วันนี้ (4 มีนาคม) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่รายงานสถานการณ์การดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่ายังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระบุว่าในเดือนกุมภาพันธ์เริ่มมีการนัดหมายชุมนุมสาธารณะของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนหลายครั้งมากขึ้น หลังจากในช่วงเดือนมกราคมกิจกรรมการชุมนุมลดน้อยลงไป เนื่องจากการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศไทยอีกครั้งตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม
ขณะที่สถิติการดำเนินคดีในภาพรวมจากการรวบรวมของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ ‘เยาวชนปลดแอก’ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 รวมเวลา 7 เดือนเศษ มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 382 คน ในจำนวน 223 คดี ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 13 ราย
เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2564 เท่ากับมีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 91 คน ในจำนวน 40 คดี โดยแกนนำและผู้ชุมนุมที่มีบทบาททางการเมืองยังถูกกล่าวหาดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย
สำหรับสถิติการดำเนินคดีแยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่
- ข้อหา ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์’ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 60 ราย ในจำนวน 47 คดี
- ข้อหา ‘ยุยงปลุกปั่น’ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 99 ราย ในจำนวน 22 คดี
- ข้อหา ‘มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวาย’ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 152 ราย ใน 25 คดี
- ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 301 ราย ในจำนวน 118 คดี แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครจำนวน 23 คดี และคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 95 คดี
- ข้อหาตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 84 ราย ในจำนวน 57 คดี
ในจำนวนคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ทั้งหมดยังพบว่า มีการแจ้งข้อกล่าวหาทับซ้อนไปพร้อมกับ พ.ร.บ. ชุมนุม จำนวน 32 คดี ทั้งที่ตามมาตรา 3 (6) ของ พ.ร.บ. การชุมนุม กำหนดให้กฎหมายไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
จากจำนวนคดี 223 คดีดังกล่าว มีจำนวน 35 คดีที่สิ้นสุดไปแล้ว เพราะผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจหรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีเพียงอัตราโทษปรับ เช่น ข้อหาตาม พ.ร.บ. ความสะอาด, ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ หรือข้อหากีดขวางการจราจร เป็นต้น ขณะที่คดีส่วนใหญ่ยังอยู่ในชั้นสอบสวน และเริ่มมีคดีที่ทยอยถูกสั่งฟ้องต่อศาลมากขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม: https://tlhr2014.com/archives/26506
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า