×

บิตคอยน์ทำได้ดีในปีวิกฤต แต่ดีพอที่จะเป็นสินทรัพย์ทางเลือกสำหรับนักลงทุนทั่วไปในปี 2021 หรือยัง

02.12.2020
  • LOADING...
บิตคอยน์ทำได้ดีในปีวิกฤต แต่ดีพอที่จะเป็นสินทรัพย์ทางเลือกสำหรับนักลงทุนทั่วไปในปี 2021 หรือยัง

ปี 2020 ไม่ใช่แค่ปีที่โลกการลงทุนเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่โลกของการเก็งกำไรก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

 

ล่าสุด คำถามก็วนกลับมาถึง ‘บิตคอยน์’ ที่ปรับตัวขึ้นถึง 170% ในปีนี้ ว่าน่าสนใจที่จะมีไว้ในพอร์ตแล้วหรือไม่ เพราะนอกจากจะปรับตัวขึ้นจนราคาทะลุจุดสูงสุดเก่าเมื่อ 3 ปีก่อนไปแล้ว นักเก็งกำไรหลายท่านก็เชื่อว่าประสบการณ์ของสกุลเงินคริปโตนี้เพิ่มขึ้นมาก นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทั่วโลกที่พิมพ์เงินออกมามหาศาลก็เข้าทางสกุลเงินทางเลือก และนักลงทุนรายใหญ่ให้ความสนใจเข้าลงทุน

 

ทั้งหมดจริงบ้างไม่จริงบ้าง ผมเองก็ไม่ได้เห็นด้วยหรือแย้งไปทั้งหมด จึงรวบรวมเหตุผลและมุมมองส่วนตัวหลายอย่างมาคุยพร้อมกันในบทความนี้ 

 

ประเด็นแรกคือ การผ่านวิกฤต บิตคอยน์ทำได้ดีเกินคาดจริง แต่เหตุผลสนับสนุนยังค่อนข้างคลุมเครือ

 

ครั้งนี้ถือเป็นวิกฤตเศรษฐกิจแรกสำหรับบิตคอยน์ที่หลายคนเฝ้ารอชม อันที่จริงก็ถือว่า ‘ผ่าน’ ได้ดีเหมือนสินทรัพย์เสี่ยงทั่วไป เพราะแม้ช่วงวิกฤตจะปรับตัวลงถึง 51% แต่หลังจากนั้นก็ใช้เวลาเพียงแค่ 2 เดือนในการกลับมาที่จุดเดิมได้

 

อย่างไรก็ดี ถ้ามองลึกลงไป ประเด็นในการฟื้นตัวของบิตคอยน์ไม่ได้มาจากจุดแข็งของการเป็น ‘ตัวแทนเงินสมัยใหม่ สักเท่าไร ไม่มีใครอยากถือบิตคอยน์ในช่วงวิกฤต ต่างจากเงินเยนญี่ปุ่นหรือทองคำ หมายความว่าบิตคอยน์ยัง ‘สอบตก’ สำหรับการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยหรือสินทรัพย์ทางเลือก และไม่สามารถตอบได้อย่างมั่นใจได้ว่า ราคาที่ขึ้นมาในปัจจุบัน เกิดจากพื้นฐาน หรือเป็นแค่การเกาะกระแสสภาพคล่อง และการเปิดรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ของตลาดเท่านั้น

 

นอกจากนี้ การที่จะบอกให้ถือบิตคอยน์ไว้กระจายความเสี่ยง ในความจริงอาจเป็นการ ‘เพิ่ม’ ความผันผวนของพอร์ตมากกว่า ‘ลด’

 

เพราะความผันผวน (Volatility) ของบิตคอยน์ยังสูงถึง 50% มากกว่าสินทรัพย์ทางการเงินทั่วไป เช่น หุ้นโลกที่ 25% หรือทองคำ 15% แถมส่วนใหญ่เกิดจากความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และการเก็งกำไรมากกว่าปัจจัยพื้นฐาน 

 

การถือบิตคอยน์ ไม่ว่าพอร์ตเราจะประกอบด้วยอะไร ก็จะ ‘เพิ่มความผันผวนขึ้นเสมอ’ สวนทางกับเป้าหมายของการกระจายการลงทุน (Diversification) ที่ต้องการสร้างสมดุลด้านความผันผวน โดยที่ยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่คาดหวังได้

 

ดังนั้น มองจากทฤษฎีการลงทุนแล้ว การมีบิตคอยน์ในพอร์ต ‘ไม่ได้เป็นการกระจายความเสี่ยง’ แต่เป็นเหมือนการ ‘ซื้อลอตเตอรี่’ เข้ามาในพอร์ตมากกว่า

 

ประเด็นที่สามก็คือ เรื่องความไม่มีความเสี่ยงภาครัฐ และมีจำนวนจำกัด ซึ่งที่ผ่านมาดูจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น

 

นักเก็งกำไรหลายท่านมองว่าบิตคอยน์ไม่ได้ออกโดยรัฐ จึงไม่ต้องรับความเสี่ยงด้านเครดิต ขณะที่เงินที่ออกโดยรัฐกลับมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นหลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 ต่างจากบิตคอยน์ที่มีจำนวนจำกัด ราคาจึงควรเพิ่มสูงขึ้น

 

ประเด็นนี้ผมเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เนื่องจากการไม่รับความเสี่ยงด้านเครดิตภาครัฐ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเครดิตเลย สำหรับการลงทุนจะหมายความว่า ไม่มีรัฐบาลไหนยืนยันว่าสินทรัพย์นั้นจะถูกกฎหมายไปพร้อมกัน เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสกลเงินคริปโตก็เคยถูกรัฐบาลจีนจัดการช่วงปี 2017 หรือแม้แต่ทองคำ ในอดีตก็เคยถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ห้ามถือครองตามกฎหมายในปี 1974 เพราะฉะนั้นผู้ถือ อาจดูเหมือนไม่ได้รับความเสี่ยงด้านเครดิต แต่ในความเป็นจริงก็แค่เป็นความเสี่ยงใต้กฎหมาย

 

ขณะเดียวกัน การจะบอกว่าจำนวนของบิตคอยน์มีจำกัดต่างจากสกุลเงินทั่วไป ก็ดูจะไม่ถูกต้องซะทีเดียว เนื่องจากบิตคอยน์ก็มีการ Hard Fork เป็นหลายแบบ รวมกันแล้วมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่าเงินดอลลาร์สหรัฐด้วยซ้ำ 

 

ประเด็นสุดท้ายคือ เรื่องของสภาพคล่อง ที่เชื่อว่ามีโอกาสที่จะมีนักลงทุนเข้ามาซื้อขายบิตคอยน์มากขึ้น หลังเข้าสู่แพลตฟอร์มการเงินสมัยใหม่

 

ส่วนตัวผมกลับมองว่ายังดูเป็นแค่ความเชื่อ เพราะด้วยขนาดของมาร์เก็ตแคปบิตคอยน์ในปัจจุบัน แม้ราคาจะขึ้นมาทำจุดสุงสุดใหม่ แต่ขนาดก็เหมือนหุ้นใหญ่ตัวหนึ่ง อาจจะใกล้กับธนาคารเจพีมอร์แกน เทียบกับทองคำที่เป็นสินทรัพย์ทางเลือกคู่โลกมายาวนาน มีมูลค่าตลาดรวมถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์ นักลงทุนยังสองจิตสองใจที่จะถือครองอยู่อย่างสม่ำเสมอ 

 

ดังนั้น การจะให้ขึ้นถือได้ถึง 3-5% ของพอร์ตเหมือนสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ จึงอาจไม่ใช่สิ่งที่นักบริหารเงินมืออาชีพส่วนใหญ่เลือกที่จะทำ

 

อย่างไรก็ดี จุดเด่นของบิตคอยน์ เรื่องข่าวและความสามารถในการเก็งกำไรระยะสั้นก็เป็นสิ่งที่หาตัวแทนยาก

 

ผมเชื่อว่ายังไม่มีตราสารในระบบตัวไหนที่จะสามารถทำความผันผวนให้สูงโดยไร้การควบคุมได้ง่ายเท่าสกุลเงินคริปโต และด้วยแนวโน้มนโยบายเศรษฐกิจกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาล คนส่วนใหญ่ก็คงอยากลองลงทุนทำธุรกิจใหม่ๆ หรือเก็งกำไรในสินทรัพย์แปลกใหม่มากขึ้น 

 

ด้วยเหตุผลทั้งหมด ผมจึงตอบเหมือนเดิมคือ ‘ไม่คิด’ ว่าบิตคอยน์จะสามารถเข้ามาเป็นสินทรัพย์ทางเลือกได้ในตอนนี้ ส่วนตัวแล้วถ้าจำเป็นต้องเลือกลงทุน ผมคงเล็งไปที่การเติบโตที่ก้าวกระโดดจากธุรกิจเทคโนโลยีมากกว่า (ถ้าอยากให้ใกล้เคียงอาจเลือกบริษัทที่ทำ Cryptocurrency และ Blockchain ก็ได้)

 

หรือถ้ามองหาสินทรัพย์ที่ไร้ความเสี่ยงด้านเครดิต ผมก็ยังเชื่อว่าสินค้าโภคภัณฑ์ หรือทองคำ แม้จะเป็นคำตอบเดิมๆ แต่ก็ง่าย ตรงไปตรงมา และพอมีความผันผวนให้เก็งกำไรอยู่ ไม่ต้องรีบร้อนเข้าไปไล่ซื้อสกุลเงินคริปโต 

 

เพราะถ้ามันคืออนาคตจริงๆ ก็ไม่ควรมีคำว่าสายเกินไปเช่นกัน

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X