นี่คือภาพรวมบางส่วน หลังจากส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนในหลายประเทศมีความพยายามที่จะจัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดซื้อจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 โดยตรง เพื่อเสริมเกราะป้องกันโรคระบาดให้กับประชาชนในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงช่วยรัฐบาลกลางรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศ
โดยวานนี้ (9 กุมภาพันธ์) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงคำสั่งของอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้รับคำวินิจฉัยจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้แจงแนวทางการจัดซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 ในระยะแรก โดยภาครัฐเท่านั้นที่จะสามารถดำเนินการจัดซื้อ และบริหารจัดการวัคซีน และกระจายวัคซีนตามแผนการบริหารจัดการวัคซีนเพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย และเพื่อให้สามารถติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน จึงยังไม่สามารถให้ภาคเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับผู้ผลิตวัคซีนได้โดยตรง
ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา ทำเนียบขาวเองก็ออกมาชี้แจงถึงกรณีในลักษณะเดียวกันนี้ หลัง แอนดรูว์ กูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก แสดงความจำนงอยากสั่งซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 จาก Pfizer-BioNTech โดยตรง ทางด้าน รอน เคลน เสนาธิการทำเนียบขาวระบุว่า รัฐบาลในแต่ละรัฐยังไม่สามารถจัดซื้อวัคซีนจากทางผู้ผลิตได้โดยตรง เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เพียงแต่ได้รับอนุญาตใช้ให้เป็นกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ยังจำเป็นต้องได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ เพิ่มเติม เมื่อต้องการซื้อขายวัคซีนในเชิงพาณิชย์
ส่วนทางการสหราชอาณาจักรเองก็ยังไม่มีแพลนที่จะอนุญาตให้ส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนจัดซื้อวัคซีนได้โดยตรง โดยรัฐยังคงเป็นผู้มีสิทธิ์สั่งซื้อ แจกจ่าย และฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ได้เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น อีกทั้งบริการฉีดวัคซีนดังกล่าว โดยประชาชนกลุ่มเสี่ยงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
ทางด้าน เม็กซิโก เป็นเพียงประเทศส่วนน้อยที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้ส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนจัดซื้อวัคซีนได้ ภายใต้เงื่อนไขบางประการ ไม่ว่าจะเป็น ต้องแจ้งรายละเอียดการจัดซื้อ และแผนงานทั้งหมดแก่รัฐบาลกลาง เพื่อไม่ให้กระทบเป้าหมายระดับชาติ ทั้งยังจะต้องเป็นวัคซีนตัวที่ทางการอนุญาตให้ใช้งานเป็นกรณีฉุกเฉินแล้วเท่านั้น
โดยเหตุผลสำคัญบางประการที่รัฐบาลหลายประเทศเห็นพ้องว่า ในระยะแรกนี้ยังไม่ควรอนุญาตให้ภาคส่วนอื่นจัดซื้อวัคซีนได้โดยตรง เป็นเพราะวัคซีนยังอยู่ในช่วงอนุญาตให้ใช้ได้เป็นกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ยังไม่มีวัคซีนตัวใดได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นวงกว้าง หรือซื้อขายในเชิงพาณิชย์ ยังมีประเด็นเรื่องของความปลอดภัย ผู้ผลิตและทดสอบวัคซีนบางรายก็ยังไม่มีแพลนที่จะขายให้ส่วนท้องถิ่นหรือภาคเอกชนโดยตรง รวมถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในปัจจุบันมีปริมาณจำกัด หากอนุญาตอาจยิ่งก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนวัคซีนอย่างหนัก กระทบเป้าฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดในแต่ละประเทศ อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีน เกิดการลัดคิวหรือเกิดความท้าทายในการรับมือวิกฤตโควิด-19 อื่นๆ ตามมา
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- เช็กประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิด-19 ล่าสุดในประชาคมโลก ได้ที่ https://thestandard.co/coronavirus-vaccine-quality-check/
- ชม ‘อันดับประเทศที่รับมือวิกฤตโควิด-19 ได้ดีที่สุด โดย Lowy Institute’ ได้ที่ https://thestandard.co/best-covid-19-response-countries-ranking-by-lowy-institute/
- ชม ‘กางแผนที่โลก EIU คาดการณ์แต่ละประเทศจะฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ประชาชนได้ตามเป้าเมื่อไร’ ได้ที่ https://thestandard.co/eiu-predicts-when-each-country-vaccinated-against-covid-19/
อ้างอิง:
- https://thestandard.co/ombudsman-decision/
- https://www.cnbc.com/2021/01/24/white-house-says-states-cant-purchase-covid-vaccine-directly.html
- https://www.reuters.com/article/health-coronavirus-mexico-vaccine-idUSE1N2HU01K
- https://tlcmagazinemexico.com.mx/en/2021/01/22/mexico-autoriza-a-gobiernos-locales-y-empresas-adquirir-vacunas-contra-covid/
- https://www.thesmartclinics.co.uk/private-covid-vaccine-not-yet-available/
- https://www.gov.uk/government/publications/covid-19-vaccination-why-you-are-being-asked-to-wait/why-you-have-to-wait-for-your-covid-19-vaccine