×

EU-AstraZeneca ระบุหลังหารือว่า จะแก้ไขปัญหาจัดหาวัคซีนล่าช้าร่วมกัน หลังมีท่าทีขัดแย้งกันก่อนหน้านี้

29.01.2021
  • LOADING...
EU-AstraZeneca ระบุหลังหารือว่า จะแก้ไขปัญหาจัดหาวัคซีนล่าช้าร่วมกัน หลังมีท่าทีขัดแย้งกันก่อนหน้านี้

สหภาพยุโรป (EU) และ AstraZeneca ให้คำมั่นภายหลังการหารือเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า จะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขความไม่ลงรอย หลังจากที่ AstraZeneca ไม่สามารถจัดหาวัคซีนตามกำหนดให้กับสหภาพยุโรปได้ โดย AstraZeneca ระบุว่า เรื่องดังกล่าวเกิดจากปัญหาในกระบวนการผลิตวัคซีนในโรงงานที่เนเธอร์แลนด์และเบลเยียม ซึ่งทำให้กระบวนการผลิตล่าช้ากว่าที่ต้องการไปราวสองเดือน

 

หลังการหารือระหว่างสองฝ่ายดังกล่าว สเตลลา คีเรียคิเดส กรรมาธิการสาธารณสุขของสหภาพยุโรป แสดงความเสียใจต่อการขาดความชัดเจนเรื่องกำหนดการส่งมอบวัคซีนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทั้งคีเรียคิเดสกับโฆษกของ AstraZeneca ล้วนแสดงท่าทีว่าจะทำงานร่วมกันเพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ต่อไป

 

ทั้งนี้ มีรายงานว่าแต่เดิมนั้น เมื่อสหภาพยุโรปอนุมัติการใช้วัคซีนของ AstraZeneca แล้ว สหภาพยุโรปคาดหวังว่า AstraZeneca จะจัดส่งวัคซีนกว่า 80 ล้านโดสให้กับ 27 ชาติสมาชิกในสหภาพยุโรปได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ แม้จะไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการว่าวัคซีนที่จัดส่งได้จริงจะมีจำนวนเท่าใด แต่สำนักข่าว Reuters ระบุโดยอ้างแหล่งข่าวว่าการจัดหาวัคซีนภายในช่วงเวลาดังกล่าวอาจทำได้เพียง 31 ล้านโดสเท่านั้น

 

Reuters ยังรายงานอีกว่า สหภาพยุโรปมีความพยายามในการขอให้ AstraZeneca แบ่งวัคซีนที่ผลิตในสหราชอาณาจักรมาแจกจ่ายให้กับสหภาพยุโรปจนถึงเดือนมีนาคมเพื่อชดเชยกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ ไมเคิล โกฟ รัฐมนตรีประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร ยืนยันผ่านรายการวิทยุของ BBC ว่า ไม่อนุญาตให้มีการแบ่งวัคซีนไปยังสหภาพยุโรป โดยการจัดหาวัคซีนที่ได้วางแผน ชำระเงิน และกำหนดเวลาไว้แล้วจะดำเนินต่อไป

 

“จะไม่มีการหยุดชะงักในเรื่องนี้” โกฟระบุ

 

และถ้าไปดูเหตุการณ์ก่อนการหารือ ปาสคาล โซริออท ซีอีโอของ AstraZeneca ก็ไปให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ในอิตาลีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ระบุว่าสัญญาระหว่างสหภาพยุโรปและ AstraZeneca กำหนดเพียงว่าให้ใช้ ‘ความพยายามอย่างเต็มที่’ แทนที่จะบังคับให้จัดหาวัคซีนตามกำหนดเส้นตาย

 

โซริออทยังระบุด้วยว่า สหราชอาณาจักรเซ็นสัญญากับ AstraZeneca ก่อนสหภาพยุโรป 3 เดือน ซึ่งเวลาที่มีเพิ่มนี้เองทำให้บริษัทสามารถจัดการแก้ไขข้อบกพร่องที่พบได้ และสหราชอาณาจักรก็ยืนยันว่าวัคซีนที่ผลิตจากห่วงโซ่การผลิตในสหราชอาณาจักรจะถูกนำไปให้กับสหราชอาณาจักรก่อนเป็นอันดับแรก เขายังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตามสัญญากับสหภาพยุโรปนั้น มีการระบุว่าฐานการผลิตในสหราชอาณาจักรเป็นทางเลือกสำหรับยุโรป แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นในภายหลังเท่านั้น

 

“เมื่อใดก็ตามที่เราสามารถบรรลุจำนวนการฉีดวัคซีนในสหราชอาณาจักรได้อย่างเพียงพอ เราก็จะสามารถใช้ฐานการผลิตนั้นเพื่อช่วยยุโรปได้เช่นกัน” โซริออทกล่าว ถึงกระนั้นเขาก็ยืนยันว่าการจัดหาวัคซีนในสหราชอาณาจักรก็เป็นไปอย่างรวดเร็วมากในขณะนี้

 

ส่วนฝั่งคีเรียคิเดส ซึ่งเป็นกรรมาธิการของสหภาพยุโรปเอง กลับระบุข้อคิดเห็นสวนทางอย่างชัดเจนว่า มุมมองที่ว่าบริษัทวัคซีนไม่มีภาระบังคับที่จะต้องจัดหาวัคซีนเนื่องจากเป็นสัญญาแบบให้ใช้ ‘ความพยายามอย่างเต็มที่’ นั้น ถือเป็นเรื่องที่ ‘ไม่ถูกต้อง’ หรือ ‘ไม่สามารถยอมรับได้’ โดยระบุว่าตรรกะของสัญญาดังกล่าวคือ สหภาพยุโรปได้ลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ได้รับสัญญาผูกพันจากบริษัทที่จะดำเนินการผลิตล่วงหน้าก่อนที่วัคซีนจะได้รับอนุญาต

 

“เราได้ลงนามในสัญญาการสั่งซื้อล่วงหน้าสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่มีอยู่ในขณะนั้น (ในอดีต) และยังไม่ได้รับอนุญาตในปัจจุบัน และเราลงนามอย่างถูกต้อง เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทจะสร้างกำลังการผลิตเพื่อผลิตวัคซีนตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้นพวกเขาจะสามารถจัดหาวัคซีนในปริมาณที่แน่นอน ณ วันที่วัคซีนได้รับอนุญาตเรียบร้อยแล้ว” คีเรียคิเดสระบุ พร้อมบอกว่าสหภาพยุโรปปฏิเสธตรรกะแบบ ‘First come, First served’ หรือ ‘ใครมาก่อนได้ก่อน’ ซึ่งไม่อยู่ในสัญญา รวมถึงยืนยันว่าโรงงานผลิตในสหราชอาณาจักรก็ถูกรวมอยู่ในสัญญานี้เช่นกัน

 

BBC รายงานว่า มีหลายประเทศเตรียมยื่นฟ้อง AstraZeneca จากความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีชื่อของประเทศอิตาลีรวมอยู่ด้วย

 

นอกจากวัคซีนของ AstraZeneca จำนวน 300 ล้านโดส พร้อมตัวเลือกในการสั่งซื้อเพิ่มได้อีก 100 ล้านโดสแล้ว สหภาพยุโรปยังสั่งวัคซีนไว้อีก 2,300 ล้านโดสจากผู้ผลิตอื่นอีก 4 ราย ในจำนวนนี้มีเพียงวัคซีนของ Pfizer-BioNTech (600 ล้านโดส) และ Moderna (160 ล้านโดส) เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตแล้ว ณ วันที่ 28 มกราคม ซึ่ง Pfizer เองก็ไม่สามารถจัดหาวัคซีน 12.5 ล้านโดสตามที่สัญญาไว้กับสหภาพยุโรปภายในสิ้นปี 2020 ที่ผ่านมาได้เช่นกัน โดยระบุถึงความล่าช้าในกระบวนการจัดส่งราว 2-3 สัปดาห์ จากความพยายามในการเพิ่มกำลังการผลิตที่โรงงานในเบลเยียม

 

สถานการณ์ความล่าช้าเหล่านี้ทำให้เจ้าหน้าที่ทางการของสเปนระบุว่า ต้องมีการหยุดการให้วัคซีนในภูมิภาคมาดริดของสเปนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ส่วนการจัดหาวัคซีนในแคว้นคาตาโลเนียก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ส่วนสหภาพยุโรปก็ขู่จะจำกัดการส่งออกวัคซีนที่ผลิตในสหภาพยุโรปเพื่อจัดการกับปัญหานี้

 

ภาพ: rarrarorro via ShutterStock

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X