ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส คาดการณ์ว่าตัวเลขเงินเฟ้อของไทยจะฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงกรอบล่างของเป้าหมายเฉลี่ยทั้งปีที่ 1% ในปีหน้า จากปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้บ้าง เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของราคายังอยู่ในกรอบจำกัดจากความต้องการใช้น้ำมันที่ชะลอตัวลากยาวกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ประกอบกับการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของ OPEC ที่จะเริ่มต้นในเดือนมกราคม 2021 ที่ 5 แสนบาร์เรลต่อวัน จะเป็นปัจจัยกดดันราคา
โดยกรุงไทย คอมพาส ประเมินว่าในปี 2021 ราคาน้ำมันดิบดูไบจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากปี 2020 ที่เฉลี่ยทั้งปีที่ 41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ยังคงต่ำกว่าปี 2019 ที่เฉลี่ยทั้งปีที่ 63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของภาครัฐที่คาดว่าจะดำเนินการต่อเนื่องจะมีส่วนช่วยหนุนการบริโภคของครัวเรือนและอัตราเงินเฟ้อในปี 2021
ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนที่กระทรวงพาณิชย์เพิ่งประกาศออกมาวานนี้ โดยหดตัวที่ 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ถือเป็นตัวเลขที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัว 0.5%
โดยตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนที่หดตัวน้อยลง มาจากราคาสินค้าหมวดอาหารสดที่ขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ 3.09% จากเดือนก่อนที่ 2.61% สาเหตุจากความต้องการทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และฐานราคาต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะผักสดและเนื้อสัตว์ รวมไปถึงราคาพลังงานที่ปรับตัวดีขึ้นจนหดตัวต่ำสุดในรอบ 9 เดือน อยู่ที่ -9.10% จากเดือนก่อนที่ -9.43%
ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ 0.18% จากเดือนก่อนที่ 0.19% แต่มีมาตรการกระตุ้นการบริโภคและท่องเที่ยวที่ช่วยพยุงการบริโภคได้บางส่วน ในส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป 11 เดือนแรกอยู่ที่ -0.90% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.29%
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล