×

ประมวลวิกฤตโควิด-19 ปี 2020 โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่มนุษยชาติไม่มีวันลืม

โดย THE STANDARD TEAM
21.12.2020
  • LOADING...
ประมวลวิกฤตโควิด-19 ปี 2020 โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่มนุษยชาติไม่มีวันลืม

ปี 2020 กำลังจะผ่านพ้นไปท่ามกลางม่านหมอกโรคระบาดที่ทำให้ทั่วโลกตกอยู่ในเงามืดตลอดทั้งปี ย้อนกลับไปตลอดปีที่ผ่านมา โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อโลกในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ดิสรัปต์ซัพพลายเชน ระบบสาธารณสุข ฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย และนำไปสู่ยุค New Normal ที่มนุษยชาติต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

 

THE STANDARD ประมวลสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การค้นพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 (โควิด-19) ครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น สู่การระบาดใหญ่ทั่วโลก และการพัฒนาวัคซีนในสงครามต่อสู้ไวรัสของนานาชาติ จนทำให้มนุษย์กลับมามีความหวังอีกครั้ง 

 

วิกฤตโควิด-19

 

ปอดอักเสบปริศนาโผล่อู่ฮั่น

จุดเริ่มต้นการระบาดของโรคโควิด-19 จนถึงขณะนี้ (เดือนธันวาคม 2020) ยังคงไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่ากำเนิดมาจากอะไรและบุคคลใดที่เป็นต้นตอการระบาด แต่สถานที่และห้วงเวลาที่โรคระบาด ซึ่งเชื่อได้ว่าร้ายแรงที่สุดโรคหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เริ่มต้นขึ้นนั้นคาดว่าเกิดขึ้นในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ช่วงปลายปี 2019 ระหว่างเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม แม้จะมีงานวิจัยบ่งชี้ความเป็นไปได้ที่โรคระบาดมรณะนี้อาจก่อกำเนิดและเริ่มระบาดมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม

 

ก่อนที่โลกจะรู้จักกับโรคโควิด-19 ในช่วงที่ข่าวการระบาดปรากฏขึ้นครั้งแรกๆ นั้น สื่อทุกสำนักต่างเรียกมันว่าโรคปอดอักเสบปริศนา (Mystery Pneumonia) เพราะผู้เชี่ยวชาญยังไม่สามารถหาที่มาและไม่รู้ว่าเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสชนิดไหน แต่ทราบเบื้องต้นว่าเป็นไวรัสในตระกูลโคโรนา – Coronavirus (CoV) ซึ่งเป็นไวรัสตระกูลใหญ่ที่เป็นต้นเหตุโรคร้ายแรงแยกย่อย เช่น 

 

  • โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส (SARS-CoV) 
  • โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส (MERS-CoV)

 

ส่วนโควิด-19 นั้นได้รับการเรียกขานในช่วงแรกว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (2019-nCoV) ก่อนองค์การอนามัยโลก หรือ WHO จะขนานนามชื่อโรคอย่างเป็นทางการว่า โควิด-19 (COVID-19) หรือ SARS-CoV-2

 

ข่าวการระบาดของโรคปอดอักเสบปริศนาพบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น แรกเริ่มเดิมที เชื่อกันว่าตลาดหัวหนาน ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งอาหารทะเลและสัตว์ป่า ใจกลางเมืองอู่ฮั่น เป็นต้นตอการแพร่ระบาดโรคมรณะนี้ เนื่องจากผู้ติดเชื้อที่พบรายแรกๆ มีความเชื่อมโยงกับตลาดแห่งนี้ แต่ต่อมาทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด (CDC) ของจีนระบุว่า ตลาดแห่งนี้อาจเป็นเพียงแหล่งที่เกิด Super Spreader หรือการแพร่ระบาดในกลุ่มคนจำนวนมาก 

 

หลักฐานทางพันธุกรรมยืนยันว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นเหตุของโรคโควิด-19 มาจากค้างคาวในจีน ก่อนจะแพร่มาสู่คน ผ่านสัตว์ที่เป็นพาหะ ซึ่งแม้ผู้ติดเชื้อที่เป็นข่าวรายแรกๆ จะมีความเชื่อมโยงกับตลาดแห่งนี้ แต่จากการตรวจตัวอย่างสัตว์ในตลาดแห่งนี้มีผลออกมาเป็นลบ หรือไม่พบการระบาด หมายความว่าการระบาดนั้นอาจไม่ได้เกิดจากสัตว์พาหะที่ขายอยู่ในตลาดหัวหนาน

วิกฤตโควิด-19

 

ใครคือผู้ป่วยหมายเลข 0 ของจีน

คำถามคาใจที่ทั่วโลกยังพยายามหาคำตอบคือใครเป็นผู้ที่ได้รับเชื้อคนแรก หรือเป็นผู้ป่วยหมายเลข 0 (Patient Zero) ในประเทศจีน ก่อนที่จะแพร่เชื้อต่อไปยังบุคคลอื่น และเกิดการระบาดลุกลามไปทั่วโลก

 

ข่าวหลายสำนักทั้งจากสื่อจีนและนานาชาติรายงานความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยหมายเลข 0 คนแรก เป็นชายไม่เปิดเผยชื่อ วัย 55 ปี จากมณฑลหูเป่ย ซึ่งพบว่า ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2019 แต่กรณีการติดเชื้อรายแรกที่ได้รับการยืนยันจากรัฐบาลจีน และรายงานถึง WHO นั้นได้รับการบันทึกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม เป็นชายเกษียณวัยประมาณ 70 ปี มีอาการไข้และไอผิดปกติ ซึ่งชายคนนี้ยืนยันว่า ไม่เคยไปตลาดหัวหนานเลยในช่วงเวลานั้น 

 

ทางการจีนและ WHO ยอมรับว่า โรคปอดอักเสบปริศนานี้เกิดการแพร่ระบาดจากคนสู่คนในวันที่ 21 มกราคม 2020 

 

สถานการณ์ระบาดในจีน ณ เวลานั้น เริ่มอันตรายและเป็นที่จับตามองจากหน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลก มีผู้เสียชีวิต 6 ราย และติดเชื้อกว่า 300 ราย จนทางการจีนต้องประกาศห้ามเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นปกปิดกรณีการติดเชื้อ

 

การระบาดที่รวดเร็ว ผู้ติดเชื้อพุ่งเกิน 620 ราย เสียชีวิต 17 ราย ทำให้จีนตัดสินใจปิดเมืองอู่ฮั่น กักตัวประชาชนในบ้าน ห้ามการเดินทางเข้าออกเมือง และเข้าสู่การล็อกดาวน์ใหญ่ครั้งแรก 

 

วิกฤตโควิด-19

 

ทั่วโลกแตกตื่น วิกฤตโรคระบาดใหม่ พบผู้ติดเชื้อในไทยครั้งแรก

ไทยกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่ตกเป็นเหยื่อโควิด-19 นอกประเทศจีน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มดำเนินมาตรการคัดกรองนักเดินทางที่มาจากอู่ฮั่นที่สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต และเชียงใหม่ แต่ไม่วายพบผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นหญิงจีน วัย 61 ปี ที่อาศัยในอู่ฮั่น และบินตรงมาเที่ยวไทยพร้อมกับครอบครัวและกรุ๊ปทัวร์รวม 22 คน

 

สถานการณ์ระบาดในไทยรุนแรงต่อเนื่องทันที ผู้ติดเชื้อในไทยเพิ่มขึ้นจนเกือบ 20 คนในช่วงปลายเดือนมกราคม ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มาจากอู่ฮั่นหรือจีน หรือมีการติดต่อใกล้ชิด

 

เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศแรกๆ ต่อจากจีนที่เกิดการแพร่ระบาดรุนแรง โดยพบผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นชาวจีน ในวันที่ 20 มกราคม ก่อนที่การระบาดจะพุ่งสูงอย่างรวดเร็วจากกรณี Super Spreader ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่โบสถ์ลัทธิชินชอนจิ ซึ่งผู้ติดเชื้อหมายเลข 31 ที่เป็นสมาชิกของลัทธิ ไปร่วมกิจกรรมภายในโบสถ์ ทั้งที่เริ่มมีอาการติดเชื้อ ทำให้เพียง 4 วัน พบผู้ติดเชื้อจากลัทธินี้กว่าร้อยคน ก่อนเพิ่มต่อเนื่องจนมากกว่า 5,000 คน

 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่แพร่กระจายรวดเร็วไปยังหลายประเทศ ส่งผลให้ WHO ตัดสินใจประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ในวันที่ 31 มกราคม ซึ่งถือเป็นการประกาศครั้งที่ 6 ในประวัติศาสตร์ หลังจากที่ WHO เคยประกาศในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคร้ายแรงอย่างไข้หวัดนกในปี 2009 หรืออีโบลาในปี 2014

 

วิกฤตแพร่ระบาดที่รุนแรงและยอดผู้ติดเชื้อสะสมไต่ขึ้นแบบพีระมิด ไม่เพียงกระทบต่อชีวิตของประชาชนทั่วโลก แต่ธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ล้วนได้รับผลกระทบหนัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบิน ซึ่งสหรัฐฯ และหลายประเทศ เริ่มออกมาตรการจำกัด คุมเข้ม หรือแม้แต่ยกเลิกเที่ยวบิน เพื่อป้องกันการระบาดข้ามแดน

 

ขณะที่พฤติกรรมของนักเดินทางที่เปลี่ยนไปหลังเกิดโควิด-19 ตลอดจนผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในช่วงวิกฤต ทำให้การใช้บริการเที่ยวบินของสายการบินต่างๆ ทั่วโลกลดลงอย่างมาก ข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA ระบุว่า ในช่วงเดือนเมษายนที่สถานการณ์ระบาดยังรุนแรง มีผู้โดยสารเที่ยวบินลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2019 ถึง 90% กระทั่งในเดือนสิงหาคม ตัวเลขยังลดต่ำกว่าปีก่อนถึง 75% 

 

วิกฤตโควิด-19

 

เรือสำราญ จุดระบาดเคลื่อนที่

สถานการณ์หนึ่งที่ทำให้เห็นความน่ากลัวในการระบาดของโรคโควิด-19 คือการระบาดแบบ Super Spreader ในยานพาหนะอย่างเรือสำราญ ที่ไม่มีทางให้หนีเชื้อไวรัส นอกจากทะเล

 

กรณีการระบาดของโควิด-19 ในเรือสำราญ พบครั้งแรกบนเรือ World Dream ที่ออกเดินทางจากท่าเรือหนานซา เมืองกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง ของจีน มุ่งหน้าไปเมืองญาจาง และดานัง ของเวียดนาม ตั้งแต่วันที่ 19–24 มกราคม ผู้โดยสารและลูกเรือบนเรือทั้งหมด 6,903 คน มี 108 คนมาจากมณฑลหูเป่ย ในจำนวนนี้ 28 คนมาจากอู่ฮั่น

 

ซึ่งในวันที่ 24 มกราคม เรือเดินทางกลับถึงท่าเรือหนานซา และมีการตรวจเชื้อผู้โดยสารและลูกเรือที่ลงจากเรือทุกคน โดยในตอนแรกพบผลตรวจเป็นลบทั้งหมด แต่ต่อมามีการยืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อหลายราย

 

จากนั้นระหว่างวันที่ 24 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ เรือ World Dream ได้เดินทางไปยัง 3 เส้นทาง รวมถึงฮ่องกงและกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ ซึ่งที่มะนิลา ผู้โดยสารทั้งหมดไม่ได้ลงจากเรือ เพราะถูกประชาชนในพื้นที่ประท้วงเนื่องจากกลัวไวรัส จากนั้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เรือเดินทางจากฮ่องกงไปยังไต้หวัน พร้อมผู้โดยสาร 3,800 คน และข่าวการพบผู้ติดเชื้อจากทริปแรกที่กวางตุ้งก็ปรากฏมากขึ้น ท้ายที่สุดพบผู้ติดเชื้อจากเคสนี้ 12 ราย 

 

กรณีที่โด่งดังไปทั่วโลกคือเรือ Diamond Princess ที่ออกเดินทางจากเมืองโยโกฮามาของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 20 มกราคม ในทริปฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์ 14 วัน โดยมีกำหนดการเดินทาง แวะทั้งท่าเรือในฮ่องกง เวียดนาม และไต้หวัน ก่อนจะกลับไปโยโกฮามา

 

กรณีแรกที่พบคือหนึ่งในผู้โดยสารชายสูงอายุชาวฮ่องกง วัย 80 ปี ซึ่งขึ้นเรือที่โยโกฮามา และลงจากเรือที่ฮ่องกงในวันที่ 25 มกราคม ก่อนจะตรวจพบว่าติดเชื้อ ซึ่งเขาเริ่มมีอาการตั้งแต่ก่อนขึ้นเรือ และจากการตรวจสอบประวัติพบว่าเขาเดินทางไปยังเมืองเซินเจิ้นในมณฑลกวางตุ้ง ก่อนจะกลับไปฮ่องกง และขึ้นเครื่องบินไปยังเมืองโยโกฮามาเพื่อล่องเรือสำราญ

 

ขณะที่เรือ Diamond Princess เดินทางไปตามแผน โดยเทียบท่าที่ไต้หวันในวันที่ 31 มกราคม ก่อนจะถูกกักอยู่ที่โอกินาวาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่พบว่าชายฮ่องกงวัย 80 ติดเชื้อ จากนั้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เรือเดินทางกลับไปยังโยโกฮามา แต่ถูกกักอยู่นอกชายฝั่ง เพราะพบผู้ติดเชื้อ ซึ่งทางการญี่ปุ่นได้เข้าควบคุมและตรวจเชื้อผู้โดยสารนานเกือบ 4 สัปดาห์ และพบผู้ติดเชื้อถึง 712 คน ก่อนที่ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดจะได้ลงจากเรือในวันที่ 1 มีนาคม

 

โลกล็อกดาวน์ รับมือโควิด-19 ระบาดหนัก

การระบาดของโรคโควิด-19 ที่รวดเร็วและยากจะควบคุม เนื่องจากสามารถแพร่เชื้อได้ทั้งที่ไม่แสดงอาการ ทำให้ทั่วโลกต้องเร่งดำเนินมาตรการรับมือ ยาแรงที่สุดอย่างการล็อกดาวน์ ทั้งในระดับเมืองไปจนถึงระดับประเทศ หรือแม้แต่การประกาศเคอร์ฟิวถูกนำมาใช้ยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อ

 

โดยนอกจากจีนที่เริ่มการล็อกดาวน์เป็นประเทศแรกตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม ประเทศส่วนใหญ่รวมถึงไทย เข้าสู่การล็อกดาวน์ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน ซึ่งนับจนถึงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน มีประชากรโลกราวครึ่งหนึ่งหรือมากกว่า 3.9 พันล้านคนในกว่า 90 ประเทศและดินแดนที่ถูกขอให้ Stay at Home หรืออยู่กับบ้าน และห้ามเดินทาง ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการล็อกดาวน์ 

 

แต่หนึ่งในประเทศที่ได้รับการชื่นชมจากทั่วโลก ถึงความสำเร็จในการรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดช่วงแรก โดยที่ไม่ต้องใช้การล็อกดาวน์ ปิดทั้งเมืองหรือทั้งประเทศคือเกาหลีใต้ ซึ่งแม้จะเผชิญการระบาด จากการแพร่เชื้อของ Super Spreader ที่โบสถ์ลัทธิชินชอนจิในเมืองแทกู จนทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งแตะหลักหมื่น แซงหน้าหลายประเทศ แต่การตรวจเชื้อที่รวดเร็วและการทำงานเชิงรุก เช่น เปิดจุดตรวจเชื้อแบบ Drive-Thru หรือขับรถผ่าน ก็ทำให้การควบคุมสถานการณ์ด้วยการจำกัดการเดินทางในบางเขตรอบพื้นที่แพร่ระบาดนั้นเป็นไปอย่างเห็นผล

 

วิกฤตโควิด-19

 

ตรวจเชื้อ-รักษา ความหวังก้าวแรก

การระบาดในช่วงแรก สิ่งที่หน่วยงานสาธารณสุขทุกประเทศพยายามทำคือการตรวจหาผู้ติดเชื้อและรับมือให้ได้โดยเร็ว โดยเทคโนโลยีตรวจหาเชื้อนั้นได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จนปัจจุบันมีการตรวจเชื้อหลายแบบที่มีประสิทธิภาพและตรวจเชื้อได้ในเวลาไม่นาน เช่น

 

  • การตรวจระดับโมเลกุล แบบ PCR Test ที่ใช้การป้ายเยื่อบุในคอหรือเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก เพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจ และทราบผลได้ใน 3-5 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้นหากมีการส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ
  • การตรวจเชื้อแบบ Antigen Test ที่ใช้การเก็บสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูกหรือน้ำลาย เพื่อตรวจเชื้อแบบรวดเร็วได้ภายในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง 
  • การตรวจเชื้อด้วยการวิเคราะห์ภูมิคุ้มกัน หรือ Antibody Test ที่ใช้การตรวจดูภูมิคุ้มกันไวรัสในเลือด ที่จะตรวจพบเมื่อผู้ถูกตรวจมีเชื้อไวรัสในร่างกายเป็นระยะเวลาหนึ่ง

 

ขณะที่วิธีการรักษาผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 ที่ผ่านมา มีการทดสอบยาหลายชนิดและหลายสูตร โดยในช่วงแรก ยาต้านมาลาเรีย ไฮดร็อกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine) เป็นยาที่ถูกจับตามอง หลังองค์การอาหารและยา หรือ FDA ของสหรัฐฯ อนุมัติให้ใช้ยาชนิดนี้เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในกรณีฉุกเฉิน ก่อนที่ต่อมา WHO จะสั่งระงับการใช้ยาตัวนี้ เนื่องจากผลวิจัยชี้ว่า มีแนวโน้มทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 เสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูงขึ้น

 

นอกจากนี้ยังมียาชนิดอื่นถูกนำมาทดลองใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เช่น ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ที่เคยใช้รับมือไวรัสอีโบลา หรือคลอโรควิน ฟอสเฟต (Chloroquine Phosphate) ที่ใช้ป้องกันและรักษาโรคมาลาเรีย 

 

แต่ความหวังที่ดูน่าสนใจคือยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) หรือยาต้านไวรัส ที่มีฤทธิ์ต้านไวรัสได้อย่างกว้างขวาง (broad-spectrum antiviral drug) และมีประสิทธิภาพดีต่อ RNA ไวรัสหลายชนิด รวมถึงไวรัสในตระกูลโคโรนาอย่างโควิด-19 ซึ่งในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (EU) อังกฤษ ออสเตรเลีย อินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่างก็อนุมัติให้ใช้ยานี้สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง 

 

วิกฤตโควิด-19

 

สหรัฐฯ อ่วม ติดเชื้อพุ่งอันดับ 1

สำหรับประเทศที่บาดเจ็บสาหัสจากการจู่โจมของโควิด-19 มากที่สุด กลายเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลก อย่างสหรัฐฯ ซึ่งจนถึงวันที่เขียนบทความนี้ (17 ธันวาคม) ยอดติดเชื้อสะสมพุ่งสูงเกิน 17 ล้านคนแล้ว และเสียชีวิตเกิน 3 แสนคน (ข้อมูลจากเว็บไซต์ worldometers.info) และยังไม่มีทีท่าจะหยุดได้ง่ายๆ

 

ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลายรายชี้ว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้สถานการณ์ในสหรัฐฯ ทรุดหนักขั้นเลวร้าย มาจากความล้มเหลวในการคาดการณ์และป้องกันการแพร่ระบาด 

 

กระแสวิจารณ์ส่วนใหญ่โจมตีความล่าช้าในการตรวจเชื้อและติดตามผู้สัมผัสเชื้อ และการดำเนินมาตรการรับมือของรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ อีกทั้งไม่สนใจความเห็นผู้เชี่ยวชาญที่เสนอข้อแนะนำในการป้องกันการแพร่ระบาด เช่น การรณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือเป็นประจำ

 

ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันเพิ่มจากหลักพันเป็นหลักหมื่นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนมีนาคม จนถึงปัจจุบันในเดือนธันวาคม พุ่งสูงสุดทะลุ 2 แสนคนต่อวัน เป็นตัวเลขที่หลายประเทศไม่อยากคิดว่าจะรับมือเช่นไร หากต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้

 

แต่นอกจากสหรัฐฯ สถานการณ์ในประเทศอื่นก็ถือว่าน่ากลัวเช่นกัน อินเดีย ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว ถึงจุดพีกวันละกว่า 97,000 คน ไต่แซงขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของโลก (จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 9.9 ล้านคน ตัวเลข ณ วันที่ 17 ธันวาคม) ส่วนบราซิล ซึ่งประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู ถูกวิจารณ์ว่าประมาทและล้มเหลวในการรับมือสถานการณ์เช่นเดียวกับทรัมป์ สถานการณ์ย่ำแย่ต่อเนื่อง ในเดือนธันวาคมยอดติดเชื้อรายวันยังสูงถึงหลัก 60,000 คน ต่อวัน ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 7 ล้านคน

 

วิกฤตโควิด-19

 

โควิด-19 ไม่ละเว้นผู้นำโลก

สำหรับผู้นำสหรัฐฯ อย่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ตกเป็นเป้าโจมตีหลักในความล้มเหลวของการรับมือโควิด-19 ซึ่งช่วงแรกๆ ทรัมป์ปฏิเสธที่จะสนับสนุนการสวมหน้ากากอนามัยและมองว่าโควิด-19 นั้นไม่ใช่โรคร้ายแรงอะไร

 

แต่สถานการณ์ระบาดที่ทวีความรุนแรงต่อเนื่องทำให้ใครก็มีโอกาสติดเชื้อไวรัสมรณะนี้ได้ ข่าวร้ายมาถึงในเดือนตุลาคม ทรัมป์ประกาศต่อทั่วโลกว่าเขาและ เมลาเนีย ทรัมป์ ภริยา มีผลตรวจเชื้อเป็นบวก หรือติดโควิด-19 

 

อย่างไรก็ตาม การติดโควิด-19 ของทรัมป์ ไม่ทำให้ความมั่นใจของเขาในการเอาชนะไวรัสชนิดนี้ลดลง แม้อาการของเขาจะทรุดลงเล็กน้อยในช่วงแรก จนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่เพียงไม่กี่วัน อาการของเขากลับดีขึ้น จากความสำเร็จในการใช้ยารักษา จนทำให้เขาแข็งแรงและสามารถออกมานั่งรถเล่น ทักทายผู้สนับสนุนที่หน้าโรงพยาบาลได้ ก่อนที่จะเดินทางกลับไปทำเนียบขาวและเปิดแถลงด้วยความมั่นใจว่า โควิด-19 นั้นไม่น่ากลัว

 

“อย่าปล่อยให้มันมีอำนาจเหนือคุณ อย่าไปกลัวมัน เรากำลังจะกลับไป กลับไปทำงาน เราจะไปอยู่แนวหน้า อย่าปล่อยให้มันมีอำนาจเหนือชีวิตคุณ”

 

ไม่เพียงแค่ทรัมป์ ผู้นำหลายประเทศของโลกกว่าสิบคน ต่างก็ตกเป็นเหยื่อโควิด-19  อาทิ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร, มิคาอิล มิซูสติน นายกรัฐมนตรีรัสเซีย, นิโคล ปาชินเนียน นายกรัฐมนตรีอาร์เมเนีย, ฮวน ออร์ลันโด เอร์นันเดซ ประธานาธิบดีฮอนดูรัส, ฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิล และอีกหลายคน ซึ่งรายล่าสุดที่ติดเชื้อและถึงแก่อสัญกรรมคือนายกรัฐมนตรี อัมโบรเซ ดลามินี แห่งประเทศเอสวาตีนี หรือสวาซิแลนด์

 

วิกฤตโควิด-19

 

วัคซีนโควิด-19 ความหวังมนุษยชาติ

คำถามสำคัญที่คนทั้งโลกอยากรู้มากที่สุดในตอนนี้คือเมื่อไรวิกฤตโควิด-19 จะสิ้นสุด…

 

คำตอบของคำถามนี้คือ ‘วัคซีน’ ที่ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ แต่การได้มาซึ่งวัคซีนโควิด-19 นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และหากตั้งคำถามนี้ในช่วงต้นปีที่การระบาดเพิ่งเริ่มต้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคงไม่กล้าคาดหวังว่าประชาชนทั่วโลกจะได้วัคซีนโควิด-19 ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การพัฒนาวัคซีนเพื่อแก้ไขวิกฤตโรคระบาด หลายครั้งไม่ประสบผลสำเร็จ หรือใช้เวลาที่ยาวนานนับสิบปี 

 

แต่สำหรับโควิด-19 นั้นเป็นโรคที่เราไม่สามารถรอนานเช่นนั้นได้ จากผลกระทบที่ลุกลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ลามไปถึงวิถีชีวิต อุตสาหกรรม และความเคลื่อนไหวในเชิงเศรษฐกิจต่างๆ ที่แทบจะต้องหยุดนิ่ง

 

การเตรียมพร้อมพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของทั่วโลก เริ่มต้นขึ้นหลังจากมีการเผยแพร่ข้อมูลลำดับพันธุกรรมไวรัส SARS-CoV-2 ต้นเหตุของโรค ในวันที่ 11 มกราคม 

 

ในเดือนกุมภาพันธ์ WHO ประเมินว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 นั้นจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 18 เดือนในการพัฒนาจนสำเร็จและพร้อมใช้ แต่สถานการณ์ระบาดที่รุนแรงและรวดเร็วทำให้รัฐบาลทั่วโลกจับมือกันสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เพื่อทำให้วัคซีนโควิด-19 นั้นพร้อมใช้เร็วกว่าที่ประเมินไว้

 

ซึ่งโครงการแรกในการสนับสนุนการพัฒนาและแจกจ่ายวัคซีนชื่อว่า โครงการ Access to COVID-19 Tools (ACT) Accelerator ที่ WHO ร่วมมือกับพันธมิตรวัคซีนกาวี (Gavi, the Vaccine Alliance) กลุ่มแนวร่วมนวัตกรรมเพื่อเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations : CEPI) และมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ก่อตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนสนับสนุนสำหรับเร่งการพัฒนาและการผลิตวัคซีน ตลอดจนสนับสนุนการเข้าถึง การทดสอบ การรักษา และการออกใบอนุญาตวัคซีนอย่างเท่าเทียม ซึ่งปัจจุบันสามารถระดมทุนได้แล้วกว่า 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

WHO ยังร่วมมือกับ Gavi และ CEPI โครงการ COVAX Pillar โดยมีเป้าหมายสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการออกใบอนุญาต การกำหนดราคาวัคซีนที่เท่าเทียม และการส่งมอบวัคซีนอย่างเท่าเทียมให้ได้ 2 พันล้านโดส ภายในสิ้นปี 2021 เพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย ซึ่งปัจจุบัน มี 189 ประเทศเข้าร่วมในโครงการนี้ และมีกลุ่มวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากโครงการนี้แล้ว 9 กลุ่ม

 

 

ด้านสหรัฐฯ ที่มีท่าทีในแง่ลบต่อการรับมือวิกฤตโควิด-19 ของ WHO มาโดยตลอด ไม่ได้เข้าร่วมในโครงการที่กล่าวมา ซึ่ง WHO ริเริ่ม แต่ได้จัดตั้งโครงการ Operation Warp Speed เพื่อร่วมมือกับภาคเอกชนในการสนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนาและผลิตวัคซีน โดยได้รับเงินทุนตั้งต้นจากกฎหมาย Cares Act หรือกฎหมายช่วยผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีหลายกลุ่มวิจัย รวมทั้ง Pfizer, Moderna และ AstraZeneca ที่ได้รับเงินทุนจากโครงการนี้

 

ไทม์ไลน์การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เริ่มต้นครั้งแรกจาก 4 กลุ่มวิจัยของจีนที่เดินหน้าการพัฒนาวัคซีนตั้งแต่เดือนมีนาคม ก่อนที่กลุ่มวิจัยจากสหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี เกาหลีใต้ รัสเซีย และอีกหลายประเทศ จะทยอยเดินหน้าโครงการพัฒนาวัคซีนตามกันมา 

 

โดยกลุ่มวิจัยที่เสนอตัวพัฒนาวัคซีน หรือ Vaccine Candidate นั้นมีทั้งของภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่บริษัทผลิตยา วัคซีนหรือเทคโนโลยีชีวภาพ อาทิ Pfizer, BioNtech, Moderna, Cansino Biologics, Sinovac Biotech ไปจนถึงสถาบันการแพทย์และสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของสหราชอาณาจักร หรือสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) 

 

ซึ่งจนถึงช่วงเดือนเมษายนมีเกือบ 80 บริษัท และสถาบันใน 19 ประเทศ ที่ลงแข่งขันพัฒนาวัคซีน ขณะที่ WHO ประเมินว่า งบประมาณพัฒนาวัคซีน 3 ตัว หรือมากกว่า อาจสูงถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

ขณะที่การพัฒนาวัคซีนยังมีหลายรูปแบบและเทคโนโลยีในการพัฒนา เช่น DNA วัคซีน, mRNA วัคซีน ซึ่งใช้การตัดต่อสารพันธุกรรม และ Subunit วัคซีนที่ใช้โปรตีนบางส่วนของไวรัส 

 

ซึ่งเทคโนโลยีพัฒนาวัคซีนแบบ mRNA นั้นเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาวัคซีนได้รวดเร็วที่สุด เนื่องจากสามารถใช้ข้อมูลพันธุกรรมไวรัสเป็นแม่แบบในการพัฒนาได้ โดยปัจจุบัน มีหลายกลุ่มวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีนี้ รวมถึงบริษัท Pfizer-BioNtech และ Moderna ที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพมากที่สุด จากผลทดลองขั้นต้นเฟสที่ 3 ซึ่งพบว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อได้กว่า 90-95% และได้รับการอนุมัติใช้ฉุกเฉินแล้วในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ และสหรัฐฯ

 

สำหรับ 2 มหาอำนาจ อย่างจีนและรัสเซียที่พัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ของตัวเองเป็นชาติแรกๆ ของโลก ที่อนุมัติการใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน โดยจีนนั้นอนุมัติวัคซีน Ad5-nCoV ที่พัฒนาโดยบริษัท CanSino Biologics ร่วมกับ สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ของกองทัพจีน ให้ใช้งานภายในกองทัพได้เป็นประเทศแรกในโลก แต่ปัจจุบัน วัคซีนตัวนี้ยังอยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิก หรือทดลองในคนเฟสที่ 3

 

ส่วนรัสเซียนั้นประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศเมื่อเดือนสิงหาคมว่า ได้อนุมัติใช้งานวัคซีนโควิด-19 ที่ชื่อ Sputnik-V ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันวิจัย Gamaleya ที่เป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขรัสเซีย โดยเป็นการอนุมัติใช้งานกรณีฉุกเฉิน สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงกว่า 2 แสนคน รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุ และอนุมัติก่อนที่วัคซีนชนิดนี้จะเริ่มการทดลองในคนเฟสที่ 3 ซึ่งสถาบัน Gamaleya อ้างผลประเมินการทดลองขั้นต้นว่า วัคซีนตัวนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อสูงถึง 91.4%

 

สำหรับอนาคตของโควิด-19 ในปี 2021 นั้น เป้าหมายคือการเร่งพัฒนา ผลิต และแจกจ่ายวัคซีนให้ทั่วถึงแก่ประชากรทั่วโลก โดยคาดว่าหลายประเทศจะทยอยอนุมัติใช้งานวัคซีนมากขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีหน้า และอาจมีกลุ่มวิจัยอื่นประกาศความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนเพิ่มขึ้น 

 

วิกฤตโควิด-19

 

แต่การผลิตและแจกจ่ายวัคซีนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยวัคซีนของ 3 กลุ่มวิจัยหัวแถวอย่าง Pfizer, Moderna และ AstraZeneca มีการประเมินกำลังการผลิตทั้งหมดในปี 2021 ราว 5.3 พันล้านโดส ซึ่งเพียงพอต่อการฉีดให้ประชาชนราว 2.6 ถึง 3.1 พันล้านคน ส่วนวัคซีน Sputnik-V ของรัสเซีย ที่จะแจกจ่ายให้ประชาชนชาติอื่นในปี 2021 อาจฉีดให้ประชาชนได้ราว 500 ล้านคน ในขณะที่ตอนนี้ คำสั่งซื้อล่วงหน้าของวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกนั้นมากกว่า 10,000 ล้านโดสแล้ว 

 

อย่างไรก็ตามคำตอบสำคัญของการยุติวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือการแจกจ่ายวัคซีนให้ประชากรทั่วโลกได้เกิน 60% เพื่อก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ Herd Community ทั่วโลก ซึ่งจะป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดขนานใหญ่ ซึ่งหากดูจากปริมาณวัคซีนที่ผลิตได้นั้นยังถือเป็นเรื่องยาก แม้ว่าประเทศชั้นนำอย่างสหรัฐฯ จะคาดการณ์ว่าอาจสามารถยุติการแพร่ระบาดได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 หรือ 4 ของปี 2021 แต่ยังมีคำถามสำหรับโอกาสของประเทศยากจนที่จะได้รับวัคซีนเพียงพอสำหรับผ่านพ้นจากวิกฤตนี้ ซึ่งถือเป็นความท้าทายใหญ่ที่สุดสำหรับปีหน้า เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของวัคซีนและความทั่วถึงของการแจกจ่าย ‘ยาแรง’ นี้ด้วย 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X