×

จ๊อบส์ ดีบี เปิดรายงานเงินเดือนปี 64 พบงาน ‘ไอที-ดิจิทัล’ มาแรง คว้าท็อป 3 ค่าตัวแพง มีเงินเดือนเริ่มต้นสูงถึง 41,122 บาท

08.02.2021
  • LOADING...
จ๊อบส์ ดีบี เปิดรายงานเงินเดือนปี 64

จ๊อบส์ ดีบี เผยรายงานอัตราเงินเดือนของพนักงานไทยประจำปี 2564 (Salary Report 2021) ข้อมูลฐานเงินเดือนต่ำสุด-สูงสุดแบ่งตามประเภทงาน ครอบคลุมตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ถึงระดับผู้บริหาร พบว่าในปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ผนวกกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในทุกภาคส่วน ส่งผลเป็นวงกว้าง ทำให้ภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ ต้องหันมาประยุกต์และปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน 

 

อีกทั้งเติบโตไปพร้อมกับแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่กำลังได้รับความนิยม เพื่อขับเคลื่อน ผลักดันให้ธุรกิจก้าวทันโลกที่กำลังเปลี่ยนไป จึงเป็นเหตุให้ความต้องการในตลาดแรงงานส่วนใหญ่เกิดการเปลี่ยนแปลง และมีการจ่ายผลตอบแทนเพื่อดึงดูดคนทำงานเพิ่มมากขึ้นในสายเฉพาะทาง โดย ‘ไอที-ดิจิทัล’ ถือว่ามาแรง สามารถคว้าท็อป 3 ค่าตัวแพงไปได้ ซึ่งสามารถลงรายละเอียดข้อมูลฐานเงินเดือนต่ำที่สุด-สูงที่สุดแบ่งตามประเภทงาน ดังต่อไปนี้

 

ระดับเจ้าหน้าที่ (Officer Level)

  1. สายงานไอที มียอดเงินเดือนเริ่มต้นสูงสุดระหว่าง 23,225-41,122 บาท 
  2. สายงานบริการเฉพาะทาง ระหว่าง 22,872-39,331 บาท 
  3. สายงานโทรคมนาคม ระหว่าง 22,785-38,612 บาท
  4. สายงานบริการด้านการแพทย์ ระหว่าง 21,945-37,320 บาท 
  5. สายงานอีคอมเมิร์ซ ระหว่าง 21,599-35,283 บาท 
  6. สายงานวิศวกรรม ระหว่าง 21,406-35,571 บาท 
  7. สายงานธนาคาร ระหว่าง 21,036-37,623 บาท 
  8. สายงานประกันภัย ระหว่าง 21,025-34,860 บาท 
  9. สายงานจัดซื้อ ระหว่าง 20,829-33,442 บาท
  10. สายงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ ระหว่าง 20,524-32,589 บาท

 

ระดับหัวหน้างาน (Supervisor Level)

  1. สายงานอีคอมเมิร์ซ มียอดเงินเดือนเริ่มต้นสูงสุดระหว่าง 36,857-64,787 บาท 
  2. สายงานโทรคมนาคม ระหว่าง 36,541-67,134 บาท 
  3. สายงานไอที ระหว่าง 36,522-66,920 บาท
  4. สายงานบริการเฉพาะทาง ระหว่าง 35,962-63,888 บาท 
  5. สายงานประกันภัย ระหว่าง 35,802-63,790 บาท 
  6. สายงานบัญชี ระหว่าง 35,252-58,403 บาท 
  7. สายงานธนาคาร ระหว่าง 35,124-64,460 บาท 
  8. สายงานขนส่ง ระหว่าง 35,049-55,624 บาท 
  9. สายงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ ระหว่าง 35,037-59,943 บาท 
  10. สายงานธุรการและงานทรัพยากรบุคคล ระหว่าง 34,919-56,372 บาท

 

ระดับผู้จัดการ (Manager Level)

  1. สายงานประกันภัย มียอดเงินเดือนเริ่มต้นสูงสุดระหว่าง 55,762-90,716 บาท 
  2. สายงานไอที ระหว่าง 54,435-93,324 บาท 
  3. สายงานธนาคาร ระหว่าง 52,993-94,481 บาท 
  4. สายงานโทรคมนาคม ระหว่าง 52,353-94,607 บาท 
  5. สายงานบริการเฉพาะทาง ระหว่าง 52,274-90,941 บาท 
  6. สายงานบัญชี ระหว่าง 52,061-86,158 บาท 
  7. สายงานธุรการและงานทรัพยากรบุคคล ระหว่าง 51,803-85,079 บาท 
  8. สายงานวิทยาศาสตร์ งานห้องปฏิบัติการ และงานวิจัยพัฒนา ระหว่าง 51,615-88,427 บาท 
  9. สายงานขนส่ง ระหว่าง 51,302-80,680 บาท 
  10. สายงานวิศวกรรม ระหว่าง 51,237-84,776 บาท

 

ระดับผู้บริหาร (Top Level)

  1. สายงานบริการเฉพาะทาง มียอดเงินเดือนเริ่มต้นสูงสุดระหว่าง 113,563-164,071 บาท 
  2. สายงานอีคอมเมิร์ซ ระหว่าง 113,271-161,588 บาท 
  3. สายงานธนาคาร ระหว่าง 112,917-165,114 บาท 
  4. สายงานวิทยาศาสตร์ งานห้องปฏิบัติการ และงานวิจัยพัฒนา ระหว่าง 109,726-160,753 บาท
  5. สายงานการผลิต ระหว่าง 109,566 ถึง -161,045 บาท 
  6. สายงานบริการด้านการแพทย์ ระหว่าง 106,630-158,478 บาท 
  7. สายงานไอที ระหว่าง 105,135-160,033 บาท 
  8. สายงานบัญชี ระหว่าง 104,978-159,970 บาท 
  9. สายงานธุรการและงานทรัพยากรบุคคล ระหว่าง 104,714-156,134 บาท 
  10. สายงานวิศวกรรม ระหว่าง 102,298-153,763 บาท

 

พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากรายงานอัตราเงินเดือนข้างต้น พบว่า สายงานไอที-ดิจิทัล ทุกระดับงานไต่อันดับขึ้นเมื่อเทียบกับผลการสำรวจเมื่อ 2 ปีก่อน โดยเฉพาะในระดับเจ้าหน้าที่ที่ขึ้นแท่นอันดับ 1 จากอันดับ 3 อีกทั้งระดับหัวหน้างานและระดับผู้บริหารที่ติดโผสายงานหน้าใหม่ที่มีเงินเดือนสูง จากที่เคยอยู่ในอันดับ 13 และ 12 ตามลำดับ ในเวลาเพียง 2 ปี ตอกย้ำให้เห็นถึงความต้องการคนทำงานจากผลของการปฏิรูปและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) 

 

นอกจากนี้ยังมีอีกสองสายงานที่น่าจับตามอง ได้แก่ สายงานโทรคมนาคม ที่ขึ้นมาติดอันดับ 1 ใน 5 ในระดับเจ้าหน้าที่ ระดับหัวหน้างาน และระดับผู้จัดการ สายงานธนาคาร ที่ปรับขึ้นมาติดอันดับ 1 ใน 10 ของรายงานในทุกระดับงาน สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตของทั้งสองสายงานหลังการปฏิรูปและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเช่นกัน เห็นได้จากธนาคารต่างๆ ที่หันมาให้ความสำคัญกับดิจิทัลแบงกิ้ง จนมียอดธุรกรรมออนไลน์เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และปรับรูปแบบการให้บริการของธนาคารสู่ดิจิทัลเต็มตัว เป็นเหตุให้สายงานธนาคารมีความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านไอที การวิเคราะห์ข้อมูล การสร้างบริการใหม่ๆ มาช่วยพัฒนาระบบดิจิทัลแบงกิ้ง 

 

และสายงานโทรคมนาคม ที่พบว่าไม่ได้มีเพียงแค่องค์กรยักษ์ใหญ่เท่านั้นที่มีสถิติฐานเงินเดือนที่สูงขึ้น แต่ยังรวมถึงองค์กรขนาดกลางและเล็กที่ลงสนามแข่งขัน เพื่อแย่งชิงบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านไอทีมาช่วยพัฒนารากฐานระบบต่างๆ ขององค์กรให้พร้อมต่อการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในภาคเศรษฐกิจ ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ที่สร้างปรากฏการณ์นิวนอร์มอล (New Normal) ทำให้หลายองค์กรต้องหันมาปรับตัวพึ่งพาแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ มากขึ้นอีกด้วย

 

นอกจากนี้ จ๊อบส์ ดีบี (JobsDB) ยังได้เผยถึงความต้องการแรงงานประจำปี 2563 ซึ่งสะท้อนแนวโน้มการกลับมาของหลายภาคธุรกิจในปีนี้ พบ 10 อันดับสายงานที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาด โดยพบว่าสายงานที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ได้แก่ 

 

  1. สายงานไอที คิดเป็น 19% 
  2. สายงานขาย งานบริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 17% 
  3. สายงานวิศวกรรม คิดเป็น 10%
  4. สายงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ คิดเป็น 8% 
  5. สายงานบัญชี คิดเป็น 7% 
  6. สายงานธุรการและงานทรัพยากรบุคคล คิดเป็น 7% 
  7. สายงานธนาคาร คิดเป็น 5%
  8. สายงานการผลิต คิดเป็น 3% 
  9. สายงานขนส่ง คิดเป็น 3% 
  10. สายงานบริการเฉพาะทาง คิดเป็น 2% 

 

โดยสอดคล้องกับอัตราเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นในสายงานเหล่านี้ และเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัลที่สายงานไอที-ดิจิทัล กำลังได้รับความนิยม จ๊อบส์ ดีบี ยังได้มีการแนะถึง 3 ทักษะใหม่ที่คนทำงานต้องมีในยุคนิวนอร์มอล ได้แก่ ทักษะความรู้ด้านไอที ความสามารถในการสื่อสาร และความสามารถในการรู้จักและเข้าใจตัวเอง 

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X