ประธานาธิบดีมุนแจอินของเกาหลีใต้ กล่าวระหว่างการเข้าร่วมงานกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านการค้าแห่งหนึ่งในกรุงโซล เมืองหลวงของประเทศว่า รัฐบาลจะพิจารณาการเข้าร่วมในข้อตกลงหุ้นส่วนพันธมิตรทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือ CPTPP
นับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำเกาหลีใต้ส่งสัญญาณบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่จะให้เกาหลีใต้ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของภูมิภาคเอเชีย เข้าร่วมกับอีก 11 ชาติสมาชิกของ CPTPP
ท่าทีดังกล่าวของประธานาธิบดีมุนแจอินยังมีขึ้นหลังจากที่เจ้าตัวเพิ่งจะกล่าวถึงความจำเป็นในการยกระดับการค้าการลงทุนของเกาหลีใต้ เพื่อเพิ่มปริมาณสินค้าส่งออกของประเทศ หลังเจอวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ปริมาณสินค้าส่งออกทั่วโลกขยับปรับลดกันทั่วหน้า
ขณะเดียวกันจุดยืนของประธานาธิบดีมุนแจอินยังมีขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนออกมาเรียกร้องให้หลายประเทศหันมาทบทวนการเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรี CPTTP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนธันวาคม 2018 ในกลุ่มสมาชิก 11 ประเทศคือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม
ปัจจุบันมีหลายประเทศแสดงความจำนงขอเข้าร่วม CPTPP ซึ่งรวมถึงประเทศอังกฤษที่หวังให้การเข้าร่วมครั้งนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบจาก Brexit
รายงานระบุว่า โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกกออกมาแสดงความเห็นว่าสมาชิกข้อตกลง CPTPP ยินดีอ้าแขนรับทุกประเทศที่สนใจจะเข้าร่วม CPTPP เพียงแต่ประเทศเหล่านั้นต้องเตรียมตัวเตรียมใจเปิดตลาดภายใต้กฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศของ CPTPP
ขณะเดียวกันสื่อท้องถิ่นเกาหลีใต้ยังตั้งข้อสังเกตว่า ท่าทีของผู้นำเกาหลีใต้ยังมีขึ้นหลังจากที่เพิ่งจะลงนามในข้อตกลง RCEP กับจีน ญี่ปุ่น และอีก 10 ชาติสมาชิกอาเซียน
ขณะที่ในส่วนของประเทศไทยที่เกี่ยวกับความคืบหน้าล่าสุดของการเข้าร่วม CPTPP หลังมีการลงนามใน RCEP เรียบร้อยแล้วนั้น มีรายงานว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีแผนเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เพื่อติดตามประเด็นและหารือเรื่องการเจราจากการค้าระหว่างประเทศที่ไทยต้องตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ ซึ่งรวมถึงข้อตกลงเขตการค้าเสรี CPTPP นี้ด้วย
ดอนกล่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้สรุปผลการศึกษาข้อดี-ข้อเสียของการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนพันธมิตรทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) แล้ว และผลการศึกษาจะส่งกลับมาให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาร่วมกับผลการศึกษาของกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้หาก ครม. มีมติเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ได้ ไทยก็จะเริ่มขั้นตอนการเจรจากับแต่ละประเทศสมาชิก และจะต้องแสดงความจำนงในการเข้าเป็นสมาชิกต่อที่ประชุมใหญ่สมาชิก CPTPP ซึ่งปกติจะมีการประชุมในเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยดอนเปิดเผยว่า จากการที่ได้หารือกับชาติสมาชิก CPTPP มาแล้วเบื้องต้น ทุกประเทศยินดีที่จะให้ไทยเข้าเป็นสมาชิก และพร้อมที่จะเปิดการประชุมรอบพิเศษให้กับประเทศไทย คาดว่าจะสามารถแสดงความจำนงเพื่อสมัครเป็นสมาชิกได้ภายในเดือนมิถุนายนปีหน้า
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: