×

อ่านผล ‘แพ้-ชนะ’ ศึก GameStop ผ่านมุมมองกูรูเมืองไทย เมื่อ ‘เกม’ ใกล้จะ ‘สต็อป’

02.02.2021
  • LOADING...
GameStop

HIGHLIGHTS

  • ศึกระหว่างรายย่อย Reddit และเฮดจ์ฟันด์เริ่มเข้าใกล้จุดจบขึ้นทุกที หลังจากปริมาณชอร์ตเซลแผ่วลง 
  • กูรูตลาดหุ้นไทยมองผลลัพธ์ของปรากฏการณ์นี้ว่ารายย่อยคือผู้ชนะแบบมีเงื่อนไข 
  • มองอนาคตโครงสร้างตลาดหุ้นเปลี่ยนตามอำนาจและผู้มีอิทธิพล 

ศึก GameStop ระหว่างนักลงทุนรายย่อยที่ใช้โซเชียลมีเดียชื่อดังอย่าง Reddit เพื่อร่วมห้ำหั่นกับเฮดจ์ฟันด์ที่พากันเปิดสถานะชอร์ตเซลอย่างล้นหลาม เพราะคาดว่าท้ายที่สุดราคาหุ้น GameStop ต้องปรับลดลง และบางเฮดจ์ฟันด์ก็ทำนายในทางเลวร้ายที่สุดว่า GameStop จะรันธุรกิจต่อไม่ไหวและต้องปิดกิจการ 

 

ศึกนี้ยังไม่จบดี แต่ก็เริ่มมีสัญญาณของจุดจบให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าการซื้อขายที่เริ่มลดลง ความผันผวนของราคาหุ้นที่ลดลง ราคาหุ้นปรับลดลงต่อเนื่องแม้ว่าจะยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงเกิดศึกก็ตาม และตัวชี้วัดสัญญาณสุดท้ายก็คือชอร์ตเซลที่เริ่มลดลง สะท้อนว่าเฮดจ์ฟันด์หลายรายเริ่มยอมแพ้และซื้อหุ้นในราคาแพง (กว่าราคาชอร์ตเซล) เพื่อปิดสถานะ ด้วยหวังว่าจะไม่ขาดทุนมากไปกว่านี้ 

 

ปรากฏการณ์นี้บอกอะไรแก่นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยบ้าง  

 

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่านักลงทุนไทยควรจะมองปรากฏการณ์ GameStop ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นกรณีศึกษา โดยราคาหุ้น GameStop ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากการรวมตัวเข้าซื้อของนักลงทุนรายย่อย หรือกลุ่ม WallStreetBets ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Reddit หลังจากนักลงทุนสถาบันขายชอร์ตจำนวนมาก 

 

กรณีนี้นักลงทุนต้องพิจารณาว่าหากคิดจะทำในลักษณะเดียวกันคงต้องศึกษาพื้นฐานของหุ้นให้ดี ไม่ใช่รวมตัวกันแล้วทำตามกระแสเหมือนในต่างประเทศ เพราะอาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อการลงทุนได้ เนื่องจากราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาจะต้องอาศัยพื้นฐานประกอบด้วย 

 

อย่างไรก็ตาม มองว่าหน่วยงานด้านตลาดทุนของไทยคงจะยังไม่มีการพิจารณาออกกฎเกณฑ์ใดๆ มาควบคุมการขายชอร์ต แต่หากพบว่ามีการปั่นราคาหุ้นหรือมีการกระทำที่อาจจะออกไปในแนวทางดังกล่าวได้ ก็เชื่อว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีกฎหมายที่พร้อมรับมือ

 

“อย่าซื้อตามกระแสเพราะราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปมาจากการรวมตัวกันซื้อ และถ้าเราเข้าไปและเป็นคนสุดท้ายที่ติดอยู่ตรงนั้นก็จะเป็นปัญหาได้” ไพบูลย์กล่าว

 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor) ชั้นแนวหน้าของประเทศ กล่าวว่ากรณีหุ้น GameStop น่าจะจบลงเร็วๆ นี้ และท้ายที่สุดราคาหุ้นน่าจะกลับไปยืนอยู่ในช่วงที่มีนักลงทุนรายใหม่อย่าง ไรอัน โคเฮน เข้ามาซื้อหุ้นราว 10% (ราคาประมาณ 25-30 ดอลลาร์ต่อหุ้น) พร้อมกับยุทธศาสตร์ที่จะปรับกลยุทธ์ในองค์กรเพื่อผลักดันให้ GameStop รอดพ้นจากวิกฤตเทคโนโลยีดิสรัปต์

 

GameStop

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor) ชั้นแนวหน้าของประเทศ 

 

โดยราคาหุ้นปัจจุบันของ GameStop อยู่ราว 200 ดอลลาร์ต่อหุ้น ขณะที่ช่วงร้อนแรงสุดเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ราคาหุ้นอยู่ที่ราว 370 ดอลลาร์ต่อหุ้น  

 

“คิดว่าไม่นานก็น่าจะจบลง และลักษณะการปรับลดลงของราคาหุ้นก็จะอาจจะรวดเร็วมากๆ เหมือนกับขาขึ้นก็เป็นไปได้” 

 

หากให้ประเมินผู้ชนะ แน่นอนว่าชัยชนะศึกนี้เป็นของนักลงทุนรายย่อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารายย่อยทุกคนจะเป็นผู้ชนะ เพราะการเข้าไปไล่ซื้อหุ้น GameStop ของนักลงทุนรายย่อยแต่ละคนนั้นมีต้นทุนที่ต่างกัน ช่วงเวลาที่ต่างกัน และความสามารถในการรับความเสี่ยงที่ต่างกันไป 

 

ฉะนั้นหากให้หาผู้ชนะที่แท้จริงในศึกนี้ก็คือคนที่มีส่วนร่วมตั้งแต่ช่วงแรกๆ และขายหุ้นออกไปแล้วในช่วงราคาพีกนั่นเอง 

 

ผลลัพธ์ที่สำคัญกว่าใครคือผู้ชนะก็คือปรากฏการณ์นี้กำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดหุ้นวอลล์สตรีท จากก่อนหน้านี้ที่กลุ่มชี้นำ (Manipulate) ตลาดคือกองทุนขนาดใหญ่และเฮดจ์ฟันด์ ส่วนนักลงทุนรายย่อยในวอลล์สตรีทแทบไม่มีบทบาทใด และส่วนมากก็มักจะถูกเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา 

 

ทว่าเมื่อเทคโนโลยีมีวิวัฒนาการขึ้น กำแพงที่เคยสูงกลับเตี้ยลง นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงตลาดหุ้นได้มากขึ้นในต้นทุน (ค่าธรรมเนียม) ที่พอรับไหว จึงเอื้อให้กำลังพลของกลุ่มรายย่อยมีเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และสามารถต่อกรกับผู้ชี้นำที่ผูกขาดมาอย่างยาวนานได้ในที่สุด ประกอบกับช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้างขึ้นอย่าง Reddit ทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันง่าย การเปิดศึกกับเฮดจ์ฟันด์ครั้งนี้จึงเกิดขึ้นได้ 

 

“กระแสของโลกยุคใหม่ที่จะมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในทุกด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และตลาดหุ้น ทุกคนจะมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น มีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น คนตัวเล็กทุกคนจะมีความหมายด้วยการรวมพลังผ่านสื่อที่ทรงประสิทธิภาพ นั่นก็คืออินเทอร์เน็ตที่จะสามารถล้มระบบเก่าที่เป็นอยู่มาช้านานได้” ดร.นิเวศน์กล่าวปิดท้าย 

 

สอดคล้องกับ ดร.อริชัย รักธรรม อาจารย์ NEO Academy หลักสูตร Mini MBA: Digital Business Management และอาจารย์พิเศษภาควิชาการเงิน วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงความคิดเห็นต่อปรากฏการณ์นี้ว่า หากย้อนไป 10 ปีก่อนไม่มีทางเป็นไปได้ แต่โลกยุคดิจิทัลได้แสดงพลังอีกมุมหนึ่งที่อาจจะเป็นหายนะย้อนกลับมายังผู้เล่นในตลาดก็เป็นได้

 

รายย่อย vs พรีเมียร์ลีก

ปรากฏการณ์ครั้งนี้ รายย่อยอย่างเดียวไม่สามารถลากขึ้นไปได้ น่าจะมีกองทุนสถาบันอื่นมาร่วมด้วยเป็นขบวนการ เพราะตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นตลาดที่ใหญ่มาก กูรูในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างไม่เชื่อว่าด้วยปริมาณการซื้อขายมหาศาลขนาดนี้จะเป็นแรงซื้อจากรายย่อยเพียงอย่างเดียว นักลงทุนรายย่อยเปรียบเสมือนนักเตะท้องถิ่นที่ไม่มีทางสู้นักเตะระดับพรีเมียร์ลีกได้ เมื่อนักลงทุนสถาบันสบโอกาสการทำกำไรไล่ราคาตาม หรืออาจเห็นช่องทางร่วมวงแก้แค้นเฮดจ์ฟันด์ที่ตกเป็นเป้า จึงเทเงินเข้ามาร่วมวง แต่อย่าลืมว่ากองทุนสถาบันมีความรู้และประสบการณ์มากกว่า เมื่อถึงเวลาทำกำไร กองทุนเหล่านี้ย่อมรู้จังหวะออกก่อน และปล่อยให้รายย่อยตกเป็นผู้บาดเจ็บในที่สุด 

 

GameStop

 

ถือเงินแห่กันเข้าไปในโลก Reddit

ช่วงเวลานี้เงินกำลังสะพัดในสหรัฐฯ จากนโยบายแจกเงินช่วยพิษโควิด-19 ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน สังเกตว่าหุ้น GameStop ถูกปั่นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ประชาชนได้เงินช่วยเหลือพอดี ในห้วงเวลาที่คนกำลังตกงาน ไม่มีอะไรทำ แต่อยากหารายได้เสริม จึงผันตัวมาเป็นนักลงทุนรายวัน (Day Trade) เข้าไปเสพสื่อสังคมออนไลน์ที่ชื่อว่า Reddit แหล่งรวมผู้คลั่งไคล้โลกยุคดิจิทัล เมื่อกระแสเรื่องหุ้น GameStop ถูกจุดขึ้นมา ทุกคนต่างแห่เข้าไปตามกัน (Herding Behavior) 

 

เหตุการณ์นี้จึงคล้ายกับบิตคอยน์ที่ถูกกล่าวถึงมากใน Reddit ก่อนหน้านี้จนทำให้ราคาเหรียญพุ่งทะลุ 1 ล้านบาท อย่าลืมว่ารัฐบาลมีโครงการจะเติมเงินเข้ามาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าน่าจะยังมีเงินหมุนวนไปยังหุ้นตัวอื่นๆ ต่อไป 

 

ขณะนี้เริ่มเห็นกระแสการปั่นหุ้นตัวอื่นที่มีสตอรีคล้ายๆ กัน คืออนาคตริบหรี่ในยุคดิจิทัล เช่น หุ้นโรงหนัง AMC Entertainment Holdings (AMC) ที่ถูก Netflix เข้ามาเปลี่ยนโลกของการดูหนัง หรือหุ้นของใช้ภายในบ้าน Bed Bath & Beyond (BBBY) ที่โดน Amazon เปลี่ยนโลกการซื้อของแบบไม่ต้องเดินห้างอีกต่อไป 

 

การลงทุนยุคดิจิทัล ทำให้ทุกอย่างง่าย(เกินไป)

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีแรงซื้อมหาศาลคือได้นักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาเติม และช่องทางหลักของปรากฏการณ์นี้คือแอปพลิเคชันเทรดหุ้น Robinhood จุดเด่นของแอปพลิเคชันนี้คือการไม่คิดค่าธรรมเนียมการเทรดใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะไปเก็บค่านายหน้าจากบรรดาโบรกเกอร์แทน นั่นทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ไม่มีต้นทุนในการเข้ามา ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาลูกค้าของ Robinhood กวาดซื้อหุ้นจำนวนมาก ทำให้ Clearinghouse กำหนดให้ Robinhood ต้องจ่ายเงินค่าหุ้นมากกว่าเดิมถึง 10 เท่า ผลคือ Robinhood ต้องระงับการซื้อหุ้นชั่วคราว เพราะมีเงินไม่พอ 

 

แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือนักลงทุนที่ไม่มีความรู้กระโดดเข้ามาในตลาดแบบไม่รู้อีโหน่อีเหน่ เข้ามาในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนอย่างสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แล้วใช้บัญชีมาร์จิน (Margin Account) โดยนักลงทุนจ่ายเงินซื้อเองส่วนหนึ่ง และกู้จากโบรกเกอร์มาอีกส่วนหนึ่ง หากเงินในพอร์ตลดต่ำลงจนโดนคอลมาร์จินจะต้องเติมเงินเข้าไปทันที อาจถึงขั้นต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อจ่ายในที่สุด

 

ดร. อริชัย ทิ้งท้ายว่าโลกการเงินการลงทุนยุคดิจิทัลเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ด้านหนึ่งคือโอกาส แต่อีกด้านคือพื้นที่ล่อเหยื่อให้เข้ามาบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นที่สถาบันการศึกษาต้องให้ข้อมูลอย่างรอบด้านและรวดเร็วที่สุด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคม ไม่เสพสื่อด้านเดียวจากอัลกอรึทึมของโลกออนไลน์ 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X