จาง จั้น ผู้สื่อข่าวอิสระวัย 37 ปี ที่รายงานสถานการณ์จากเมืองอู่ฮั่นในช่วงแรกที่มีการระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก ถูกศาลเซี่ยงไฮ้สั่งจำคุกเป็นเวลา 4 ปี ด้วยข้อหา ‘สร้างข้อขัดแย้งและกระตุ้นให้เกิดปัญหา’ โดยเรื่องนี้ถูกเปิดเผยโดย จาง เค่อเค่อ ทนายความของเธอ ซึ่งเข้าร่วมการพิจารณาคดีด้วย
จาง จั้น เป็นอดีตทนายความหญิงผู้ออกเดินทางกว่า 400 ไมล์จากเซี่ยงไฮ้ถึงอู่ฮั่นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อรายงานเกี่ยวกับการแพร่ระบาดและความพยายามในการควบคุมการระบาดนี้ ในจังหวะเดียวกับที่รัฐบาลเริ่มเข้ามาควบคุมสื่อจีนทั้งสื่อของรัฐและเอกชน เป็นเวลากว่า 3 เดือนที่ จาง จั้น บันทึกชีวิตผู้คนภายใต้สถานการณ์ล็อกดาวน์ในอู่ฮั่นทั้งบนท้องถนนและโรงพยาบาล และนำเสนอออกมาทั้งในรูปแบบบทความและการถ่ายทอดสด แม้จะต้องเผชิญกับการคุกคามจากเจ้าหน้าที่ แต่รายงานข่าวของเธอก็ถูกส่งต่อกันอย่างแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์
ข้อมูลของเครือข่ายนักสิทธิมนุษยชนในจีนระบุว่า เธอหายตัวไปในวันที่ 14 พฤษภาคม จากนั้นในวันถัดมามีข้อมูลเปิดเผยว่า เธอถูกควบคุมตัวโดยตำรวจเซี่ยงไฮ้ และถูกตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ในเอกสารคำฟ้องระบุว่า เธอส่งข้อมูลเท็จผ่านทางข้อความ วิดีโอ และสื่ออื่นๆ บน WeChat, Twitter และ YouTube นอกจากนี้เธอยังถูกกล่าวหาเรื่องการให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ และการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ในอู่ฮั่นอย่างมุ่งร้าย
สำนักข่าว BBC ระบุว่า ได้รับเทปสัมภาษณ์ที่จางยอมรับว่าบางครั้งเธออาจมีจิตวิญญาณที่ดื้อรั้น แต่เธอบอกว่า เธอก็แค่เก็บบันทึกความจริงและตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดเธอจึงไม่สามารถเปิดเผยความจริงออกมาได้ และเธอยังยืนยันว่า เธอจะไม่หยุดทำในสิ่งที่กำลังทำอยู่ เพราะเธอบอกว่าประเทศของเธอไม่สามารถก้าวถอยหลังได้ อย่างไรก็ตาม BBC ไม่ได้ระบุว่าบทสัมภาษณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อใด
จางอดอาหารประท้วงการควบคุมตัวเธอ และถูกระบุว่ามีสุขภาพย่ำแย่ หนึ่งในทนายของเธอระบุหลังเข้าเยี่ยมเธอเมื่อต้นเดือนธันวาคมว่าเธอถูกบังคับให้รับอาหารผ่านทางสายยาง รวมทั้งมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน และปวดท้อง นอกจากนี้ยังประสบความยากลำบากด้านสภาพจิตใจด้วย
สำนักข่าว CNN ระบุว่า ยังไม่ได้รับคำตอบจากกระทรวงการต่างประเทศของจีนเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อจางระหว่างการคุมขัง ส่วน BBC รายงานว่า มีนักข่าวอิสระที่รายงานสถานการณ์จากอู่ฮั่นหายตัวไปก่อนหน้านี้ บางรายปรากฏตัวในภายหลังและระบุว่าถูกบังคับให้กักบริเวณ หรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล แต่บางรายก็ยังไม่ทราบเบาะแส
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: