×

‘รู้ไหมว่าใครใหญ่’ แจ็ค หม่า หายไปไหนมา

19.01.2021
  • LOADING...
แจ็ค หม่า

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • แจ็ค หม่า มหาเศรษฐีชาวจีนวัย 56 ปี ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Alibaba และ Ant Group หายตัวไปอย่างปริศนาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
  • สื่อฝั่งตะวันตกเชื่อว่า การหายตัวไปของแจ็ค หม่า น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีน สถาบันการเงินในประเทศในงานสัมมนาด้านฟินเทคเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2020 ไม่มากก็น้อย
  • นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอข่าวอีกด้วยว่า รัฐบาลจีนได้สั่งให้ แจ็ค หม่า เก็บตัวเงียบ และยังมีแนวคิดที่จะเข้าฮุบกิจการของ Alibaba มาเปลี่ยนเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม ดูแลการดำเนินงาน

 

***อัปเดตเนื้อหาล่าสุดเมื่อเวลา 12.50 น. วันที่ 20 มกราคม 2021

 

แจ็ค หม่า ปรากฏตัวแล้ว หลังหายไปนาน 2 เดือนเต็ม!

 

 

 

เมื่อช่วงเวลาประมาณ 11.40 น. ของวันพุธที่ 20 มกราคม สื่อจากประเทศจีนอย่าง Global Times ได้รายงานข่าวที่ แจ็ค หม่า พูดคุยกับคุณครูจากชนบททั่วประเทศจีนผ่าน Video Conference ที่ได้รับการมอบรางวัล The Jack Ma Rural Teachers Award Ceremony ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิของเขามาตั้งแต่ปี 2015 โดยเขาให้สัญญาว่าจะจัดพิธีมอบรางวัลให้กับบรรดาคุณครูทั้งหมดอีกครั้งหลังจากโควิด-19 จบลง

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้น่าจะเป็นประเด็นข่าวที่ใครหลายคนให้ความสนใจและติดตามกันมากเป็นพิเศษ หลังจากที่เปิดศักราช 2021 เป็นต้นมา สื่อหลายสำนักได้เริ่มตั้งข้อสังเกตว่าจู่ๆ มหาเศรษฐีชาวจีนจากหางโจววัย 56 ปีผู้นี้ก็อันตรธานหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยและน่าสงสัย 

 

เริ่มต้นจากการที่เขาไม่ได้ปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนนานถึง 2 เดือนเต็มๆ (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2020) ทั้งๆ ที่ตัวเขาก็มีประเด็นต้องตอบคำถามสื่อมวลชน โดยเฉพาะการที่ Ant Group ถูกเตะเบรกการ IPO ครั้งประวัติศาสตร์ 

 

เวลานั้น Financial Times ยังพบอีกด้วยว่า จู่ๆ แจ็ค หม่า ก็ยุติบทบาทการเป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้ตัดสินเกมโชว์ทีวีสำหรับผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจ Africa’s Business Heroes ในรอบชิงชนะเลิศเอาเสียดื้อๆ ทั้งๆ ที่เป็นคนริเริ่มการแข่งขันรายการนี้ผ่านมูลนิธิขึ้นมาด้วยตัวเอง (ถูกถอดภาพออกจากรูปโปรโมตการแข่งขันในรอบชิงฯ ด้วย!)

 

 

รายการ Africa’s Business Heroes ที่แจ็ค หม่า เป็นโต้โผรังสรรค์รายการนี้ขึ้นมา
ผ่านมูลนิธิ Jack Ma Foundation

 

แม้ในเวลาต่อมา โฆษกของ Alibaba จะออกมาให้สัมภาษณ์ว่า การที่ผู้ก่อตั้งบริษัทของพวกเขาไม่ได้ไปปรากฏตัวในรายการเป็นผลมาจาก ‘ตารางงานที่ยุ่งเหยิง’ และปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆ เพิ่มเติม แต่ดูเหมือนว่าคำตอบดังกล่าวจะฟังไม่ขึ้นสักเท่าไร

 

หลายกระแสข่าวลือกันอย่างหนาหู สนุกปากว่า ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Alibaba รายนี้กำลังตกอยู่ภายใต้อาณัติและการจองจำโดยรัฐบาลจีน เนื่องจากทำเรื่องขัดใจกับรัฐบาลเอาไว้

 

แต่ก็มีอีกกระแสที่เชื่อว่า แจ็ค หม่า ไม่ได้หายไปไหน ยังคงสบายดี แต่เลือกที่จะเก็บตัวอยู่เงียบๆ ตามลำพัง (ซึ่ง ‘ผิดวิสัย’ และสวนทางตัวตนของชายผู้นี้เอามากๆ)

 

THE STANDARD ชวนคุณไปย้อนไทม์ไลน์เรื่องราวก่อนที่ แจ็ค หม่า จะปรากฏตัว พร้อมวิเคราะห์ ‘ความน่าจะเป็น’ ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไปด้วยกันว่ามีแนวโน้มจะเป็นไปในรูปแบบใดได้บ้าง 

 

แจ็ค หม่า

 

‘ธนาคาร = โรงรับจำนำ’ จุดเริ่มต้นทั้งหมดเกิดขึ้นที่นี่

 

ย้อนกลับไปในวันที่ 24 ตุลาคม 2020 ช่วงเวลานั้นคือไทม์ไลน์เดียวกันกับที่งานสัมมนาด้านฟินเทค 2nd Bund Financial Summit ถูกจัดขึ้น ณ นครเซี่ยงไฮ้

 

วันนั้น แจ็ค หม่า ได้รับเชิญเข้าร่วมงานในฐานะสปีกเกอร์ เขาได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาบนเวทีเปรียบเปรยธนาคารในประเทศจีนเอาไว้ว่า มีแนวคิดการดำเนินธุรกิจไม่ต่างอะไรจาก ‘โรงรับจำนำ’ และไร้ซึ่ง ‘นวัตกรรม’ 

 

แถมยังแอบกัดบรรดาสถาบันการเงินในประเทศได้อย่างเจ็บแสบไว้ว่า ปัญหาสำคัญของจีนไม่ใช่ ‘ความเสี่ยงเชิงระบบ’ แต่อย่างใด เพราะความเสี่ยงที่มากกว่าก็คือ การที่จีนไร้ซึ่งความสมบูรณ์ของ ‘ระบบนิเวศทางการเงิน’ นั่นเอง

 

 

ปาฐกถาต้นเรื่องในงาน BUND SUMMIT 2020

 

และนี่คือบางส่วนบางตอนของปาฐกถาโดย แจ็ค หม่า ในงาน 2nd Bund Financial Summit ที่เราคัดออกมา

 

“ธนาคารในวันนี้ดำเนินงานภายใต้แนวคิดของการเป็นโรงรับจำนำ การมีหลักประกัน และการรับประกันเคยเป็นสิ่งที่ล้ำสมัยมากๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งหากไม่มีสิ่งเหล่านี้ วันนี้เราก็คงไม่มีสถาบันการเงิน เช่นเดียวกัน คงจะไม่มีการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจจีนที่ดำเนินระยะเวลามากว่า 40 ปีจนถึงปัจจุบัน และยังคงดำเนินต่อไป

 

“แต่ในขณะเดียวกัน การพึ่งพาแต่คุณสมบัติของสินทรัพย์และหลักประกันก็อาจกลายเป็นสิ่งที่ ‘สุดโต่งเกินไป’ ในบางครั้ง ผมมีโอกาสได้คุยกับผู้ประกอบการหลายคนในฐานะประธานแพลตฟอร์ม China Entrepreneur Club และประธานหอการค้าเจ้อเจียง และก็พบว่า สิ่งสิ่งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ต้องเอาสินทรัพย์ของตัวเองไปค้ำประกัน แรงกดดันที่พวกเขาต้องแบกรับนั้นมหาศาลมากๆ และเมื่อมีความกดดันมากๆ เข้าแล้ว วิธีการทำงานหรือการตัดสินใจก็จะผิดแปลก บิดเบี้ยวไปเลย

 

“แนวคิดการเอาของไปจำนองเป็นหลักประกันกับโรงรับจำนำจะไม่ได้สนับสนุนความต้องการทางการเงินในโลกาวิวัฒน์ตลอดระยะเวลา 30 ปีนับจากนี้ เราต้องแทนที่แนวคิดแบบโรงรับจำนำด้วยระบบที่อิงจากเครดิต และ Big Data ที่ใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีในวันนี้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ระบบเครดิตที่ถูกสร้างขึ้นจากระบบไอทีแบบเดิมๆ หรือความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ขับเคลื่อนสังคม แต่ต้องสร้างขึ้นบน Big Data เพื่อทำให้เกิดเครดิตความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียม

 

“ระบบการเงินของจีน ณ วันนี้ ก็ไม่ต่างอะไรจากประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังเติบโต เป็นอุตสาหกรรมอายุน้อย ซึ่งยังไม่มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ และยังเคลื่อนไปข้างหน้าได้ไม่เต็มที่ แม้จีนเองจะมีธนาคารหลายแห่งไม่ต่างอะไรไปจากแม่น้ำ หรือหลอดเลือดแดงในระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกายของเรา 

 

“แต่ ณ วันนี้เราต้องการทะเลสาบ บ่อน้ำ ลำธาร แควน้ำ และหนองน้ำทุกๆ ชนิด เพราะหากปราศจากซึ่งสิ่งเหล่านี้ในระบบนิเวศของเราแล้ว เราจะตายทันทีเมื่อต้องประสบกับอุทกภัย หรือภัยแล้ง ดังนั้นในวันนี้เราจึงเป็นประเทศที่ต้องแบกรับกับความเสี่ยงของการไร้ซึ่งความสมบูรณ์ของระบบทางการเงิน เราจำเป็นจะต้องสร้างระบบทางการเงินให้แข็งแกร่ง โดยที่จะต้องไม่กังวัลกับความเสี่ยงในเชิงระบบ”

 

ว่ากันว่างานสัมมนาฟินเทคในวันนั้น มีผู้นำระดับสูงของรัฐบาลจีนเดินทางมางานร่วมด้วย และดูเหมือนว่า ‘เสียงวิจารณ์’ ของ แจ็ค หม่า ที่พูดใส่ไมค์ในวันนั้นจะมีขนาดเดซิเบลที่ ‘ดัง’ ชัดก้องมากกว่าเนื้อหาในเซ็กชันอื่นๆ ท้ังหมดของงานสัมมนาวันนั้นมากเป็นพิเศษ… 

 

แจ็ค หม่า

 

เงิน 34,500 ล้านดอลลาร์ และ (ว่าที่) IPO ครั้งประวัติศาสตร์ที่ ‘หายวับ’ ไปในอากาศ

 

5 พฤศจิกายน 2020 คือกำหนดการวันที่ Ant Group ฟินเทคที่ก่อตั้งโดย แจ็ค หม่า เตรียมจะเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (Hong Kong Stock Exchange) โดยจะเป็นการเสนอขายหุ้นแบบเข้าจดทะเบียนในสองตลาด Dual Listing (อีกตลาดคือเซี่ยงไฮ้ (Star Market) ซึ่งในตอนนั้นยังไม่ได้เปิดเผยวัน IPO ออกมา)

 

การ IPO ในครั้งนั้น Ant Group ตั้งใจจะเสนอขายหุ้นรวม 1.67 พันล้านหุ้นต่อแห่ง ซึ่งสามารถจำแนกได้คร่าวๆ ดังนี้

 

1. ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง: 80 ดอลลาร์ฮ่องกง ‘ต่อหุ้น’ 

  • คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 1.33 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 1.72 แสนล้านดอลลาร์

 

2. ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้: 68.8 หยวน ‘ต่อหุ้น’ 

  • คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 1.14 แสนล้านหยวน หรือราว 1.72 หมื่นล้านดอลลาร์

 

เมื่อรวมกันแล้วจะส่งผลให้การ IPO ของ Ant Group ในครั้งนี้มีมูลค่ามากถึง 34,500 ล้านดอลลาร์ และกลายเป็น IPO ครั้งประวัติศาสตร์ไปโดยปริยาย โค่นแชมป์ IPO มูลค่าสูงสุดเจ้าเก่าจากซาอุฯ อย่าง Saudi Aramco (ด้วยมูลค่าระดมทุนกว่า 2.94 หมื่นล้านดอลลาร์)

 

แจ็ค หม่า

ข้อมูลในอินโฟกราฟิกข้างต้นอัปเดตจนถึง 30 ตุลาคม 2020
ก่อนที่การ IPO ของ Ant Group จะล่ม

 

หาก IPO ครั้งดังกล่าวของ Ant Group ประสบความสำเร็จ ว่ากันว่าพวกเขาอาจจะพลิกโฉมโลกการทำธุรกรรม และการเงินไปโดยสิ้นเชิง และจะมีมูลค่าบริษัทมากกว่าสถาบันการเงินหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะ JPMorgan Chase & Co, Bank of America Corp หรือแม้แต่ PayPal รวมถึงจะทำให้ตลาดหุ้นฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ดึงดูดความสนใจและเม็ดเงินลงทุนจากเหล่านักลงทุนทั่วโลกได้อีกมหาศาล (ซึ่งจะมีผลกับการ IPO ของบริษัทเทคโนโลยีจีนในตลาดหุ้นจีนในอนาคตแน่นอน)

 

แต่แล้ว ‘ฝันของ แจ็ค หม่า’ ก็กลายเป็นฝันสลาย เมื่อการ IPO ของ Ant Group ถูกรัฐบาลจีนเตะเบรกทันควันก่อนหน้ากำหนดการเพียงแค่ 3 วันเท่านั้น หลังจากมีรายงานว่ารัฐบาลจีน นำโดย ‘ธนาคารกลาง’ และหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมกฎระเบียบด้านการเงินในประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 3 แห่งได้เรียกตัว แจ็ค หม่า พร้อมด้วยทีมผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมาร่วมพูดคุยในประเด็นความกังวลต่างๆ

 

 

โดยให้เหตุผลการระงับเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ว่าเป็นผลมาจากการที่ ข้อมูลที่ทางแจ็ค หม่า และทีมผู้บริหารได้ชี้แจงกับทางคณะกรรมการ ‘มีการเปลี่ยนแปลงในประเด็นที่สำคัญ’ เกี่ยวกับการกำกับดูแลเทคโนโลยีทางการเงิน รวมถึงยังเป็นไปได้ที่รัฐบาลจีนอาจจะต้องการสั่งสอน แจ็ค หม่า หลังจากไปวิพากษ์วิจารณ์พวกเขา และสถาบันการเงินของประเทศเพียงไม่กี่วันก่อนที่ IPO จะเริ่มต้นขึ้น

 

ขณะที่อีกกระแสข่าวเชื่อว่า การสกัดบรรดา ‘มดเงิน’ ครั้งนี้เกิดขึ้นจากความกังวลที่รัฐบาลจีนมีต่อ Ant Group หลังจากที่ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ของจีน หันมาใช้ผู้ปล่อยกู้รายย่อย หรือแพลตฟอร์มเทคโนโลยีอย่าง Ant Group ในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จนนำไปสู่ประเด็นการก่อหนี้เสียและการผิดชำระหนี้ ซึ่งกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและคุณภาพสินทรัพย์ประเทศ

 

เหตุการณ์ในครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับบริษัทเป็นอย่างมาก ทั้งหุ้นที่ตกลงต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่หล่นหาย ไปจนถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะต้องเปลี่ยนตัวเองจากฟินเทคสู่ ‘โฮลดิง’ ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการเงิน และเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอยู่พอสมควร

 

ดูเหมือนว่า แจ็ค หม่า คงไม่ได้คาดคิดเอาไว้ด้วยซ้ำว่า สปีชของเขาในวันนั้นจะมีมูลค่าสูงที่สุดในโลกถึง 34,500 ล้านดอลลาร์

 

แจ็ค หม่า

 

‘รู้ไหมว่าใครใหญ่!’ แจ็ค หม่า กับการสั่งสอนของรัฐบาลจีน

 

ช่วงที่ แจ็ค หม่า หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย สื่อฝั่งตะวันตกเชื่อว่าเขาถูกรัฐบาลสั่งให้เก็บตัวและควบคุมตัว โดยเชื่อว่าน่าจะเป็นผลพวงต่อเนื่องมาจากการที่เขาไปวิจารณ์ระบบการเงินในประเทศและการทำงานของรัฐบาลอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งอาจจะทำให้เขาถูกตรวจสอบความผิดในประเด็นต่างๆ

 

“ผมคิดว่าเขา (แจ็ค หม่า) ถูกบอกให้เก็บตัว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างแตกต่างออกไปเป็นอย่างมาก และเกี่ยวข้องกับการเติบโตของ Ant ไปจนถึงความอ่อนไหวที่มีต่อประเด็นการควบคุมนโยบายด้านการเงินของประเทศ” 

 

ดันแคลน คลาร์ก ประธานบริษัท BDA China บริษัทให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีให้สัมภาษณ์กับ Reuters ไว้เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2021

 

“ผมเชื่อว่าเขายังปลอดภัยดี เขายังคงเป็นตัวอย่างที่ยืนยงคงกระพันสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ”

 

เฟรด ฮู (Fred Hu) ประธาน Primavera Group บริษัทที่ลงทุนในบริษัทนอกตลาด (Private-Equity Firm) ให้สัมภาษณ์กับ Reuters ไว้เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2021 (Ant Group ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ Primavera Group เข้าลงทุน)

 

“ฉันคิดว่าข้อความที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องการจะส่งคือ แม้บรรดาผู้ประกอบการบริษัทเทคโนโลยีจะดูมีเสน่ห์ดึงดูด และเป็นด้านที่ดูดีของจีนที่ปรากฏต่อหน้าสาธารณชนทั่วทั้งโลก แต่ประเด็นก็คือ ไม่มีใครหรือบริษัทไหนจะใหญ่ไปกว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนอีกแล้ว” รานา มิตเตอร์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และการเมืองจีนสมัยใหม่ ประจำมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ให้สัมภาษณ์กับ CNN

 

เนื่องจากไม่มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวใดๆ จากทางการจีนตลอดช่วงเวลาที่ แจ็ค หม่า หายตัวไป ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นในตอนนี้จึงมีเพียงแค่การทึกทักคาดการณ์จากนักวิชาการและสื่อฝั่งตะวันตกเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ต่างก็เชื่อไปในทิศทางเดียวกันว่า แจ็ค หม่า น่าจะถูกเรียกไปปรับทัศนคติและสั่งให้เก็บตัวอยู่จริง นั่นจึงทำให้มหาเศรษฐีวัย 56 ปีผู้นี้ได้หายไปจากหน้าสื่อทุกสำนัก ทุกแพลตฟอร์ม ในช่วงเวลาหนึ่ง

 

อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับแจ็ค หม่า ในครั้งนี้อาจจะเทียบเคียงได้กับเหตุการณ์ในอดีตที่คนดังของจีน เช่น อ้าย เหว่ยเหว่ย หรือฟ่าน ปิงปิง ถูกเรียกตัวเข้าสอบสวน

 

“ตัวอย่างกรณีที่ใกล้เคียงกันในอดีต คือเมื่อรัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายไว้กับใคร คนคนนั้นก็จะหายไประยะหนึ่ง เช่น อ้าย เหว่ยเหว่ย หรือฟ่าน ปิงปิง และเมื่อผ่านไปช่วงเวลาหนึ่ง ข่าวจากทางการก็จะระบุออกมาว่า พบว่าบุคคลคนนั้นๆ กระทำความผิดในข้อหาใด (ในกรณีอ้าย เหว่ยเหว่ย และฟ่าน ปิงปิง คือประเด็นเลี่ยงภาษี)

 

“ประเด็นคือเรายังไม่ทราบว่า ผลการตรวจสอบจะออกมาในลักษณะไหน รูปแบบใด นอกจากนี้อีกกรณีหนึ่งคือ ‘หากมีการตรวจสอบจริง’ แจ็ค หม่า ก็เป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย ดังนั้นก็จะต้องมีการตรวจสอบทางวินัยพรรค ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งที่มีคนพูดถึงประเด็นนี้มากเป็นพิเศษก็เพราะว่า แจ็ค หม่า ออกมาวิจารณ์รัฐบาลจีนเกี่ยวกับประเด็นการดูแลภาคการเงินโดยตรง ซึ่งอาจจะเป็นวิธีปฏิบัติที่ขัดและสวนทางกับนโยบายพรรค”

 

อาร์มยังตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่า การที่ แจ็ค หม่า หายตัวไปในช่วงเวลาหนึ่ง ยังถือเป็นการส่งสัญญาณของรัฐบาลจีนใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย

 

  1. ไม่ควรแสดงความเห็นหรือจุดยืนที่สวนทางกับนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ในที่สาธารณะ

 

  1. ส่งสัญญาณให้ชัดเจนว่า ในประเทศจีน ‘ไม่มีธุรกิจที่ใหญ่จนแตะไม่ได้’ (Too big to fail) กล่าวคือในประเทศอื่นๆ ปกติแล้ว ทุนจะกำกับรัฐ แต่ในจีนรัฐเป็นผู้กำกับทุน

 

  1. จะต้องมีการเจรจา ทำความตกลงร่วมกันว่า Alibaba และรัฐบาลจีนจะประสานประโยชน์กันอย่างไร 

 

  1. สอบสวน Alibaba เพื่อป้องกัน ‘การผูกขาด’ รวมถึงความ ‘พยายามจะวางกฎเกณฑ์กำกับการดำเนินงาน’ ของ Ant Group

 

โดยในรายของ Ant Group นั้น ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ มองว่า รัฐบาลจีนต้องการสร้าง ‘สมดุล’ ใน 4 ประเด็นหลักๆ ประกอบด้วย

 

  1. กลุ่มผลประโยชน์เก่า ‘ธนาคาร’ – ธนาคารส่วนใหญ่ก็เป็นธนาคารรัฐ หาก Ant สามารถทำอะไรก็ได้ โดยปราศจากซึ่งกฎเกณฑ์ต่างๆ สุดท้ายแล้ว ธนาคารรัฐ ธนาคารทั่วไป ก็จะไม่สามารถแข่งขันด้วยได้

 

  1. คุ้มครอง ‘ประโยชน์’ ผู้บริโภคที่ใช้บริการทางการเงิน

 

  1. รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของจีน – การที่ Ant Group ปล่อยสินเชื่อเงินกู้ให้คนฐานรากในจีนจำนวนมากๆ หากเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาก็จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินจีนได้

 

  1. นวัตกรรมทางการเงิน – แจ็ค หม่า พยายามจะโปรโมตว่า รัฐบาลควรจะปล่อยให้เขาสามารถทดลองได้อย่างเต็มที่ กำกับดูแลให้น้อย เพื่อที่จะสามารถผลักดันนวัตกรรมใหม่ๆ ขยายฐานลูกค้าเพื่อเก็บข้อมูลผู้บริโภค แต่ในขณะเดียวกัน เสียงสะท้อนจาก ‘ฝั่งตรงข้าม’ ก็แสดงความกังวลใจใน 3 ข้อแรกค่อนข้างมาก

 

แจ็ค หม่า

 

รัฐวิสาหกิจสัญชาติจีนนาม ‘Alibaba’ เป็นไปได้จริงหรือ?

 

ในขณะที่ช่วงที่ผ่านมานั้น ข่าวการหายตัวของหม่าสะพัดออกไปพร้อมๆ กับการปรับลดของหุ้น Alibaba ลงอย่างต่อเนื่อง ก็เกิดอีกกระแสลือขึ้นมาว่า รัฐบาลจีนกำลังมองถึงความเป็นไปได้ในการเข้าฮุบ Alibaba มาเป็นรัฐวิสาหกิจ และดำเนินการควบคุมการทำธุรกิจแบบเสร็จสรรพ

 

คำถามสำคัญก็คือ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่เหตุการณ์ข้างต้นมีแนวโน้มจะกลายเป็นเรื่องจริง?

 

อาร์มบอกว่า ส่วนตัวแล้วเขาเชื่อว่า การที่รัฐบาลจีนจะเข้ามาควบคุมกิจการ Alibaba แบบ 100% และแปลงโฉมเป็นรัฐวิสาหกิจมีโอกาสที่จะ ‘เกิดขึ้นได้ยาก’ เพราะต่อให้คุณเป็นบริษัทเอกชน รัฐบาลจีนก็สามารถมีอำนาจได้เต็มที่อยู่แล้ว ประกอบกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในประเทศดูจะเป็นภาคส่วนที่ไม่ค่อยโปรดักทีฟในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ สักเท่าไร

 

“ถ้ามองจากมุมรัฐบาลจีน ผมเชื่อว่ามีอยู่ 2 ข้อ ข้อแรกคือ (1) ต่อให้เป็น ‘เอกชน’ ก็ถูกควบคุมได้ เพราะเขาก็มีกลไกต่างๆ มากมายที่จะบังคับใช้ ตัวอย่างเช่น ภาคเอกชนหลายแห่งจะมีคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำบริษัท (ที่ Alibaba ก็มี) ฉะนั้นในมุมมองผมจึงรู้สึกว่าเขาไม่มีความจำเป็นจะต้องยึดเอกชนมาเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะเขาก็มีกลไกที่จะผลักดันนโยบายคอมมิวนิสต์เข้าไปในเครือเอกชน เพื่อประสานประโยชน์ระหว่างรัฐบาลและเอกชนอยู่แล้ว

 

“ข้อถัดมา (2) ในมุมรัฐบาล ก็ค่อนข้างชัดเจนว่า ‘รัฐวิสาหกิจ’ เป็นภาคเศรษฐกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ ที่ผ่านมารัฐบาลจีนจึงใช้หลักการให้ ‘ภาคเอกชน’ เป็นหัวรถจักรในการผลักดันและขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ มาโดยตลอด”

 

“อย่างน้อยผมคิดว่า ทั้งสองเหตุผลน่าจะตอบได้ว่า ทำไมผมถึงมองว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์การยึด Alibaba มาทำเป็นรัฐวิสาหกิจ”

 

ท้ายที่สุดอาร์มเชื่อว่า กรณีของ แจ็ค หม่า จะนำไปสู่การที่รัฐบาลจีนและบริษัทเอกชน โดยเฉพาะบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีของประเทศจะต้องมาหารือร่วมกัน และหาจุดสมดุลที่รัฐบาลจะสามารถควบคุม กำกับแนวทางการดำเนินงานของบริษัทนั้นๆ ในขณะที่บริษัทนั้นๆ เอง ก็จะต้องมีพื้นที่ในการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ต่อไปด้วย

 

“ขณะเดียวกัน เหตุการณ์ในครั้งนี้ยังถือเป็นการส่งสัญญาณของรัฐบาลจีนด้วยว่า ‘ใครคือผู้ที่มีอำนาจใหญ่ที่สุดตัวจริง’” อาร์มกล่าว

 

อีกหนึ่งมุมมองโดย รานา มิตเตอร์ เชื่อว่า แจ็ค หม่า เปรียบเสมือนพรีเซนเตอร์ที่สามารถนำจีนเข้าสู่เวทีโลกจนได้รับการยอมรับด้วย ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ มาโดยตลอด โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของการเป็นนักธุรกิจที่มากฝีมือ ประสบความสำเร็จ และเป็นสิ่งที่รัฐบาลเองก็ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองเพียงลำพัง

 

“ความสามารถของแจ็ค หม่า ในการที่จะพูดเรื่องใดๆ ต่อจากนี้จะกลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้นสำหรับเขา ซึ่งผมเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะสร้างปัญหาให้กับจีนในอนาคต โดยเฉพาะศักยภาพในการสร้างซอฟต์พาวเวอร์”

 

แจ็ค หม่า

 

กับวันนี้ที่ แจ็ค หม่า ได้ปรากฏตัวบนหน้าสื่อครั้งแรกในรอบ 2 เดือนเต็มยังถือเป็นการคลายข้อสงสัย ลดแรงเสียดทานที่เหล่านักลงทุนมีต่อตัวเขา, Alibaba, Ant Group ไปจนถึงรัฐบาลจีน แม้ว่าเราจะยังไม่ทราบที่มาที่ไปของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็ตาม

 

ส่งผลให้หุ้นของ Alibaba ในตลาดหุ้นฮ่องกงเมื่อช่วง 14.00 น. ของวันพุธที่ 20 มกราคม (ตามเวลาฮ่องกง) เด้งรับข่าวดีทันที โดยปรับขึ้นมาอยู่ที่ 265.80 ดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นสู่ระดับดังกล่าวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือนเต็ม

 

ตาราง หุ้น Alibaba

ราคาหุ้นของ Alibaba Group ที่ปรับขึ้นสู่ระดับ 265.80 ดอลลาร์ฮ่องกงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือนเต็ม นับตั้งแต่เกิดกระแสข่าวเชิงลบต่อตัว แจ็ค หม่า, Alibaba และ Ant Group

 

 

การปรากฏตัวในครั้งนี้ของมหาเศรษฐีจากจีนยังสามารถวิเคราะห์ได้อีกด้วยว่าทางรัฐบาลจีนใกล้ (อาจ) จะเปิดเผยผลการสอบสวนหรือรายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับ แจ็ค หม่า ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากสื่ออย่าง Global Times ที่เปิดเผยข่าวออกมาก็เป็นสื่อที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลโดยตรง

 

นั่นหมายความว่าปริศนาทั้งหมดกำลังจะได้รับการคลี่คลายในเร็ววันนี้แล้ว

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X