เมื่อวานที่ผ่านมา (25 มกราคม) ตามเวลาท้องถิ่น เกรตา ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน ส่งข้อความถึงบรรดาผู้นำโลกให้ตระหนักและเดินหน้ารับมือกับประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโลก ขณะเข้าร่วมงาน World Economic Forum 2021 #DavosAgenda ที่ในปีนี้เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์รับเป็นเจ้าภาพ พร้อมเน้นหนักไปที่การประชุมแบบ Virtual เชื่อมโยงเครือข่ายในกว่า 400 เมืองทั่วโลก ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยเกรตาเรียกร้องให้ผู้นำโลกลงมือป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง แทนที่การเอาแต่พูดคุยกันถึงเป้าหมายที่อาจจะดูเลื่อนลอย และอาจจะยังไม่เพียงพอกับการรับผิดชอบต่ออนาคตของลูกหลานพลเมืองโลกในอนาคต
“สวัสดี ฉันชื่อ เกราตา ธันเบิร์ก ฉันไม่ได้มาที่นี่เพื่อที่จะมาคุยเรื่องข้อตกลงอะไร อย่างที่คุณเห็น ฉันไม่ได้ถือครองผลประโยชน์ทางด้านการเงินขององค์กรใด หรือสังกัดพรรคการเมืองไหน ฉันจึงไม่สามารถที่จะเจรจาต่อรองได้ แต่ฉันมาที่นี่เพื่อย้ำเตือนพวกคุณอีกครั้งถึงสถานการณ์ฉุกเฉินที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ วิกฤตที่คุณและบรรพบุรุษของคุณได้สร้างขึ้นและส่งผลกระทบถึงพวกเราในทุกวันนี้ เป็นวิกฤตที่คุณเองก็ยังคงเพิกเฉยและมองข้าม
ฉันมาที่นี่เพื่อมาย้ำเตือนสัญญาที่คุณให้ไว้กับลูกหลานของคุณ และเราจะไม่ยอมอ่อนข้อให้พวกคุณแม้แต่น้อย หากมันยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
โชคร้ายที่วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศอาจไม่สามารถเยียวยาแก้ไขได้ด้วยระบบที่มีอยู่ในทุกวันนี้ ตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่นี้ นี่ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นอีกต่อไป แต่นี่คือข้อเท็จจริง
เราจำเป็นต้องพึงตระหนักไว้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ภาคธุรกิจและการลงทุนต่างๆ ให้เร่งตั้งเป้าหมายใหม่ที่ใช้ความความพยายามมากยิ่งขึ้นไปอีก และมุ่งไปสู่เป้าหมายนั้นโดยเร็ว เราหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความเป็นจริงมานานมากพอแล้ว เราแสร้งทำเป็นว่า เราสามารถจัดการแก้ไขวิกฤตด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้ โดยที่เราไม่เคยปฏิบัติต่อมันราวกับว่าเป็นวิกฤตเลยสักครั้ง
ทุกวันนี้ เราได้ยินผู้นำรัฐบาลและชาติต่างๆ ทั่วโลกต่างพูดถึงประเด็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม แทนที่พวกเขาจะลงมือแก้ไขปัญหานั้นอย่างเร่งด่วน แต่พวกเขากลับตั้งเป้าหมายที่คลุมเครือ ไม่เพียงพอ ไม่สมเหตุสมผลอย่างที่มันควรจะเป็น อาทิ การตั้งเป้าเป็นประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 หรือ Net-zero 2050 เป็นต้น บางเป้าหมายมีช่องโหว่ ไม่สมบูรณ์ บางเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็ไม่ต่างจากการสยบยอมต่อวิกฤตที่จะมาถึง เหมือนคุณตื่นขึ้นมากลางดึก คุณเห็นบ้านตัวเองไฟไหม้ แต่ใช้เวลาตัดสินใจนาน 10, 20 หรือ 30 ปี กว่าคุณจะโทรเรียกหน่วยดับเพลิง
เราเข้าใจว่าโลกมีความซับซ้อนมาก และความเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ชั่วข้ามคืน แต่คุณเอาแต่พูด บลา บลา บลา มานานกว่า 30 ปีแล้ว คุณยังต้องการเวลาอีกนานแค่ไหน
ตอนนี้เราแทบจะสิ้นหวัง แล้วความหวังคืออะไรล่ะ สำหรับฉัน ความหวังไม่ใช่การการันตีว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะโอเคขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างจะได้รับการดูแลและเราไม่จำเป็นต้องเป็นกังวล สำหรับฉัน ความหวังคือความรู้สึกที่ผลักให้เรามุ่งไปข้างหน้า แม้สิ่งอื่นๆ อาจเห็นต่างหรือต่อต้านคุณ สำหรับฉัน ความหวังมาจากการกระทำ ไม่ใช่แค่คำพูด
ฉันไม่ได้มาที่นี่เพื่อบอกคุณว่าต้องทำอะไร ท้ายที่สุดแล้วการปกป้องสภาพความเป็นอยู่ในอนาคตและการรักษาชีวิตบนโลก อย่างที่เราทราบกันดี สิ่งนี้ล้วนเป็นความสมัครใจ ทางเลือกเป็นของคุณ แต่ฉันสามารถรับรองได้เลยว่า คุณไม่สามารถที่จะเจรจาต่อรองกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้ และลูกหลานของคุณจะต้องทนแบกรับทางเลือกที่คุณได้เลือกไว้ ข้อตกลงนี้เป็นอย่างไรบ้างล่ะ”
ภาพ: Jonathan Nackstrand / AFP
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: