ย้อนกลับไปประมาณ 60 ปีก่อน ตามที่มีการบันทึกเอาไว้ในปี 2503-2505 จิตร ภูมิศักดิ์ ใช้นามปากกา สุธรรม บุญรุ่ง แต่งเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา ขึ้นมาระหว่างถูกจองจำอยู่ในคุกลาดยาวด้วยข้อหา ‘สมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในและภายนอกราชอาณาจักร และกระทำการเป็นคอมมิวนิสต์’
ค่ำคืนที่เงียบงันและมืดหม่น แต่ในหัวใจของนักสู้อย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ ยังเปล่งแสงไปด้วยความศรัทธาและความหวัง ก่อนที่จะพ้นข้อหาได้รับการปลดปล่อยในปี 2507 และถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 5 พฤษภาคม 2509
แม้ลมหายใจจะสิ้นสุด แต่ ‘จิตใจ’ ของชายที่ชื่อ ‘จิตร’ ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ปลุกให้ไฟการต่อสู้ทางอุดมการณ์ลุกโชน ถึงแม้อุดมการณ์อาจแตกต่าง แต่บทเพลงทรงพลังของเขายังถูกขับขานขึ้นมาอีกหลายครั้งในฐานะสัญลักษณ์แห่งความหวังที่ต่างวาระกันออกไป
โดยเฉพาะเมื่อวงคาราวานนำเพลงนี้มาร้องในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ต่อเนื่องไปถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไปจนถึงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535
ถึงแม้แนวคิดของ ‘ศิลปิน’ และผู้คนที่เคยนำเพลงนี้มาขับร้องอาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่เพลง แสงดาวแห่งศรัทธา ยังคงทรงพลังและดังก้องมาอย่างต่อเนื่อง มาถึงเวทีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือเวทีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
รวมทั้งหลายๆ พื้นที่ชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบัน ที่เพลงนี้ยังคงส่องแสงและถูกขับขานขึ้นมาอีกครั้ง โดยกลุ่ม ‘คนรุ่นใหม่’ ที่อายุห่างกันจนต้องเรียก จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้แต่งเพลงนี้ว่า ‘คุณปู่’ แต่ทุกคนร่วมร้องเพลงนี้ด้วยหัวใจของนักสู้ที่เต็มไปด้วยความหวังไม่ต่างกัน
เช่นเดียวกับเหตุการณ์ช่วงเย็นวันที่ 17 ธันวาคม 2563 เพลง แสงดาวแห่งศรัทธา ถูกร้องขึ้นมาอีกครั้ง เป็นการร้องเพลงที่ไร้ประดนตรีประกอบ มีเพียงเสียงประสานของพ่อลูกคู่หนึ่งที่ร้องเพลงร่วมกันเงียบๆ อยู่ ณ มุมหนึ่งของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
เป็นการประสานเสียงที่เงียบงัน แต่ทำให้คนฟังเจ็บปวดและมืดหม่นเหมือนกับท้องฟ้าที่ค่อยๆ มืดลงก่อนดวงตะวันลาลับขอบฟ้า
ย้อนกลับไปประมาณ 30 ปีก่อน มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ เคยพูดกับเพื่อนเมื่อครั้งทำกิจกรรมนักศึกษาว่า ถ้ามีลูก เขาจะร้องเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา เพื่อกล่อมลูก
16 ปีต่อมา มานะทำตามที่เคยพูดเอาไว้ ในคืนแรกที่ได้อุ้มลูกชาย เขาร้องเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา เพื่อรับขวัญและกล่อมทารกน้อยจนหลับ และยังใช้เพลงนี้เป็นเพลงกล่อมขวัญมาอีก 3-4 ปี ก่อนที่ลูกชายจะเติบโตเกินกว่าให้ร้องเพลงกล่อมนอน ก่อนที่อีก 16 ปีต่อมาเขาจะได้ร้องเพลงนี้กับลูกชายอีกครั้งในสถานการณ์ที่ไม่ควรมีใครต้องเจอ
ลูกชายของเขาที่เป็นหนึ่งในกลุ่มภาคีนักศึกษาศาลายา ถูกตั้งข้อหาคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นับเป็นผู้ต้องหาคดี 112 ที่อายุน้อยที่สุด โดยถูกออกหมายเรียกพร้อมกับ จตุพร แซ่อึง วัย 23 ปี ที่สวมชุดไทยเข้าร่วมงานเดินแฟชั่นในงาน ‘ศิลปะราษฎร’ ที่ถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563
นอกจากการโอบกอด ปลอบใจ ร่วมร้องเพลงให้กำลังใจกันอย่างเงียบเชียบ มานะได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวในฐานะ ‘พ่อ’ คนหนึ่งเอาไว้ว่า
“บางสิ่งบางอย่างที่ลูกคิด ลูกทำ ผมอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ผมเคารพการตัดสินใจของลูก ผมไม่รู้ว่าผิดหรือถูกนะครับ แต่ผมสอนลูกให้มีอิสระทางความคิด ให้เขารู้จักการตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบด้วยตนเอง พร้อมกับสอนให้เขารับผิดชอบกับผลของการกระทำนั้นๆ ด้วยไม่ว่าจะบวกหรือลบ
“เรื่องคดีความคงต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ผิดถูกอย่างไรค่อยว่ากันอีกที แต่ถ้าถามถึงความรู้สึกส่วนตัวของผมเมื่อเห็นลูกวัยแค่นี้ถูกคดีการเมืองรุนแรง แน่นอนครับ ผมคงเหมือนพ่อแม่ทุกคนที่เจ็บปวดไปกับลูก ทั้งรักและห่วงกังวล
“ในฐานะของคนเป็นพ่อแม่ สิ่งที่กระทำได้ดีที่สุดในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ คือการจูงมือลูกให้แน่น พร้อมเดินฝ่าความโหดร้ายและอุปสรรคนานัปการไปด้วยกัน
“เรา…ผู้เป็นพ่อแม่เมื่อเห็นลูกสะดุดล้มเช่นนี้ คงทำได้เพียงแค่เป็นเบาะรองรับตัวให้เจ็บน้อยที่สุด แม้ว่าจะแลกด้วยความเจ็บปวดของตัวเองก็ตาม นั่นคงเป็นวิถีของพ่อแม่ทุกคนมิใช่หรือ
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์อันแสนปวดร้าวเช่นนี้จะหยุดอยู่แค่ครอบครัวของผม ขอมันอย่าได้เกิดขึ้นกับครอบครัวคนอื่นๆ อีกเลย”
เมื่ออ่านข้อความของเขาจบ พร้อมกับเสียงประสานของสองพ่อลูกสิ้นสุดลง เราได้แต่หวังว่า ‘เหตุการณ์อันแสนปวดร้าว’ เช่นนี้จะเกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายแบบที่มานะหวังเอาไว้ และขอให้บทเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา ยังคงถูกขับขานต่อไปเรื่อยๆ ในฐานะบทเพลงแห่ง ‘ความหวัง’ มากกว่าที่จะทรงพลังเพราะความ ‘เจ็บปวด’
และร่วมกันประสานเสียงร้องเพลงนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะเชื่อว่าถึงแม้ในวันที่ดวงอาทิตย์เริ่มอ่อนแรง ดวงดาวจะยังคงเปล่งแสงแห่งความหวัง จนกระทั่งแสงแรงของดวงตะวันจะส่องมาอีกครั้ง ตามที่เนื้อเพลงบอกเอาไว้จริงๆ
ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยาก ขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้ผืนฟ้ามืดดับเดือนลับละลาย
ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน
ดาวยังพรายอยู่จนฟ้ารุ่งราง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: