ฟรีแลนซ์กับความมั่นคงดูเป็นเรื่องที่สวนทางกัน เราจะวางแผนและตั้งเป้าหมายให้เกิดสิ่งนั้นได้อย่างไร
โค้ชหนุ่มและโอมศิริ ชวน ปั้น-จิตรกร แสงวิสุทธิ์ เจ้าของเพจ นายปั้นเงิน ฟรีแลนซ์ผู้ให้ความรู้เรื่องวางแผนการเงินการลงทุน มาแชร์วิธีตั้งเป้าหมาย การสร้างพอร์ตสำคัญอย่างการเกษียณ และการจัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสมในทุกช่วงวัยของชีวิตฟรีแลนซ์
อะไรคือข้อดีของฟรีแลนซ์หรือคนที่ทำงานอิสระ
ตามชื่อเลยก็คือมีอิสระ อยากจะทำอะไรเมื่อไรก็ได้ อยากจะรับงานเมื่อไรก็ได้ ในความเป็นจริง ช่วงแรกของชีวิตฟรีแลนซ์อาจจะได้อิสระในแง่ของเวลา เลือกที่จะไปเที่ยวหรือทำงานวันไหนก็ได้ แต่ในวันที่มีงานเข้ามาเยอะๆ ฟรีแลนซ์บางคนอาจจะทำงานหนักกว่าคนที่ทำงานประจำด้วยซ้ำ สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การจัดการเวลาของตัวเอง ข้อดีอีกเรื่องของฟรีแลนซ์หรืออาชีพอิสระก็คือไม่มีเพดานรายได้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับงานของเราว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน
ทำไมมีความคิดเรื่องการวางแผนเกษียณตั้งแต่อายุ 29 ปี
เมื่อก่อนเคยคิดว่าการวางแผนเกษียณเป็นเรื่องของผู้สูงอายุ แต่พอมาคิดดูแล้วถ้าเราวางแผนเร็วกว่าคนทั่วไป 20 ปี ผลตอบแทนที่ได้จะต่างกันมหาศาลเลย สมมติถ้าเราวางแผนเกษียณตั้งแต่เรียนจบ ช่วงที่อายุ 20 กว่าๆ ในประเทศไทยคนเกษียณอายุ 60 ปี ความต่างจะอยู่ที่ประมาณ 35 ปี ถ้าเราเริ่มเร็ว เราก็จะมีโอกาสมากกว่าคนอื่น เราจะสามารถออกแบบชีวิตที่ต้องการได้หลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น ต่างจากคนที่อายุมากแล้วเพิ่งมาวางแผนเกษียณ เพราะถ้าถึงตอนนั้น สถานะทางครอบครัว สถานะทางการเงิน หรือเรื่องต่างๆ จะยิ่งกำหนดกรอบให้เราต้องมีชีวิตแบบนั้น เราไม่สามารถฝันอะไรได้เยอะ ผมเรียนจบบัญชีมาและอยู่กับตัวเลขมาตั้งแต่ตอนนั้น เราก็เลยเข้ามาศึกษาเรื่องการเงินด้วย พอได้มาศึกษาจริงๆ ก็ทำให้เรารู้ว่าการเงินเป็นคนละเรื่องกับบัญชี งานที่ผมทำช่วงแรกดูเหมือนจะอิสระ แต่ในวันที่เราเริ่มรับงานแบบเดิมเข้ามาเรื่อยๆ มันก็ดูคล้ายกับงานประจำเหมือนกัน แค่เราไม่ได้สวัสดิการเหมือนงานประจำเท่านั้นเอง เราก็ยังคงต้องทำงานในช่วงเวลาเดิมของเราอยู่ เพียงแต่ว่าในช่วงที่เราอยากมีรายได้หรือเวลาเพิ่มขึ้น เราก็สามารถเลือกได้ว่าจะรับหรือไม่รับงานที่เข้ามา
ถ้าเราเริ่มเร็ว เราก็จะมีโอกาสมากกว่าคนอื่น
มีวิธีการออมหรือการลงทุนอย่างไรหลังจากที่มาเป็นฟรีแลนซ์
ด้วยความที่ผมเคยทำงานประจำมาก่อน ก็จะพอรู้ว่าเราต้องแบ่งสัดส่วนการใช้และเก็บเงินอย่างไร แต่ช่วงแรกที่มาเป็นฟรีแลนซ์อึดอัดมาก เพราะรายได้ไม่มั่นคงหรือเข้ามาเหมือนเดิม เงินก็ยังน้อย ไม่รู้จะเอาที่ไหนไปเก็บ เราก็เก็บเท่าที่เก็บได้มาเรื่อยๆ ในวันที่เรามีรายได้เพิ่มขึ้น เราก็วางแผนเงินออมล่วงหน้าไว้ ส่วนใหญ่ฟรีแลนซ์จะรู้ว่ารายได้ในอนาคตของเราจะเข้ามาเมื่อไร เราก็สามารถกำหนดได้ว่าเราจะเก็บเท่าไรจากรายได้ที่เราคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า อีกวิธีคือการจัดสัดส่วนเงินเก็บไว้ 1 ปีล่วงหน้า เช่น ปีนี้เราตั้งใจจะเก็บเงิน 100,000 บาท เราก็ควรเก็บมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น คนที่เป็นฟรีแลนซ์ต้องมองให้ไกลกว่าคนทำงานประจำ ในอีก 3 เดือน 6 เดือนข้างหน้าเราต้องเก็บเงินไว้เท่าไร เพราะความเสี่ยงมันเยอะกว่างานประจำอยู่แล้ว
คนที่เป็นฟรีแลนซ์ต้องมองให้ไกลกว่าคนทำงานประจำ
การลงทุนในชีวิตครั้งแรกของนายปั้นเงิน
จริงๆ ผมลงทุนมาตั้งแต่ตอนเรียนแล้ว ขอเงินพ่อมาลงทุนในหุ้น 30,000 บาท ตอนนั้นเราเรียนบัญชีก็มีความรู้เกี่ยวกับการอ่านงบการเงิน ร้อนวิชามาก เราเริ่มที่หุ้นเพราะกองทุนหรืออย่างอื่นไม่ได้มีงบการเงินให้ดู ช่วงแรกหุ้นตัวไหนงบการเงินดีเราก็ซื้อทันที ตอนนั้นยังไม่รู้จักการกระจายพอร์ตหรือการสังเกตธุรกิจ หุ้นตัวแรกที่ซื้อเป็นหุ้นเกี่ยวกับธุรกิจเหล็ก แช่ไว้ 1 ปี ด้วยความที่ธุรกิจเหล็กเป็นอะไรที่ตลาดไม่ค่อยสนใจ งบการเงินจึงไม่ได้โตอะไรมากมาย พอถือไปเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกว่าทำไมราคานิ่ง ได้แค่เงินปันผลมานิดหน่อย เพื่อนที่ซื้อหุ้นพร้อมกันแต่ลงตัวอื่นราคากลับขึ้นไปเรื่อยๆ ตอนนั้นก็เป็นบทเรียนให้เราว่า ควรจะมีมุมมองที่หลากหลายมากกว่านี้ หลังจากนั้นมาก็ไปลงทุนแบบเทรดเดอร์ ช่วงแรกก็ยังไปได้อยู่ แต่ช่วงหลังเราอยากได้มากขึ้นก็เลยไปเชื่อคนอื่น หุ้นตัวนั้นตัวนี้ดีก็ซื้อตาม ตอนนั้นเริ่มทำงานแล้วก็เอาเงินตัวเองใส่เข้าไปเรื่อยๆ จนผลตอบแทนเริ่มขาดทุนหนักมาก ขาดทุนหลักแสน เริ่มรู้สึกว่าเทรดเดอร์อาจจะไม่ใช่ทางของเรา ตัดสินใจนำเงินออกมาจากพอร์ตไปลงทุนในหุ้นใหญ่ๆ กระจายสัดส่วนมาในสินทรัพย์อื่นบ้าง เพราะตอนแรกไม่เคยสนใจกองทุนเลย เพราะคิดว่ามันช้า แต่พอศึกษาก็พบว่ากองทุนบางประเภทก็ช่วยให้เราเร็วได้ จากเดิมที่เราสนใจแต่เรื่องผลตอบแทน เราก็มาสนใจเรื่องความเสี่ยงมากขึ้น เพราะการลงทุนมีสองด้านเสมอ พอเรากระจายสัดส่วนพอร์ตได้ดีแล้ว เราก็มาศึกษาเรื่องการวางแผนการเงิน การวางแผนการเกษียณ และเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติม
คำแนะนำสำหรับฟรีแลนซ์ที่อยากเริ่มลงทุน
ไม่ว่าอาชีพอะไรหลักการลงทุนก็เหมือนกัน เพียงแต่เครื่องมืออาจจะต่างกัน มนุษย์เงินเดือนอาจจะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นสวัสดิการ ดังนั้นคนที่เป็นฟรีแลนซ์ควรจะเริ่มลงทุนให้ไว เพราะเรามีข้อดีตรงที่เพดานรายได้เราไม่จํากัด ถ้าเราหาได้มากก็สามารถนำเงินมาทบได้มากขึ้น แต่สำหรับฟรีแลนซ์ที่ต้องการลงทุนระยะยาว แนะนำว่าให้ประเมินตัวเองก่อน ผมเชื่อว่าคนที่เป็นฟรีแลนซ์จะวางแผนชีวิตได้ค่อนข้างดี ก่อนจะเริ่มลงทุน เราต้องวางแผนให้ดีว่าชีวิตของเรามีเป้าหมายอะไรบ้าง โดยอาจจะทำประกันคุ้มครองความเสี่ยงที่จำเป็นไว้ด้วย ฟรีแลนซ์ควรจะเก็บเงินสำรองให้มากกว่ามนุษย์เงินเดือน เพราะถ้างานไม่เข้าเงินจะกลายเป็นศูนย์ทันที อย่างน้อยควรจะมีเงินสำรองไว้ประมาณ 1 ปี แต่ช่วงที่มีโควิดแบบนี้ ผมคิดว่าอาจจะไม่พอ ควรจะต้องสำรองไว้ 18-24 เดือนด้วยซ้ำ เพราะหลายๆ อย่างมันไม่แน่นอน
ไม่ว่าอาชีพอะไรหลักการลงทุนก็เหมือนกัน เพียงแต่เครื่องมืออาจจะต่างกัน คนที่เป็นฟรีแลนซ์ควรจะเริ่มลงทุนให้ไว เพราะเรามีข้อดีตรงที่เพดานรายได้เราไม่จํากัด และก่อนจะเริ่มลงทุน เราต้องวางแผนให้ดีว่าชีวิตของเรามีเป้าหมายอะไรบ้าง
สำหรับตัวผมเอง พอร์ตที่สำคัญที่สุดคือพอร์ตการเกษียณ ผมวางแผนไว้ว่าอายุ 55-60 ปีจะเลิกทำงาน ผมก็จะต้องคิดแล้วว่าช่วงเวลานั้นจะต้องมีเงินเท่าไร และเราอยากจะใช้เงินเดือนละเท่าไร จากวันนี้ไปถึงตอนนั้นเป็นระยะเวลากี่ปี ต้องการผลตอบแทนเท่าไร แล้วก็มาดูว่าระหว่างทางก่อนเกษียณเรามีเรื่องอะไรที่อยากจะได้บ้าง ผมเป็นคนชอบการท่องเที่ยว เราอาจจะต้องเก็บเงินไว้เพื่อไปเที่ยวทุกปี ถ้าในช่วงเหตุการณ์ปกติ ผมจะไปเที่ยวต่างประเทศปีละ 1-2 ครั้ง ใช้งบประมาณครั้งละประมาณ 50,000 บาท ผมก็จะคิดแล้วว่าต้องเก็บเงินเท่าไร อาจจะลงทุนในพอร์ตที่ใช้เงินไม่มากแต่เก็บไปเรื่อยๆ ก็หารออกมาว่าต้องเก็บเดือนละเท่าไร แผนตรงนี้เป็นแผนระยะสั้นที่สามารถยืดหยุ่นได้ แต่เงินที่เราต้องใช้แน่ๆ ก็ควรจะเก็บไว้ในออมทรัพย์หรือในตราสารหนี้ระยะยาวก็ได้ สำหรับคนที่อยากจะแต่งงานในอีก 3-5 ปีข้างหน้าถือว่าเป็นแผนระยะกลาง ให้คิดตั้งแต่ตอนนี้เลย หรือบางคนต้องเก็บเงินไว้สำหรับการศึกษาของลูก ก็ต้องวางแผนไว้ล่วงหน้า เพราะขนาดของเงินในแต่ละเวลากับเป้าหมายมันไม่เท่ากัน ระยะสั้นเราอาจจะเสี่ยงได้น้อย ระยะกลางเราอาจจะเสี่ยงได้มากหน่อย ต้องรู้จักตัวเองว่าสามารถยืดหยุ่นอย่างไรได้บ้าง แล้วก็จัดพอร์ตให้เหมาะสมกับเป้าหมายของเรา
ช่วยแนะนำเกี่ยวกับการจัดพอร์ตสำหรับคนแต่ละช่วงอายุ
คนแต่ละช่วงอายุมีความต้องการไม่เหมือนกัน ตอนนี้ผมอาจจะมีหลายพอร์ตเพราะมีหลายเป้าหมาย แต่ในวันที่ผมอายุมากขึ้น เรารู้แล้วว่าชีวิตต้องการอะไร เราจะเริ่มจัดพอร์ตรวมกันและเริ่มเน้นความต้องการใดความต้องการหนึ่งมากขึ้น ช่วงอายุ 25-30 ปี เราจะฝันเยอะและกล้าเสี่ยง ถ้าเราเริ่มวางแผนตั้งแต่อายุน้อย เราจะมองเห็น Career Path ของเรา คนที่เป็นฟรีแลนซ์จะมองออกว่าตัวเองมีโอกาสเติบโตอย่างไรได้บ้าง ในช่วงที่เราโฟกัสกับการทำงาน ขณะเดียวกันก็โฟกัสกับแผนการเกษียณไปด้วย การที่เราวางแผนเกษียณตั้งแต่อายุน้อย เราจะมีโอกาสและมีความยืดหยุ่นมากกว่าคนอื่น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขชีวิตของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม ต้องมีเงินสำรองของตัวเองไว้ด้วย ส่วนคนอายุ 35-45 ปี ฟรีแลนซ์อายุเท่านี้จะมีประสบการณ์และเริ่มมั่นคงมากขึ้น มีการวางแผนมากขึ้น ช่วงอายุเท่านี้ยังสามารถรับความเสี่ยงได้อยู่ แต่อาจจะไม่ได้มากเท่าคนอายุ 25-30 ปี คนที่มีเวลามากพออาจจะไปศึกษาและลงทุนในหุ้น คนที่รับความเสี่ยงได้สูงอาจจะลงทุนในหุ้นสัก 70% และ 30% ลงทุนในตราสารหนี้หรือสินทรัพย์ประเภทอื่น ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจในหุ้น แนะนำให้ไปลงทุนในกองทุนรวม โดยจัดสัดส่วนให้เหมาะสมกับรูปแบบชีวิตที่ต้องการ ส่วนคนที่อายุ 45-55 ปี ฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่ในอายุเท่านี้จะมั่นคงแล้ว หรือบางคนอาจจะเปิดกิจการ มีบริษัทเป็นของตัวเอง แต่สิ่งที่ต้องมองคืออีกไม่กี่ปีก็ต้องหยุดทำงาน เพราะร่างกายไม่ได้แข็งแรงเหมือนเดิมแล้ว อาจจะแบ่งเงินไปอยู่ในกลุ่มออมทรัพย์หรือสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้ หรือบางคนที่รู้สึกว่าทั้งหมดที่เก็บมาปลอดภัยแล้ว ก็สามารถยกเงินทั้งหมดไปไว้ในออมทรัพย์ก็ได้ รายได้ที่เข้ามาก็เป็นโบนัสที่เอาไปใช้จ่ายแทน อยากบอกว่าเครื่องมือเป็นเรื่องสำคัญ คนที่มีเวลามากหน่อยอาจจะไปศึกษาหุ้นรายตัว แต่คนที่มีเวลาน้อยก็ควรไปลงทุนในกองทุนรวม หรือบางคนอยากได้เงินบำนาญเหมือนเพื่อนที่ทำงานประจำ ก็อาจจะไปทำประกันบำนาญไว้ เพื่อที่อนาคตจะได้มีเงินเข้ามาสม่ำเสมอ
อยากฝากอะไรกับชาวฟรีแลนซ์
เรื่องการเงินเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับทุกคน แม้ว่าฟรีแลนซ์จะเป็นอาชีพที่หาเงินได้ค่อนข้างเก่ง แต่อย่าลืมว่าอาชีพนี้ก็ค่อนข้างเสี่ยง เพราะมันไม่มั่นคงเหมือนงานประจำ แนะนำว่าควรแบ่งเงินบางส่วนมาทำให้ชีวิตมั่นคงด้วย ในวันที่เราอายุมากขึ้นความสามารถของเราจะยิ่งถดถอยลงไป ในวันนั้นถ้าเราไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิม และไม่มีเงินสำรอง มันอาจจะทำให้เราหาทางไปต่อไม่ถูก
ในวันที่เรามีความสามารถในการทำงานอยู่ ก็ควรจะแบ่งเงินไปวางแผนสำรองให้ตัวเอง เพื่อที่เราจะได้เดินไปข้างหน้าแบบไม่ต้องพะวงข้างหลัง
หากหารายได้มากมายแล้ว ก็อย่าลืมนำเงินไปต่อเงินด้วยการลงทุน และหากอยากได้ความรู้เพิ่มเติมที่ตอบโจทย์การลงทุน เหมาะกับผู้ที่อยากเตรียมพร้อม ก่อนเริ่มลงมือ เข้าไปอ่านข้อมูลดีๆ ได้ที่นี่ https://www.setinvestnow.com/th/home ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
อยากเปิดบัญชีลงทุน www.setinvestnow.com/openacc คลิกไปที่เมนูเปิดบัญชี และคลิกต่อไปยังโบรกเกอร์ที่พร้อมให้บริการได้ง่ายๆ
Credits
The Hosts จักรพงษ์ เมษพันธุ์, โอมศิริ วีระกุล
Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์
Executive Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Project Manager ณปภัช ฤทธิอัครกุล
Show Producer โอมศิริ วีระกุล
Sound Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์
Videographer อนุรักษ์ นนทจิตต์
Graphic Designer นิสากร ฤทธาภัย
Show note หนึ่งฤดี ธนสารวิสุทธิ์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Webmaster ณฐพร โรจน์อนุสรณ์
Channel Admin เอกราช มอเซอร์
Social Media Admin สุทธกิตติ์ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วนัชพร ดวงนิล
Archive Officer ชริน จำปาวัน