×

ไทยภักดียื่นหนังสือถึงดีอีเอส เร่งเสนอสภาตั้ง กมธ. ปฏิรูปโซเชียลมีเดีย เตรียมยกระดับการเรียกร้องหากไม่ทำภายใน 30 วัน

โดย THE STANDARD TEAM
17.12.2020
  • LOADING...
ไทยภักดียื่นหนังสือถึงดีอีเอส เร่งเสนอสภาตั้ง กมธ. ปฏิรูปโซเชียลมีเดีย เตรียมยกระดับการเรียกร้องหากไม่ทำภายใน 30 วัน

วันนี้ (17 ธันวาคม) กลุ่มไทยภักดี นำโดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่ม เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการเร่งรัดการปฏิรูประบบโซเชียลมีเดีย

 

นพ.วรงค์ กล่าวว่าวันนี้ต้องการมาเร่งให้กระทรวงดีอีเอสเป็นเจ้าภาพในการปฏิรูประบบการใช้โซเชียลมีเดียในประเทศไทย เพราะมองว่าขณะนี้โซเชียลมีเดียกำลังสร้างปัญหาให้กับประเทศเป็นอย่างมาก รวมถึงความมั่นคงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทางกลุ่มได้เสนอแนวทางอย่างเป็นกลางในการให้กระทรวงเป็นเจ้าภาพเสนอสภาผู้แทนราษฎรให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเพื่อการปฏิรูประบบโซเชียลมีเดีย ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นทางออกที่ดีและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล รวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย

 

นพ.วรงค์ กล่าวต่อไปว่าตนขอฝากไปถึง พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ว่าภายใน 30 วันจะต้องมีความชัดเจนในการดำเนินการ แต่หากยังไม่ดำเนินการ ทางกลุ่มก็จะยกระดับการเรียกร้องกับรัฐมนตรี เพราะที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนมาจากประชาชนเยอะมากว่ากระทรวงดีอีเอสและรัฐบาลมีความหย่อนยานในการทำงาน จึงต้องการเรียกร้องเพื่อให้การทำงานกระฉับกระเฉงขึ้น และขณะนี้สังคมยังมีปัญหา เพราะสิ่งที่อยู่ยังไม่เพียงพอ กฎหมายที่มีอยู่ยังไม่ครอบคลุม จึงต้องมีสิ่งใหม่เข้ามาควบคุมเพิ่มเติม ซึ่งหากมีการปฏิรูปและออกกฎหมายโซเชียลมีเดียมาเพิ่มเติมก็เชื่อว่าน่าจะแก้ไขปัญหาได้ 

 

ขณะที่ ภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดีอีเอส เป็นตัวแทนมารับหนังสือ ระบุว่าจะนำหนังสือส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส และชี้แจงการทำงานในช่วงที่ผ่านมาเกี่ยวกับกรณีนี้ด้วยว่า ปัจจุบันกระทรวงดีอีเอสได้ทำการปิดกั้นเว็บไซต์เรื่องความมั่นคงกับสถาบันฯ โดยมีมาตรา 14 ในการดำเนินการ และทุกครั้งที่ดำเนินการจะยึดหลักความมั่นคงและสถาบันเป็นหลัก แต่แนวทางปฏิบัติในการปิดกั้น เมื่อมีคำสั่งศาลไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจึงจะปิดกั้นให้

 

และเมื่อส่งคำสั่งศาลครบ 15 วันแล้วยังไม่ปิดกั้นก็จะมีการแจ้งไปอีกครั้ง จากนั้นก็จะดำเนินการแจ้งความ ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 7 ล็อตแล้ว และที่ผ่านมา 5 ล็อตก็ปิดกั้นให้แล้ว โดยแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กปิดกั้นให้ 30-40% จากทั้งหมด แต่ก็ยังมีฝ่ายที่มองว่าการปิดกั้นเป็นการละเมิดสิทธิ และต้องการให้ยกเลิกมาตรา 14 ด้วย แต่ทางกระทรวงดีอีเอสยืนยันว่ามาตรา 14 ยังคงมีความจำเป็นในประเทศไทย

 

“ทั้งนี้ก็ต้องไปหากระบวนการที่แก้ไขเพิ่มเติมว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีอำนาจปิดกั้นได้โดยตรงด้วย และถ้าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ความร่วมมือนั้น แพลตฟอร์มต่างประเทศที่เข้ามาดำเนินการในไทยก็จะดำเนินการปิดกั้นตามไปด้วย แต่ยอมรับว่าประเทศไทยไม่สามารถทำแบบในต่างประเทศที่มีการปิดทั้งระบบได้ เพราะจะกระทบภาคธุรกิจทางโซเชียล” ภุชพงค์กล่าวทิ้งท้าย

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X