนือของมณฑลเจ้อเจียง เพราะฝั่งอาม่าของเขาอพยพไปยังไต้หวันช่วงท้ายของสงครามกลางเมืองเมื่อปลายยุค 1940

 

แม้ประวัติหลินจะบอกว่าเขาคือไต้หวัน-อเมริกัน เพราะพ่อแม่โตที่ไต้หวัน ก่อนย้ายสู่ สหรัฐอเมริกา และคลอดหลินในแคลิฟอร์เนีย ทางจีนแผ่นดินใหญ่กลับเริ่มแอบอ้างในตัวหลินตามรากเหง้าดังกล่าว

 

ประธานสาขาพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเจ้อเจียงเขียนลงในบล็อกว่า ต้นตระกูลหลินอยู่ในเจี่ยชิง ทางอีสานของหางโจว ซึ่งอาม่าของหลินโตที่นั่น และนับจากปี 1991 เธอกับญาติๆ ยังส่งเงินกลับไปช่วยโรงเรียนมัธยมเจี่ยชิงเป็นแสนบาท

 

ญาติห่างๆ ที่นั่นบอกว่า หลินสูง 6 ฟุต 3 ก็เพราะได้เชื้อมาจากฝั่ง เฉินเหว่ยจื้อ พ่อของอาม่า หรือเหล่ากง ซึ่งสูง 6 ฟุต และได้เปลี่ยนศาสนาเป็นคริสเตียนตั้งแต่ต้นยุค 1900 แล้ว

 

ย้อนกลับมายังสหรัฐอเมริกา

ความดังของหลินทำเอาบรรณาธิการข่าว ESPN ต้องตกงาน เมื่อเล่นคำว่า ‘Chink in the Armor เจเรมี หลิน เสีย 9 เทิร์นโอเวอร์ ทำนิกส์หยุดสถิติร้อนแรงพ่ายฮอร์เน็ตส์’

 

ขนาดเป็นข้อความที่ขึ้นตอน 02.30 น. และโดนถอดออกเวลา 03.05 น. กลับเป็นเรื่องใหญ่โตมาก มีการสืบสาวหาคนพาดหัวดังกล่าว

 

มันมีสำนวนว่า Chink in One’s Armor แปลว่าจุดเปราะของอาวุธ และทาง ESPN ก็เคยใช้คำนี้ในข่าวมาเป็นพันๆ ครั้งโดยไม่เกิดปัญหา

 

แต่ก็มีแสลงว่า Chink ซึ่งคนอเมริกันเอาไว้เหยียดคนจีนที่ตาตี่ๆ เช่นกัน

 

แอนโธนี เฟเดริโก พยายามขอโทษขอโพย “ผมเสียใจที่ทำให้หลายคนไม่พอใจ ผมเสียใจมาก ถ้าเจเรมีไม่พอใจ”

 

มันไม่ได้ผล เขาโดนไล่ออกวันรุ่งขึ้น

 

“ผมไม่คิดว่าเป็นเจตนาหรืออะไรก็ตาม แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็ขอโทษมาแล้ว ทางฝั่งผมไม่ได้แคร์อะไรอีก” หลินกล่าวหลังเกมช่วยนิกส์ชนะแมฟเวอร์ริกส์ 104-97

 

ESPN แถลงการณ์ขอโทษ และทราบว่ามีอีก 2 คนที่ใช้คำพูดไม่เหมาะสม

 

แม็กซ์ เบรตอส โฆษกทีวี ESPN พูดถึงหลินว่า “ถ้าจะมีจุดเปราะในฝีมือของเขา หลิน สามารถพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไรบ้าง”

 

เบรตอสก็ต้องขอโทษขอโพยบอกว่า “เมียผมก็เป็นคนเอเชีย ผมไม่เคยคิดมีเจตนาดูถูกอะไรเธอหรือชุมชนดังกล่าว”

 

ไม่รอดอยู่ดี เขาโดนแบน 30 วัน แม้หลายฝ่ายเชื่อว่าเขาไม่มีเจตนาเหยียดสีผิว

 

ส่วนอีกคนที่ทำวิทยุ ESPN ในนิวยอร์ก ไม่ได้เป็นลูกจ้างโดยตรง

 

กระแส Linsanity ทำเอา ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ นักชกไร้พ่าย ยังอาศัยทวิตเตอร์ แขวะใส่ “เจเรมี หลินเป็นผู้เล่นที่เก่ง แต่ความฮือฮาที่มันเกิดขึ้นเพราะเขาเป็นชาวเอเชีย ผู้เล่นผิวสีก็ทำอย่างที่เขาทำทุกคืน กลับไม่ได้ได้เสียงชมระดับเดียวกัน”

 

แม้ว่าหลินจะอาศัยความถ่อมตัวรับมือกับชื่อเสียงซึ่งไหลบ่ามาอย่างรวดเร็วอย่างเต็มที่

 

“หลายอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ทุกคนอยากคุยกับผมและครอบครัว พวกเราเป็นเหมือนชาวบ้านคนหนึ่ง ค่อนข้างเก็บตัว ดังนั้นมันก็ลำบากอยู่พอตัว”

 

ลำบากกว่านั้นก็คือ เขาไม่สามารถรับมือกับบทบาทตัวครองบอลระยะยาวได้

 

หลังจากช่วยให้ทีมชนะ 7 เกมติด การมาเสีย 9 เทิร์นโอเวอร์ในเกมพ่ายนิวออร์ลีนส์ 85-89 ไม่ใช่ธรรมดา มากสุดร่วมของฤดูกาลดังกล่าว

 

หลินพยายามตำหนิตัวเอง แต่ ไมค์ แดนโทนี เฮดโค้ชนิกส์พยายามให้กำลังใจ บอกว่าไม่วิตกเลย เชื่อว่าลูกทีมดีกรีจากฮาร์วาร์ดรายนี้จะเรียนรู้ได้ไว

 

“ผมอยากให้เขาเล่นไปเลยไม่ต้องมัวลังเล กลัวเสียเทิร์นโอเวอร์ไม่เป็นไร เสี่ยงเป็นเสี่ยงกัน”

 

แดนโทนีซึ่งระหองระแหงกับ แอนโธนี ฟอร์เวิร์ด ซูเปอร์สตาร์ กลับตัดสินใจลาออก เมื่อ 14 มีนาคม ทำให้ ไมค์ วูดสัน ผู้ช่วยของเขาต้องขึ้นรับหน้าที่แทน

 

มันส่งผลกระทบกับหลินอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะวูดสันไม่ค่อยใช้เพลย์ พิก-แอนด์-โรลล์ เน้นบาสชายเดี่ยวมากกว่า ทั้งที่หลินถนัดการเล่นพิก-แอนด์-โรลล์

 

เท่านั้นไม่พอ หลังเกมเจอ ดีทรอยต์ พิสตันส์ เมื่อ 24 มีนาคม หลินปวดเข่ามาพักหนึ่งจนทนไม่ไหว ผลการตรวจด้วย MRI หรือคลื่นแม่เหล็กพบว่าหมอนรองเข่าซ้ายฉีก ต้องผ่าตัดและพักยาวตลอดฤดูกาลปกติ ทิ้งผลงาน 26 เกม เฉลี่ย 18.5 แต้ม 7.6 แอสซิสต์ เอาไว้ รวมทั้งกระแส Linsanity ด้วย

 

เขาหมดสัญญาพอดี แล้ว ฮิวสตัน ร็อกเก็ตส์ ก็ยื่นสัญญาชิงตัวไป พร้อมความหวังจะให้เป็นหน้าตาของแฟรนไชส์ ซึ่งในเมืองมีคนจีนก็ไม่ใช่น้อย

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนเปิดฤดูกาลปกติ 2012-13 ฝ่ายบริหารร็อกเก็ตส์กลับไปเทรด เจมส์ ฮาร์เดน มาจากโอกลาโฮมา ซิตี้ ธันเดอร์ อย่างส้มหล่น

 

ผลก็ออกมาอย่างที่ทราบกัน ฮาร์เดนดีกรีดราฟต์อันดับ 3 ปี 2009 มีเกมบุกอย่างคงเส้นคงวามาจนทุกวันนี้ ขณะที่หลินอาจมีช่วยประกายอยู่บ้าง แต่ไม่สามารถลงเป็นคู่หูบนคอร์ตกับเขาอย่างที่หลายฝ่ายอุตส่าห์คาดหวัง

 

เคยมีผู้เล่นเชื้อสายเอเชียซึ่งไปเกิดในสหรัฐอเมริกาลงแข่งใน NBA มาก่อน

 

นั่นคือ วาตารุ มิซากะ เคยพามหาวิทยาลัยยูทาห์คว้าแชมป์ NIT ปี 1947 ภายหลังได้ลงแข่งใน NBA อยู่ 3 เกม ลองเดาดูว่าเป็นทีมอะไร?

 

ใช่แล้ว นิวยอร์ก นิกส์

 

มิซากะได้รวม 7 คะแนน ก่อนโดนปล่อยทิ้ง เพราะในทีมมีการ์ดตัวเลือกหลายราย

 

เขาไม่ใช่ผู้เล่นผิวขาวรายแรกซึ่งแข่งบาสเกตบอลอาชีพปีดังกล่าว ปีเดียวกับที่ แจ็กกี้ โรบินสัน สร้างตำนานฝ่ากำแพงสีผิวเข้าสู่วงการเบสบอล

 

กว่าที่ผู้เล่นผิวสีคนแรกจะได้เข้า NBA ก็ปี 1950 แล้ว

 

ส่วนนักบาสเลือดจีนรายแรกซึ่งเข้าสู่ NBA ก็คือ หว่องจือจือ กับดัลลัส แมฟเวอร์ริกส์ปี 2001 2 ปีหลังโดนดราฟต์

 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของหลินในฐานะคนที่ดูบาสเกตบอลมายาวนานและคลุกคลีกับวงการในฐานะสื่อมวลชนมาสองทศวรรษกว่า ผมบอกได้อย่างเต็มปากว่าไม่เคยมีผู้เล่นสีสันอย่างหลิน ซึ่งจบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมา โดยที่ทีแรกไม่ได้ทุนกีฬา และมาแบบไม่โดนดราฟต์ กลับสร้างสถิติสกอร์รวม 136 จาก 5 เกมแรกที่เป็นตัวจริง มากสุดของลีกตั้งแต่รวมกับ NBA เมื่อปี 1976-77 ด้วย

 

ช่วงนั้นขนาดคนไม่เคยตามข่าว NBA ก็คงต้องเคยได้ยินชื่อเขา หรือเห็นข่าวเกี่ยวกับเขาไม่มากก็น้อย

 

อีกทั้งเส้นทางอาชีพ NBA 9 ปีเต็มของหลินก็ต้องถือว่านานสุดร่วมสำหรับผู้เล่นเลือดเอเชียเท่า เหยาหมิง อดีตเซ็นเตอร์ชื่อดัง

 

หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าเขาเป็นคริสเตียนที่เคร่งครัดคนหนึ่ง เคยบอกว่าเมื่อถึงวันอำลาวงการว่าอยากเป็นบาทหลวง เพื่อช่วยเหลือชุมชน “ผมอยากทำงานอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ที่ด้อยโอกาส”

 

เราจะได้เห็นหลินในบทบาทดังกล่าวเร็วเพียงใด ก็ขึ้นอยู่ว่า NBA จะให้โอกาสเขาอีกหรือไม่

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising