แม้ธุรกิจที่ทำอาจไม่ได้มีรายได้มหาศาล แต่การมีนิสัยทางการเงินแบบมหาเศรษฐีก็ช่วยยกระดับสถานะทางการเงินและความมั่นคงของบริษัทได้
แน่นอนว่าความปรารถนาของผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจทุกคนก็คือการผลักดันกิจการของตนให้เปรี้ยงให้ปัง กลายเป็นที่รู้จักยอมรับของตลาด ซึ่งหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุผลก็คือการทำการตลาดและการสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม กุญแจความสำเร็จดังกล่าวอาจไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางการเงิน สภาพคล่อง หรือรายได้ของบริษัท โดย Tom Poponaronis รองประธานบริหารแห่ง Innovation at Massive Alliance เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ Entrepreneur ว่า สิ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจรักษาความมั่งคั่งเอาไว้ได้ก็คือนิสัยทางการเงิน 5 แบบที่บรรดานักธุรกิจมหาเศรษฐีพันล้านอย่าง Warren Buffett มี
5 นิสัยทางการเงินดังกล่าวคือ
- สร้างลิตส์แรงจูงใจของเป้าหมายทางการเงิน (Create a motivating list of money goals) คือการเขียนเป้าหมายทางการเงินและหยิบขึ้นมาพิจารณาทบทวนอยู่เสมอ จะช่วยให้ผู้ประกอบการมองเห็นทิศทางของตนเองได้ชัดเจนขึ้นว่าต้องทำอะไรเพื่อจะยกระดับรายได้และผลกำไรของธุรกิจ
- คิดแนวทางปฏิบัติเพื่อการใช้จ่ายและการออม (Devise an action plan for spending and saving) การไม่มีแผนการใช้จ่ายและการออมถือเป็นความผิดพลาดที่จะทำให้ผู้ประกอบการไปไม่ถึงเป้าหมายความมั่งคั่งของตนได้ โดย Spencer Barclay ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอของ Savology กล่าวว่า ปัญหาด้านการเงินที่ผู้ประกอบการประสบส่วนใหญ่เป็นผลจากการที่ไม่มีใครติดตามว่าเงินของตนเองมาจากไหนและไปที่ไหน ซึ่งการวางแผนแนวทางการปฏิบัติเพื่อใช้จ่ายและเก็บออมที่ทำให้สามารถติดตามการใช้จ่ายได้ทุกบาททุกสตางค์ ถือเป็นนิสัยที่จะสร้างวินัยทางการเงินได้อย่างดีเยี่ยม เพราะช่วยในเรื่องของการหาทางลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ของบริษัทได้
- กระจายความเสี่ยงด้วยการเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ (Diversify risk by generating new income streams) โดย Tom Corley เขียนไว้ในหนังสือ Rich Habits: The Daily Success Habits of Wealthy Individuals ว่า 65% ของบรรดามหาเศรษฐีร้อยล้านสร้างตัวขึ้นมาได้จากการมีแหล่งรายได้อย่างน้อย 3 ทาง ขณะที่ 29% มีอย่างน้อย 5 ทางหรือมากกว่านั้น แสดงให้เห็นว่าบุคคลเหล่านี้หาเงินจากการทำงานหรือทำธุรกิจหลายทาง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การมีแหล่งหรือช่องทางทำเงินที่หลากหลาย นอกจากจะเพิ่มปริมาณเม็ดเงินในกระเป๋าแล้ว ยังเป็นการลดความเสี่ยงทางการเงินของบุคคลนั้นๆ ด้วย
ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าวใกล้เคียงกับการสร้างแหล่งรายได้หลายทางจากธุรกิจที่ผู้ประกอบการมีอยู่ในมือ การขายสินค้าผ่านช่องทางใหม่ๆ หรือการคิดผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้อย่างยั่งยืน เพราะในขณะที่ยอดขายสินค้าตัวแรกลดลง ก็ยังมีรายได้จากตัวอื่นเข้ามาทดแทน
- การต่อยอดรายได้ด้วยการนำไปลงทุน (Invest to create passive income) คือการนำรายได้ที่ได้ไปลงทุนทำเงินกลับมา โดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนแนะนำให้ใช้กลยุทธ์ ‘Buy and Hold’ (ซื้อและถือ) สำหรับการสร้างรายได้แบบ Passive Income ซึ่งผลการศึกษาของ Investopedia ที่ศึกษากลยุทธ์การลงทุนดังกล่าวตั้งแต่ปี 1962-2010 พบว่า นักลงทุนได้ผลตอบแทนรายปีในระยะยาวเฉลี่ยปีละ 12.1% สำหรับการลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก และ 9.9% สำหรับการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ แม้ในช่วงเวลาที่ศึกษาจะมีวิกฤตทางการเงินครั้งใหญ่เกิดขึ้นถึง 3 ครั้งด้วยกันก็ตาม
- จับตาและตื่นตัวกับความต้องการของตลาดอยู่เสมอ (Stay aware of the market) โดยงานวิจัยของ CB Insights พบว่า 42% ของสตาร์ทอัพล้มเหลวเพราะไม่มีตลาดสำหรับสินค้าและบริการที่ผลิตออกมา ดังนั้นการขาดความตื่นตัวต่อกระแสตลาดจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งผู้ประกอบการที่มั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมาได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความสามาถในการติดตามและจับทิศทางของกระแสตลาด
สำหรับหลายคน การสร้างความมั่นคงทางการเงินด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติแนวคิดอาจเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้เวลา แต่ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมควรค่าที่จะลงมือเปลี่ยน ซึ่ง Tom Poponaronis ผู้เขียนและเรียบเรียงบทความชิ้นนี้ระบุว่า การควบคุมนิสัยการใช้เงินของตนเองไม่เพียงแต่จะทำให้บุคคลมีความมั่นคงทางการเงินเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้อย่างยาวนาน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: