ในช่วงโมงยามที่ความคิดทั้งสองฟากฝ่ายกำลังเข้าปะทะกัน หากถอยห่างออกมาจากสถานการณ์คุกรุ่นสักนิด เราจะพบกับเหตุการณ์น่าประหลาดบางอย่าง เมื่อข้อมูลข่าวสารชุดเดียวกันอาจจะถูกรับรู้และนำไปตีความได้แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว โดยกลุ่มผู้คนที่มีความคิดความเชื่อต่างกัน
ปรากฏการณ์นี้เป็นที่สนใจของนักวิจัยด้านสมองจำนวนมาก เพราะการทำความเข้าใจว่ารากฐานของการตีความชุดข้อมูลเกิดจากกระบวนการใดในสมอง อาจนำไปสู่การช่วยลดความตึงเครียด และทลายความเป็นขั้วตรงข้ามของสองแนวคิดลงไปได้
ทีมนักวิจัยนำโดย Yuan Chang Leong จากสถาบันประสาทวิทยาศาสตร์ เฮเลน วิลส์ (Helen Wills Neuroscience Institute) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) ได้ใช้เครื่องฉายภาพสมองด้วยแม่เหล็ก Functional magnetic resonance imaging (fMRI) สำรวจการทำงานของสมองในขณะที่ผู้เข้าร่วมทั้งฝั่งอนุรักษนิยมและเสรีนิยมกำลังดูคลิปวิดีโอที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายผู้ลี้ภัยทั้งสองแง่มุม จนพบว่าสมองของผู้เข้าร่วมทั้งสองฝั่งทำงานแตกต่างกัน
หากจะกล่าวโดยละเอียดยิ่งขึ้นคือ ผู้เข้าร่วมการทดลองจะต้องตอบคำถามเพื่อสำรวจความคิดของตนเองเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย จากนั้นจะได้ชมคลิปวิดีโอในเครื่อง fMRI แล้วให้คะแนนว่าเห็นด้วยเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวมากน้อยเพียงใด
ผลการวิเคราะห์พบว่า สมองส่วนที่ใช้รับภาพ (Visual Cortex) และรับเสียง (Auditory Cortex) ของผู้เข้าร่วมทั้งสองฝั่งอุดมการณ์ทางการเมืองทำงานอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน หมายความว่า การประมวลผลสัญญาณภาพและเสียงไม่มีผลต่อการรับรู้ข้อมูล
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ส่วนที่ทำงานแตกต่างกันในสมอง เป็นบริเวณที่เรียกว่า Dorsomedial prefrontal cortex (DMPFC) อยู่บริเวณกลางหน้าผากค่อนไปทางด้านบน ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการเรียกความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ (Episodic Memory) กลับคืนมา การสร้างความประทับใจ และการให้เหตุผลเกี่ยวกับภาวะทางจิตใจของผู้อื่น
การตอบสนองทางสมองที่แตกต่างกันนี้ เรียกว่า ความมีขั้วทางประสาท (Neural Polarization) ซึ่งจะยิ่งแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด หากได้รับชมคลิปที่ใช้ภาษาเร้าอารมณ์ และพูดถึงนโยบายที่พูดถึงความเสี่ยงและความมั่นคง
นอกจากนี้ หากระดับการตอบสนองทางสมองผู้เข้าร่วมคนใดที่ถูกจัดว่าเป็น ‘ฝ่ายอนุรักษนิยมแบบกลางๆ’ หรือ ‘ฝ่ายเสรีนิยมแบบกลางๆ’ จะมีแนวโน้มสูงมากที่จะเห็นด้วยต่ออุดมการณ์ทางการเมืองนั้นๆ หลังจากดูคลิปจบ
แสดงให้เห็นว่า ผู้เข้าร่วมที่เห็นด้วยกับแนวคิดอนุรักษนิยม จะมีโอกาสที่จะถูกชักนำให้น้อมรับแนวคิดอนุรักษนิยมเพิ่มมากขึ้น และเป็นในทำนองเดียวกันกับผู้ที่มีแนวคิดเสรีนิยม
ผลการทดลองทำให้เราเห็นว่า อคติทางการเมืองเกิดขึ้นตั้งแต่ในระดับระบบประสาท และสามารถตรวจวัดได้
“ระดับความแตกต่างการตอบสนองของสมองจะยิ่งเห็นได้ชัด หากภาษาที่ใช้ในวิดีโอพูดถึงภัยคุกคาม จริยธรรม และเน้นใช้อารมณ์ ชี้ให้เห็นว่าภาษาในสื่อส่งผลอย่างมากที่จะทำให้ขั้วแนวคิดทางการเมืองรุนแรงมากขึ้น” Yuan Chang Leong นักวิจัยกล่าวเสริม
นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถชักจูงผู้ที่มีความเชื่ออีกฝ่ายได้ด้วยการให้ข้อมูลเพิ่ม เพราะคนเราสามารถให้ข้อสรุปที่ตรงกับความคิดความเชื่อพื้นฐานได้อย่างง่ายดาย นี่จึงเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะเชื่อมประสานหาจุดตรงกลางระหว่างทั้งสองฝ่าย
ความเข้าใจการทำงานของสมองนี้จึงสำคัญยิ่งหากเราต้องการที่จะเปลี่ยนใจอีกฝ่าย
ทีมนักวิจัยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผลการทดลองนี้ต้องแปลความอย่างระมัดระวัง เพราะมันไม่ได้หมายรวมถึงประเด็นทางสังคมอื่นๆ งานวิจัยที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้อาจจะต้องสำรวจถึงประเด็นเรื่องการทำแท้ง หรือการควบคุมอาวุธปืน ซึ่งมีสื่อจำนวนมากที่นำเสนอโดยใช้คำพูดปลุกเร้าอารมณ์
การจะผลักดันประเด็นทางการเมืองไปให้ถึงจุดที่เราตั้งเป้าหมายไว้ อาจเริ่มต้นที่การทำความเข้าใจระบบการตอบสนองต่อแนวคิดทางการเมืองของสมองอย่างละเอียดเสียก่อน
แต่นึกดูอีกทีก็น่ากลัวเหมือนกัน เพราะถ้าเราเข้าใจสมองอย่างลึกซึ้งจนสามารถโน้มน้าวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากๆ มนุษย์เราอาจเข้าใจความสามารถในการล้างสมองเหมือนในนิยายหรือภาพยนตร์เข้าไปทุกที
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- https://www.psypost.org/2020/10/neuroscience-study-finds-political-attitudes-can-influence-how-the-brain-responds-to-information-58384
- https://www.pnas.org/content/117/44/27731