วันนี้ (11 มกราคม) งานวิจัยจีนล่าสุดที่นำทีมโดย ดร.เฉาบิน จาก China-Japan Friendship Hospital ในกรุงปักกิ่ง ที่เพิ่งจะได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เผยว่าอดีตผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่ในอู่ฮั่นยังคงแสดงอาการบางอย่างซึ่งอาจเกี่ยวพันกับการติดเชื้อนั้น แม้จะผ่านมานานแล้วกว่า 6 เดือน โดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ประจำศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (US CDC) เองก็กำลังรวบรวมลักษณะอาการในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากติดโควิด-19 อยู่ในขณะนี้เช่นเดียวกัน
โดยลักษณะอาการมีตั้งแต่ภาวะสมองล้า ผมร่วง ไปจนถึงหัวใจผิดปกติ ดร.เฉาบิน และทีมวิจัยได้สำรวจและเก็บข้อมูลอดีตผู้ป่วยโควิด-19 จากโรงพยาบาลจินหยินถัน (Jin Yin-Tan Hospital) ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีน สถานที่ที่ทางการจีนใช้รับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่แรกๆ ของโลก ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการวิจัยและติดตามผลระยะยาวในระดับชาติของจีนอีกด้วย ซึ่งมีอดีตผู้ป่วยโควิด-19 เกือบ 30% ของโรงพยาบาลนี้ไม่ถูกนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย เนื่องจากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการวิจัย และส่วนที่เหลือก็มีอาการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตในเวลาต่อมา
บุคคลที่เข้าร่วมการวิจัยเป็นกลุ่มตัวอย่าง 1,733 ราย โดยจะต้องตอบแบบสอบถามจำนวนมาก เข้าพบแพทย์ติดตามอาการ ตรวจเลือด เอกซเรย์ร่างกาย และทำการทดสอบอื่นๆ โดยมีค่าเฉลี่ยอายุอยู่ที่ 57 ปี พบว่า 63% ยังคงมีอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลียหลังจากออกจากโรงพยาบาลไปกว่า 6 เดือน บางรายพบความผิดปกติของปอดและไต พบของเสียในเลือดสูงกว่าปกติ
โดย ดร.เฉาบิน ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอาการเหนื่อยล้าหรือวิตกกังวลที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่เซลล์ประสาทถูกทำลายเนื่องจากการติดเชื้อ หรือเป็นเพราะความบอบช้ำ (Trauma) จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ แต่อย่างไรก็ตาม ผลงานวิจัยข้างต้นอาจยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด เนื่องจาก ดร. เฉาบิน ใช้การทดสอบแบบรวดเร็วกับกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลบางอย่างคลาดเคลื่อนได้ โดยทีมวิจัยจะศึกษาและเก็บข้อมูลต่อไปเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะยาวของอดีตผู้ติดโควิด-19
เบื้องต้นจีนมีผู้ติดเชื้อแล้วราว 9.7 หมื่นราย เสียชีวิตแล้วราว 4,800 ราย โดยสหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุดในขณะนี้ถึง 22,374,782 ราย ตามมาด้วยอินเดีย 10,450,284 ราย บราซิล 8,105,790 ราย รัสเซีย 3,366,715 ราย และสหราชอาณาจักร 3,081,368 ราย ติดเชื้อสะสม 90,211,303 รายทั่วโลก รักษาหายเกือบ 64.7 ล้านราย (64,797,619 ราย) หรือคิดเป็นราว 72% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด เสียชีวิตแล้ว 1,933,438 ราย อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ราว 2.2%
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ดู ‘ความคืบหน้าวัคซีนต้านโควิด-19 และประเทศที่อนุมัติการฉีดวัคซีนแล้ว’
- ดู ‘โควิด-19 กลายพันธ์ุ กับประเทศที่ตรวจพบ’
- ดู ‘สำรวจประเทศ ‘ล็อกดาวน์’ รับมือโควิด-19 ระลอกล่าสุด’
- ดู ‘แต่ละประเทศฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ประชาชนไปเท่าไรแล้ว’
- ดู ‘รู้จักเชื้อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ที่ระบาดหนักในอังกฤษ รับมืออย่างไรหากวันหนึ่งเดินทางมาถึงไทย’
- ดู ‘8 ประเทศสุดท้ายที่ยังไม่พบผู้ติดโควิด-19 รายแรกอย่างเป็นทางการ’
- ดู ‘ตารางเทียบข้อมูลเบื้องต้นวัคซีนต้านโควิด-19 4 รายใหญ่ที่เผยความคืบหน้าล่าสุด’
ภาพ: Hector Retamal / AFP
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: