สัปดาห์ก่อนผมเห็นโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งประชาสัมพันธ์การบริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อนำไปใช้ในการทำงานหรือการประกอบอาชีพ โดยผู้ขอรับการตรวจจะต้องชำระเงินเองทุกสิทธิ์ 3,000 บาท ก่อนจะปรับลดลงเหลือ 2,500 บาท
ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนผมคงไม่แปลกใจนัก แต่ถึงขั้นโรงพยาบาลรัฐเปิดบริการเองก็แสดงว่ามีผู้ต้องการใบรับรองผลมากระดับหนึ่งทีเดียว
(สำหรับเรื่องราคา ผมขอให้ข้อมูลเพิ่มอีกเล็กน้อยว่าเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 รักษาการอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แถลงข่าวว่าราคากลางของการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีมาตรฐานคือ 1,600 บาท)
ว่าแต่เราจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนเข้าทำงานหรือไม่ และใบรับรองผลการตรวจจำเป็นแค่ไหนต่อบริษัทหรือสถานประกอบการ
คำตอบอย่างสั้นที่สุดคือ ‘ไม่จำเป็น’ เพราะผลการตรวจ ‘ไม่พบเชื้อ’ ยืนยันเฉพาะวันที่เก็บตัวอย่างเท่านั้น และรายงานผลในอีก 1-2 วันถัดมา ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าหลังจากนั้นผู้รับการตรวจจะไม่เป็นผู้ป่วย เพราะอาจอยู่ในระยะฟักตัว 14 วัน (ระหว่างที่รอผลตรวจอาจติดเชื้อก็ได้) หรือถ้ามาตรการป้องกันโรคในสถานที่ทำงานไม่เหมาะสมก็อาจเกิดการระบาดได้เช่นกัน
ความไม่จำเป็นของการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนเข้างาน
การตรวจโควิด-19 มีหลายวิธี เช่น การตรวจหาเชื้อ การตรวจหาภูมิคุ้มกัน แต่ละวิธีแบ่งเป็นการตรวจแบบรวดเร็วหรือแบบมาตรฐาน แต่วิธีที่แพทย์ใช้วินิจฉัยผู้ป่วยคือการเก็บสารคัดหลั่งจากด้านหลังโพรงจมูก แล้วส่งตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งวิธีนี้จะสามารถตรวจพบเชื้อ (Detected หรือ Positive) ในปริมาณน้อยได้
‘ปริมาณน้อย’ ในที่นี้อาจเป็นช่วงที่ผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว แต่ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งอาจตรวจพบได้ล่วงหน้าถึง 2-7 วัน หรือเป็นช่วงที่ผู้ป่วยหายแล้ว แต่ยังพบชิ้นส่วนสารพันธุกรรมหรือ ‘ซากเชื้อ’ ซึ่งอาจตรวจพบได้นานถึง 3 เดือน ในระยะหลังเกณฑ์การตัดสินผลว่า ‘พบเชื้อ’ จึงถูกปรับให้ต้องพบสารพันธุกรรมมากกว่าเกณฑ์เดิม (ค่า Ct ต้องน้อยกว่า 36 จากเดิม 40)
ส่วนกรณีที่ไม่พบเชื้อ (Not detected หรือ Negative) สามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ
- ไม่พบเชื้อจริง (True negative) คือผู้รับการตรวจไม่มีประวัติเสี่ยง เมื่อตรวจไม่พบเชื้อจึงมั่นใจว่า ‘ไม่ติดเชื้อ’ จริง กรณีนี้ผู้รับการตรวจจะต้องพักอยู่คนเดียวและไม่ออกจากที่พักเลยเป็นเวลา 14 วัน เช่น ผู้ที่กักตัวใน SQ/ASQ หรือผู้นั้นจะต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา และล้างมือบ่อยๆ หรือในชุมชนนั้นยังไม่พบผู้ป่วยมาก่อน จึงไม่มีโอกาสติดเชื้อ
- ผลลบปลอม (False negative) คือผู้รับการตรวจติดเชื้อแล้ว แต่ตรวจไม่พบเชื้อ เนื่องจากยังอยู่ในระยะฟักตัว 2-14 วัน ซึ่งก่อนหน้าที่จะติดเชื้อก็ต้องมีประวัติเสี่ยง เช่น อาศัยอยู่บ้านเดียวกันหรือทำงานร่วมกันกับผู้ป่วย อาศัยอยู่ในชุมชนที่มีการระบาดเป็นวงกว้างก็อาจได้รับเชื้อขณะเข้าไปในสถานที่แออัด
นอกจากนี้ผลลบปลอมยังอาจเกิดขึ้นจากความผิดพลาดเชิงเทคนิค เช่น การเก็บตัวอย่าง การขนส่งและการเก็บรักษาตัวอย่าง กระบวนการตรวจ แต่มีความเป็นไปได้น้อย
ทั้งนี้ ผลการตรวจเป็นผลยืนยันใน ‘วันที่เก็บตัวอย่าง’ เท่านั้น กล่าวคือถ้าผล ‘ไม่พบเชื้อ’ ก็คือยังไม่ติดเชื้อในวันที่เก็บตัวอย่าง ไม่ได้รับประกันว่าจะไม่ใช่ผู้ติดเชื้อในภายหลัง ซึ่งกว่าจะรายงานผลก็ในอีก 1-2 วันด้วยซ้ำ ดังนั้นการตรวจหาเชื้อจึงไม่จำเป็นต่อการเข้าทำงาน ยกเว้นกรณีที่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงที่ต้องมีผลตรวจยืนยัน
ความจำเป็นอยู่ที่การป้องกันการติดเชื้อในสถานที่ทำงาน
“ไม่ตรวจ ก็ไม่ติด” ถ้าไม่ตรวจแล้วรู้ได้อย่างไรว่าไม่ติดเชื้อ หรือถ้าไม่ตรวจแล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าปลอดภัย
คำถามนี้ตอบได้หลายแบบ แต่ผมจะขอตอบว่าการตรวจหาเชื้อเป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายมาตรการป้องกันโควิด-19 ซึ่งเราควรใช้หลายมาตรการร่วมกันตามแนวคิด ‘Swiss Cheese’ เพื่อปิดช่องโหว่ของแต่ละมาตรการ
แนวคิด Swiss Cheese ประกอบด้วยการป้องกันตัวส่วนบุคคลและมาตรการทางสาธารณสุขซ้อนกันหลายชั้น (อ้างอิง: @MackayIM / Twitter)
นอกจากมาตรการป้องกันโควิด-19 ระดับบุคคล ซึ่งแล้วแต่ว่าใครจะเป็นผู้คิดวิธีช่วยจำ เช่น DMHTT ของปลัดกระทรวงสาธารณสุข หรือ “อยู่ห่างไว้ ใส่มาสก์กัน หมั่นล้างมือ ถือหลักสะอาด ปราศจากแออัด” ของโฆษก ศบค. ในช่วงแรก ก่อนจะเปลี่ยนเป็น “อยู่ห่างไว้ ใส่มาสก์กัน หมั่นล้างมือ เช็กชื่อไทยชนะ (มือถือมีหมอชนะ)”
มาตรการป้องกันระดับองค์กรหรือสถานที่ทำงานก็จำเป็นต้องมี ได้แก่
- อยู่ห่างไว้: มีการจัดจุดยืนหรือโต๊ะนั่งทำงานใหม่ให้ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร หากทำไม่ได้ควรมีฉากกั้น
- ใส่มาสก์กัน: นโยบาย Mask 100% ในสถานที่ทำงาน และไม่นั่งรับประทานอาหารร่วมกัน (เป็นช่วงที่เปิดหน้ากาก)
- หมั่นล้างมือ: เตรียมเจลแอลกอฮอล์ไว้ตามจุดที่สัมผัสกันบ่อย เช่น ปุ่มกดลิฟต์ ปากกาเซ็นชื่อ/เอกสาร เครื่องถ่ายเอกสาร เตรียมสบู่เหลวไว้ที่อ่างล้างมือในห้องน้ำ
- ถือหลักสะอาด: ทำความสะอาดจุดที่สัมผัสกันบ่อยเป็นประจำ หรือเพิ่มความถี่ขึ้นในช่วงที่มีผู้มาใช้บริการจำนวนมาก ทำความสะอาดแผ่นกรองเครื่องปรับอากาศ
- ปราศจากแออัด: มีนโยบายทำงานที่บ้าน (WFH) เหลื่อมเวลาการทำงาน ประชุมออนไลน์ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้อากาศถ่ายเทสะดวก
สำหรับผู้ประกอบการสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากคู่มือของกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ซึ่งแนะนำการป้องกันโควิด-19 ในสถานที่ทำงานว่าจะต้องดำเนินการ 3 ขั้นตอนคือ
1. ประเมินความเสี่ยงแยกรายกิจกรรมย่อยของงานนั้น
2. มาตรการป้องกันพื้นฐาน
3. มาตรการเพิ่มเติมตามความเสี่ยงที่ประเมินได้
ใบรับรองผลการตรวจโควิด-19 จำเป็นแค่ไหน
เมื่อการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนทำงานไม่มีความจำเป็น โรงงานหรือสถานประกอบการก็ไม่ควรเรียกตรวจเอกสาร ‘ใบรับรองผลการตรวจโควิด-19’ จากพนักงาน เพราะนอกจากจะไม่มีประโยชน์ในการป้องกันโรคแล้ว (ฝั่งสาธารณสุขมีแผนการสำรวจเชิงรุกอยู่) พนักงานจะต้องไปขอรับการตรวจที่โรงพยาบาลและเสียค่าใช้จ่ายเองอีกด้วย
แต่ควรเปลี่ยนเป็นการคัดกรองประวัติเสี่ยง (ตามประกาศสถานที่เสี่ยงของแต่ละจังหวัดหรือไทม์ไลน์ผู้ป่วย) ร่วมกับอาการไข้หวัดก่อนเข้าทำงานในแต่ละวันอย่างต่อเนื่องแทน หากมีอาการและประวัติเสี่ยงควรส่งไปตรวจหาเชื้อทันที แต่ถ้าไม่มีประวัติเสี่ยงควรให้ลาป่วย สังเกตอาการที่บ้าน 1-2 วัน หากไม่ดีขึ้นก็ให้ไปตรวจที่โรงพยาบาล
ใบรับรองผลการตรวจโควิด-19 ที่มีประโยชน์คือ ‘ผลพบเชื้อ’ เพราะหากผู้ป่วยได้รับการแยกกักอย่างน้อย 10 วันแล้วก็สามารถกลับเข้ามาทำงานได้ ส่วนอีกกรณีคือเป็น ‘ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง’ ที่กักกันจนครบ 14 วัน และได้รับการตรวจหาเชื้อตั้งแต่วันที่ 5 เป็นต้นไปนับจากวันแยกตัวแล้วไม่พบเชื้อ ก็จะเป็นการยืนยันว่าผู้นั้นไม่ติดเชื้อจากผู้ป่วย
ในขณะที่ฝั่งสาธารณสุขที่ลงพื้นที่ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active Case Finding) เช่น การสุ่มตรวจหาเชื้อในชุมชน การตั้งรถตรวจพระราชทาน หากผู้บริหารเห็นตรงกันว่าจะไม่ออกใบรับรองในกรณีที่ผล ‘ไม่พบเชื้อ’ ให้กับผู้ที่เข้ารับการตรวจก็ควรอธิบายเหตุผลนี้กับประชาชน และชี้แจงกับผู้ประกอบการในพื้นที่ว่าทำไมถึงไม่จำเป็นต้องใช้ใบรับรองผลนี้
โดยสรุป ผู้ประกอบการควรเน้นการป้องกันโควิด-19 ในสถานประกอบการหลายมาตรการร่วมกัน โดยไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อก่อนเข้าทำงาน เพราะไม่ว่าจะตรวจหรือตรวจแล้ว ‘ผลไม่พบเชื้อ’ สถานประกอบการก็ยังต้องมีมาตรการป้องกันพื้นฐานเหมือนเดิม ส่วนผู้ติดเชื้อน่าจะถูกตรวจพบจากการสำรวจเชิงรุกหรือเมื่อมีอาการป่วยที่แพทย์สงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/04/148247/
- https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/69/wr/mm6913e1.htm
- https://www3.dmsc.moph.go.th/download/files/dmsc_covid19.pdf
- https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/161063/
- http://envocc.ddc.moph.go.th/uploads/media/manual/COVID_inoff.pdf
- http://envocc.ddc.moph.go.th/uploads/media/manual/envocc-covid_WEB.pdf