×

สธ. เผยผลการขยายวงตรวจเชิงรุกที่สมุทรสาคร พบอัตราการติดเชื้อลดลง

โดย THE STANDARD TEAM
26.12.2020
  • LOADING...
สธ. เผยผลการขยายวงตรวจเชิงรุกที่สมุทรสาคร พบอัตราการติดเชื้อลดลง

วันนี้ (26 ธันวาคม) ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าสถานการณ์โรคโควิด-19 กรณีจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดกระบี่ โดย นพ.โอภาส กล่าวว่าวันนี้มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ 110 ราย ในจำนวนนี้เป็นการติดเชื้อในประเทศ 64 ราย คัดกรองเชิงรุกในแรงงานต่างด้าว จังหวัดสมุทรสาคร 30 ราย และอีก 16 รายเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ อยู่ในสถานกักกันโรคของรัฐ รวมผู้ป่วยสะสม 6,020 ราย หายป่วยแล้ว 4,152 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม คงอยู่ที่ 60 ราย มีผู้ที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 1,808 ราย เกือบทั้งหมดอาการน้อยมาก ผู้ป่วยอาการหนักที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ 3 ราย เป็นผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว สำหรับผู้ป่วยสูงอายุที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ขณะนี้อาการดีขึ้น ถอดเครื่องช่วยหายใจออกแล้ว 

 

สำหรับจังหวัดสมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2563 ได้ทำการค้นหาเชิงรุกในชุมชนตลาดกลางกุ้ง ซึ่งเป็นจุดที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ผลการตรวจ 2,052 ราย พบติดเชื้อ 901 ราย คิดเป็น 44% จึงได้ค้นหาเชิงรุกในพื้นที่รอบๆ ได้แก่ ชุมชนซอยเศรษฐกิจ 13 ตรวจ 2,060 ราย พบผู้ติดเชื้อ 134 ราย คิดเป็น 7%, ตลาดทะเลไทย ตรวจ 963 ราย พบติดเชื้อ 137 ราย คิดเป็น 14%, สะพานปลาสมุทรสาคร 491 ราย ติดเชื้อ 2 ราย คิดเป็น 0.4%, โรงพยาบาลสมุทรสาคร 386 ราย ติดเชื้อ 11 ราย คิดเป็น 3% และขยายวงการค้นหาออกไป ซึ่งพบว่าการแพร่กระจายโรคน้อยลง ทำให้มั่นใจว่าควบคุมโรคได้ดีขึ้น รวมตรวจทั้งหมด 10,411 ราย พบผู้ติดเชื้อ 1,337 ราย คิดเป็น 12.8% สอดคล้องกับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ออกประกาศให้จังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยห้ามแรงงานต่างด้าวเข้าออกจังหวัด และให้งดกิจกรรมสาธารณะทั้งหมด ปิดกิจการ/สถานบันเทิงต่างๆ ส่วนกิจการที่จำเป็น เช่น โรงงานอุตสาหกรรมเครื่องอุปโภคบริโภคอนุญาตให้เปิดได้ ส่วนคนไทยยังสามารถเดินทางเข้าออกได้เฉพาะกรณีจำเป็น มีมาตรการป้องกันตนเอง สวมหน้ากาก 100% ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง จดบันทึกกิจกรรมที่ทำ ส่วนพื้นที่ที่ติดกับพื้นที่ควบคุมสูงสุดให้งดเว้นการจัดกิจกรรมต่างๆ ยกเว้นกิจกรรมในครอบครัว 

 

สำหรับจังหวัดที่มีผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จังหวัดสมุทรสาคร มี 33 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร, กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, ปทุมธานี, สระบุรี, อุตรดิตถ์, เพชรบุรี, เพชรบูรณ์, กระบี่, กำแพงเพชร, ขอนแก่น, อยุธยา, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, ภูเก็ต, สุพรรณบุรี, สมุทรสงคราม, ชัยนาท, พิจิตร, อ่างทอง, อุดรธานี, ชัยภูมิ, นครสวรรค์, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, นนทบุรี, ราชบุรี, ชลบุรี, เลย, อุบลราชธานี และสงขลา จำนวนผู้ที่ติดเชื้อสะสม 234 คน ส่วนใหญ่เกิดจากผู้สัมผัสได้รับข้อมูลข่าวสารจึงไปรับการตรวจเชื้อและจากติดตามผู้สัมผัส ทำให้พบผู้ติดเชื้อมากขึ้น บางเหตุการณ์เกิดเป็นกลุ่มก้อนค่อนข้างใหญ่ เช่น กรณีบิ๊กไบค์ 

 

นอกจากนี้พบผู้ติดเชื้อกลุ่มใหม่ที่จังหวัดระยองจากการไปสถานที่เสี่ยง พบผู้ติดเชื้อแล้ว 9 ราย และรอผลการตรวจ 4 ราย จากการสอบสวนโรคพบว่ากลุ่มนี้มีกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพนัน มีความเสี่ยงสูงในการแพร่ระบาด เนื่องจากอยู่ในห้องอับทึบ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก มีการตะโกนหรือใกล้ชิดกันเป็นจำนวนมาก ทีมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองได้ลงพื้นที่ควบคุมโรคเป็นการเร่งด่วนแล้ว และขอความร่วมมือประชาชน ช่วยกันสอดส่องผู้ลักลอบเข้าประเทศ หากพบขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเพื่อนำเข้ากักตัว ป้องกันการนำเชื้อเข้าประเทศ

 

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่าส่วนความคืบหน้ากรณีกลุ่มผู้ร่วมงานเลี้ยงที่อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เดินทางโดยรถจักรยานยนต์จากหลายจังหวัดวันที่ 11-12 ธันวาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 17 รายใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร 1 ราย, กระบี่ 8 ราย เป็นชายอายุ 35 ปี บุตรชาย ภรรยา และญาติ รวมทั้งเทรนเนอร์และเพื่อนหญิงของเทรนเนอร์, ภูเก็ต 3 ราย เป็นอายุ 40 ปี และบุตรชาย 2 คน, สงขลา 2 ราย เป็นชายอายุ 27 ปี และเพื่อน และกรุงเทพมหานคร 5 ราย เป็นชายอายุ 41 ปี และพนักงานบริษัทที่อยู่ในสถานที่เดียวกันอีก 4 คน 

 

“ผู้ที่มีอาการป่วยหลังจากที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงและจังหวัดที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 กรณีสมุทรสาคร ระยอง และกระบี่ และผู้ที่เสี่ยงสูงคือพูดคุยกับผู้ติดเชื้อ 5 นาทีขึ้นไป หรืออยู่ในห้องปรับอากาศร่วมกันมากกว่า 15 นาที หรือถูกไอจามใส่ ขอให้ไปโรงพยาบาลและแจ้งประวัติเสี่ยง หากแพทย์จะเป็นผู้ประเมินและส่งตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการฟรี กรณีที่ไม่ชัดเจนหรือไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ยังไม่มีอาการใดๆ แพทย์เห็นว่าไม่มีความเสี่ยง ขอให้แยกตัว สังเกตอาการ สวมหน้ากาก หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆ อาการที่ต้องสังเกตคือเป็นไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หากครบ 14 วันแล้วไม่มีอาการถือว่าปลอดภัย หากมีข้อสงสัยโทรสอบถามสายด่วนของจังหวัดหรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” นพ.โสภณกล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X