คนรุ่นใหม่วัย 20 กำลังสนใจและลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้นจริงหรือ
โค้ชหนุ่ม และโอมศิริ คุยกับ น้ำ-ธนธร กาญจนิศากร เจ้าของเพจ NamFinance ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะรอบด้าน ทั้งพิธีกร คนทำคอนเทนต์ เป็นนักวางแผนการเงินที่ให้ความรู้เรื่องการเงินการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
รู้จักตัวตน แนวคิด มุมมอง ผ่านเส้นทางการทำงาน รวมถึงวิธีคิดเรื่องเงินและการลงทุนใน The Money Growth เอพิโสดส่งท้ายซีซัน 2 นี้
หาความรู้เพิ่มเติมหรือหาโซลูชันที่ตอบโจทย์การลงทุน เหมาะกับผู้ที่อยากเตรียมพร้อมก่อนเริ่มลงมือ เข้าไปอ่านข้อมูลดีๆ ได้ที่ www.setinvestnow.com ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
อยากเปิดบัญชีลงทุน ไปที่เมนูเปิดบัญชี คลิกต่อไปยังโบรกเกอร์ที่พร้อมให้บริการได้ง่ายๆ เลยที่ www.setinvestnow.com/openacc
ก้าวแรกสู่วงการการเงินการลงทุน
เราเป็นเด็กต่างจังหวัดที่มีพ่อแม่ทำธุรกิจเกี่ยวกับด้านการเงินอยู่แล้ว จากนั้นก็ได้มีโอกาสไปเป็นนักเรียนทุนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โดยที่ทุนนั้นเป็นทุนแบบให้เปล่า ไม่ต้องใช้คืน ช่วงระหว่างเรียนเราก็ทำงานหลายอย่าง เช่น เป็นพิธีกร ทำงานเบื้องหลังต่างๆ ในช่วงที่เรียนเอกการเงินการลงทุนมีความรู้สึกว่าเรื่องการเงินมันฟังแล้วดูเครียดสำหรับทั้งตัวเองและคนทั่วไป จึงมีไอเดียอยากที่จะทำรายการเกี่ยวกับการเงินที่มันดูน่าอ่านและเข้าใจง่าย หลังจากที่เรียนจบมาก็ได้เป็นที่ปรึกษาการเงิน และมีพี่เฟิร์น ศิรัถยา เป็นไอดอลในเรื่องการเงินการลงทุนของตนเอง ตอนนั้นตัดสินใจทักไปหาพี่เฟิร์นในปี 2015 พอผ่านมา 2 ปี ก็ได้มีโอกาสไปร่วมงานกับพี่เฟิร์นตามที่ฝันจริงๆ ด้วยการไปเป็นพิธีกรรายการการเงินของ Wealth Me Up จุดนั้นทำให้เราเชื่อเสมอว่า แม้ว่าเราจะโฟกัสอะไรที่มันดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ ดูเหมือนยังห่างไกลเหลือเกิน แต่ถ้าเรายังโฟกัสมันอยู่เสมอ วันหนึ่งมันจะเป็นจริงได้แน่นอน ตั้งแต่นั้นมาเราก็ได้รับโอกาสอีกหลายอย่างตามมา และเริ่มเข้ามาทำงานด้านสื่อมากขึ้น จึงได้ตัดสินใจทำเพจ NamFinance ขึ้นมา และวาดรูปตัวการ์ตูนน้องเหรียญมาประกอบการเล่าเรื่องการเงินให้ดูน่าสนุกและเข้าใจง่ายมากขึ้น
แม้ว่าเราจะโฟกัสอะไรที่มันดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ ดูเหมือนยังห่างไกลเหลือเกิน แต่ถ้าเรายังโฟกัสมันอยู่เสมอ วันหนึ่งมันจะเป็นจริงได้แน่นอน
เรื่องการเงินของคนรุ่นเก่า vs. คนรุ่นใหม่
ต้องบอกเลยว่าคนยุคนี้โชคดีมากที่มีโอกาสเข้าถึงสื่อและความรู้ต่างๆ จากหลายแหล่ง ดังนั้นความสนใจเกี่ยวกับเรื่องการเงินจึงเปลี่ยนไปแน่นอน คนรุ่นเก่าอยากจะรู้เรื่องการเงินการลงทุนส่วนใหญ่ก็ไปตลาดหลักทรัพย์กัน แต่คนรุ่นใหม่อยากรู้เรื่องอะไรก็หาได้สะดวกและง่ายมากๆ นั่นทำให้เขาเริ่มอยากรู้มากขึ้นว่าการเก็บเงินแต่ละแบบเป็นอย่างไร มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม แนะนำว่าเราควรนำข้อมูลที่ได้มาคิดวิเคราะห์ต่อด้วยว่ามันเกิดประโยชน์กับตัวเราอย่างไรบ้าง และต้องระมัดระวังในการลงทุนตามคนอื่น เพราะวิธีการลงทุนของคนอื่นแม้มันอาจจะทำให้คนๆ นั้นประสบความสำเร็จในเรื่องการเงินการลงทุน แต่มันอาจจะไม่ได้เหมาะกับเราก็ได้ ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างที่แตกต่างกัน
คำถามเกี่ยวกับเรื่องการเงินที่คนถามบ่อยที่สุด
คำถามแรกที่ไม่อยากให้มาถามเลยก็คือจัดการหนี้สินตัวเองอย่างไรดี สิ่งที่น่ากลัวสำหรับยุคนี้คือคนใช้บัตรเครดิตกันค่อนข้างเยอะ และบางคนมองว่าการเป็นหนี้เป็นเรื่องปกติ ที่บอกแบบนี้ไม่ใช่ว่าหนี้เป็นอะไรที่จะทำให้คนเราล้มเหลวในชีวิตขนาดนั้น เพราะทุกอย่างมีทางออกเสมอ เพียงแต่เราต้องรู้จักตัวเองและค่อยๆ หาทางแก้ไขจนสำเร็จ อีกคำถามหนึ่งที่คนวัยเริ่มทำงานมาถามเยอะคือลงทุนอะไรดี ต้องบอกตรงๆ ว่าคำถามนี้เราไม่สามารถตอบได้ทันที เพราะมันแคบเกินไป จำเป็นต้องถามกลับไปว่าตอนนี้เป้าหมายด้านการเงินของเขามีอะไรบ้าง แล้วมีการวางแผนเกษียณไว้แล้วหรือยัง เพราะบางทีเราไปคิดกันแต่เรื่องการลงทุนให้เงินเติบโตเร็วๆ แต่ดันลืมคิดไปว่าเราจะให้เงินเติบโตเร็วๆ ไปเพื่ออะไร รวมถึงสถานการณ์ในชีวิตของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเรื่องนี้ต้องพูดคุยกันก่อนระดับหนึ่ง จึงจะแนะนำได้ว่าควรเลือกวิธีไหน ที่สำคัญเราต้องดูด้วยว่ากระแสรายรับรายจ่ายของเขาเป็นอย่างไร มีเงินเก็บสภาพคล่องหรือเปล่า ยิ่งในช่วงโควิด-19 เราจะเห็นได้ชัดเลยว่าเงินสดสำคัญมาก และเมื่อเรารู้ว่าเป้าหมายการลงทุนของเขาคืออะไร เราก็จะแบ่งเป้าหมายเป็นระยะสั้นกับระยะยาว จากนั้นค่อยไปวิเคราะห์ต่อว่าเป้าหมายนั้นน่าจะเหมาะสมกับสินค้าการเงินอะไร และเขาสามารถรับความเสี่ยงกับสินค้าการเงินนั้นๆ ได้หรือไม่
ส่วนใหญ่คนรุ่นใหม่คิดอย่างไรเกี่ยวกับชีวิตตนเอง
ส่วนใหญ่ที่เห็นคือเด็กรุ่นใหม่ต้องการเกษียณตั้งแต่อายุ 40-45 ปี ซึ่งเราก็ไม่ไปขัดเขา แต่จะใช้วิธีถามกลับไปว่าน้องเก็บเงินเดือนละแสนได้ไหม พอเขาตอบตัวเองได้เขาจะรู้ว่าบางครั้งความฝันกับความเป็นจริงมันไม่ได้สอดคล้องกัน หรือถ้าเป็นไปได้ก็มีอยู่ 3 อย่าง คือ
1. เงินต้นของเราต้องมีเยอะมากพอ
2. ระยะเวลาต้องมากพอที่เราจะเก็บเงินก้อนเพื่อเกษียณได้เร็วตามที่ต้องการ
3. เรื่องผลตอบแทน เราต้องวิเคราะห์นิสัยตัวเองก่อนว่าเราเป็นคนรับความเสี่ยงได้แค่ไหน บางคนอยากมีเงินก้อน 10-20 ล้าน แต่รับความเสี่ยงได้แค่เงินฝาก มันก็เป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง
คิดว่าตลาดหุ้นเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่หรือเปล่า
สถานการณ์ในช่วงนี้ทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมคนถึงคิดว่าตลาดหุ้นเป็นหนทางที่จะทำให้เงินเติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ถ้าสังเกตดูจะพบว่าคนที่เข้าไปในตลาดหุ้นช่วงนี้จะเป็นเรื่องของอารมณ์มากกว่าการวิเคราะห์หุ้นจากปัจจัยพื้นฐาน เพราะคนมองเรื่องการเก็งกำไรมากกว่าที่จะดูว่าบริษัทนั้นๆ ลงทุนกับอะไรและผลประกอบการเป็นอย่างไร แม้มันจะเป็นเรื่องปกติ แต่เราก็ต้องดูด้วยว่าเงินที่เราเอาไปลงทุนตรงนั้นมันปกติสุขของเราหรือเปล่า เข้าใจว่าทุกคนอยากเห็นเงินของตัวเองเติบโตด้วยกันทั้งนั้น แต่การที่เราจะไปลงทุนตรงนั้นเราต้องรู้ตัวด้วยว่าเรามีความเสี่ยง การที่เราเห็นหุ้นตัวหนึ่งติดบวก 20 เราต้องรู้ตัวด้วยว่าหุ้นตัวนั้นก็มีโอกาสติดลบ 20 ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นเราต้องคิดทั้งกรณีที่ได้และเสีย ถ้าเงินที่เรานำไปลงทุนตรงนั้นมันไม่นิ่งพอ ใจของเรามันก็จะไม่นิ่งแน่นอน ซึ่งถ้าเราไม่อยากเสี่ยงแบบนั้น และอยากให้มีคนมาช่วยดูแลเรื่องการเงิน กองทุนรวมอาจจะตอบโจทย์และง่ายกับเรามากกว่า
แบ่งสัดส่วนการลงทุนของตนเองอย่างไรบ้าง
ตัวเราเองไม่ได้มีเวลาที่จะมาอยู่หน้าจอตลอดเวลา ดังนั้นเงินส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่กองทุนรวม เพราะว่ามีผู้จัดการกองทุนมาช่วยดูแล แล้วก็มีเงินส่วนหนึ่งที่ลงทุนในหุ้นด้วย เราก็แบ่งออกเป็น 2 พอร์ต คือ พอร์ตที่เก็บยาวและพอร์ตที่เก็บเพื่อการเก็งกำไร ส่วนกองทุนรวมเราก็จะแบ่งไปตามเป้าหมายการเงินของตนเอง เช่น พอร์ตสำหรับเกษียณ พอร์ตสำหรับผ่อนคอนโด พอร์ตสำหรับซื้อของที่อยากได้ ซึ่งในแต่ละพอร์ตก็จะลงทุนต่างกัน จริงๆ แล้วมันก็มีหลายหลักในการแบ่ง ซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ดังนั้นเราต้องกระจายความเสี่ยงไว้ด้วย สิ่งที่จะช่วยเราได้มากก็คือการประเมินความเสี่ยงก่อนการลงทุน ซึ่งในสมัยนี้สะดวกมากๆ เพราะมีสรุปให้ด้วย หรือถ้าคิดง่ายๆ ก็คือ เอา 100 ตั้งลบด้วยอายุของเราตอนนี้ เช่น อายุ 20 ปี ลบออกมาก็จะเหลือ 80 นั่นแปลว่าเราสามารถลงทุนความเสี่ยงสูงได้เพราะเรายังอายุน้อยอยู่ ส่วนอีก 20% ก็อาจจะนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยง เช่น เงินฝาก สลากออมทรัพย์ หรือตราสารหนี้ต่างๆ เป็นต้น
บริหารการทำงานสไตล์ NamFinance
โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ชอบทำอะไรหลายอย่าง จึงต้องบริหารเวลาให้ดี ซึ่งจะมีหลักอยู่ 2 ข้อด้วยกัน คือ งานไหนที่จำเป็น และงานไหนที่เร่งด่วน ก่อนอื่นเราก็ต้องถามตัวเองว่างานไหนเราควรทำอะไร เพราะบางงานเราอาจจะมอบหมายให้คนอื่นทำแทนเราก็ได้ จากนั้นก็แบ่งเวลาให้ชัดเจน ในยุคนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอยู่กับโซเชียลตลอดเวลา มันไม่ผิดที่เราเล่น แต่เราต้องคิดว่าเราปล่อยให้เวลาไหลไปเรื่อยๆ หรือเปล่า ที่สำคัญเราต้องพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เราเป็นคนที่เราต้องการ เพราะมันจะทำให้เราไม่ต้องแบ่งเวลาไปพักผ่อน เพราะเราพักผ่อนไปพร้อมกับการใช้ชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เรื่องแบบนี้ต้องค่อยๆ ฝึกไปแล้วจะทำได้เอง
วิธีหางานที่ใช่สำหรับคนรุ่นใหม่
อาจจะลองสังเกตง่ายๆ ว่าตัวเราใช้เวลาอยู่กับอะไรมากที่สุด ต้องลองเอาตัวเองไปอยู่ในหลายๆ ที่แล้วทดลองทำ ถามตัวเองว่าเราอยู่แล้วมีความสุขและเพลิดเพลินกับมัน เราสนุกหรือปล่อยเวลาให้ไหลไปได้เรื่อยๆ ไหม อย่างน้ำเองเวลาวาดรูป น้ำจะไม่เล่นมือถือเลย เราโฟกัสมาก เราจะรู้ตัวเองว่าเราหลงใหลกับเรื่องนี้ ก็ค่อยๆ ศึกษาไป ถ้ารู้แล้วแต่ด้วยชีวิตประจำวันเรายังทำงานแบบนั้นไม่ได้ เราต้องเข้าใจก่อนว่าบางอย่างมันยังไม่ถึงเวลา มันต้องสะสมและยอมเหนื่อยก่อน เราอาจจะลองแบ่งเวลาดูว่าอะไรที่ทำให้เรามีความสุขที่นอกเหนือจากเรื่องงานไหม
สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เราเป็นคนที่เราต้องการ
นิยามความสำเร็จในด้านการเงิน
พึ่งพาตัวเองได้ ไม่ทำให้ใครเป็นห่วงหรือเดือดร้อนเพราะเรา การพึ่งพาตัวเองได้ไม่จำเป็นต้องวัดที่ตัวเงินว่าเยอะขนาดไหน เพราะสิ่งสำคัญของชีวิตคือมีเงิน มีความสำเร็จ และต้องมีความสุขด้วย เราควรมีทุกด้านไปพร้อมๆ กัน อยากฝากถึงคนรุ่นใหม่ว่าลองค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวเองทำแล้วได้ช่วยเหลือผู้คนและมีความสุขไปด้วย แล้วเรื่องอื่นจะตามมาเอง เพราะตัวเราเองที่มาถึงจุดนี้ได้เพราะอยากเห็นคนไทยมีการวางแผนเรื่องการเงินจริงๆ ถ้าเราทำเรื่องนี้ได้ ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแน่นอน
พึ่งพาตัวเองได้ ไม่ทำให้ใครเป็นห่วงหรือเดือดร้อนเพราะเรา เพราะสิ่งสำคัญของชีวิตคือมีเงิน มีความสำเร็จ และต้องมีความสุขด้วย
สามารถฟังพอดแคสต์ The Money Growth by The Money Coach
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
Show Creators จักรพงษ์ เมษพันธุ์, ภูมิชาย บุญสินสุข, นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ Show Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Project Manager ณปภัช ฤทธิอัครกุล
Episode Producer โอมศิริ วีระกุล
Sound Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Video Editor เสาวภา โตสวาท
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์
Videographer ศักดิภัท ประพันธ์วรคุณ
Graphic Designer นิสากร ฤทธาภัย
Show note หนึ่งฤดี ธนสารวิสุทธิ์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Webmaster ณฐพร โรจน์อนุสรณ์
Channel Admin เอกราช มอเซอร์
Social Media Admin สุทธกิตติ์ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วนัชพร ดวงนิล
Archive Officer ชริน จำปาวัน