นี่คือภาพรวมประสิทธิภาพในการต้านโควิด-19 ของวัคซีนในประชาคมโลกขณะนี้ รวมถึงประเทศที่อนุมัติให้ใช้วัคซีนในวงกว้างและในกรณีฉุกเฉินได้แล้ว โดยวัคซีนจาก Pfizer-BioNTech ซึ่งเป็นวัคซีนประเภท Genetic Vaccines ที่ใช้ mRNA เช่นเดียวกับ Moderna มีประสิทธิภาพในการต้านโควิด-19 สูงถึง 95% ทั้งยังเป็นวัคซีนตัวแรกที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกและได้รับการอนุมัติให้ใช้ในหลายประเทศที่สุดในช่วงเวลานี้
ขณะที่วัคซีนจาก Moderna มีประสิทธิภาพในการต้านโควิด-19 อยู่ที่ 94.5% เพิ่งจะได้รับการอนุมัติการใช้จากสหภาพยุโรปไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 ที่ผ่านมา อนุมัติการใช้แล้วในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แคนาดา อิสราเอล และสวิตเซอร์แลนด์
ส่วนวัคซีน Sputnik V จากสถาบัน Gamaleya ของรัสเซียที่เป็นวัคซีนประเภท Viral Vector Vaccines เป็นวัคซีนตัวล่าสุดที่ผลการทดสอบประสิทธิภาพที่กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 ได้เผยแพร่ในวารสารงานวิจัยอย่าง The Lancet โดยมีประสิทธิภาพต้านโควิด-19 อยู่ที่ 91.6% ซึ่งสอดคล้องและใกล้เคียงกับผลการทดสอบวัคซีนที่ทางผู้ผลิตและทดสอบอย่างสถาบัน Gamaleya เคยเผยเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้ว่า มีประสิทธิภาพ 91.4% เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังหลายฝ่ายมีความกังวลถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของตัววัคซีน เนื่องจากทางการรัสเซียได้อนุมัติใช้ก่อนที่จะมีการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างในระยะที่ 3 ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา
ทางด้านวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ทดสอบและผลิตโดยองค์กรสัญชาติจีน ได้เผยประสิทธิภาพในการต้านโควิด-19 แล้ว 2 ตัวคือ วัคซีน BBIBP-CorV จาก Sinopharm ที่มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 79.34% ขณะที่วัคซีน CoronaVac จาก Sinovac ที่ประเทศไทยสั่งจองนั้นมีประสิทธิภาพการต้านโควิด-19 หลากหลายค่า จากเดิมที่ผลการทดสอบประสิทธิภาพต้านโควิด-19 ในบราซิลอยู่ที่ 78% ก่อนที่จะปรับลดลงมาเหลือเพียง 50.38% เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคม 2021 ที่ผ่านมา จนทำให้เกิดกระแสความวิตกกังวลถึงความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 จากจีนในประชาคมโลก
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า