×

ทำไมทิศทางทองคำยังสดใส แม้มีข่าวดีวัคซีนต้านโควิด-19

20.11.2020
  • LOADING...
ทองคำแท่ง

ปี 2020 ถือเป็นอีกหนึ่งปีทองของทองคำ โดยราคาทองคำในตลาดโลกทะยานขึ้นไปทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่บริเวณ 2,075 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำในประเทศพุ่งขึ้นทำระดับสูงสุดเป็นประวัติกาณ์เช่นกันที่ 30,400 บาทต่อบาททองคำ โดยมีต้นเหตุสำคัญได้แก่ การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักจนกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างหนัก ซึ่งกระตุ้นให้ธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลกต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินและการคลัง นั่นทำให้ปีนี้ทั้งราคาทองคำในตลาดโลกและราคาทองคำประเทศให้ผลตอบแทนมากถึง 30% เมื่อราคาทองคำพุ่งขึ้นแรง 

 

นักลงทุนทองคำจึงเริ่มเกิดความวิตกว่าราคาทองคำจะไปได้ไกลมากแค่ไหน และหากมีวัคซีนต้านโควิด-19 จะส่งผลกดดันราคาทองหรือไม่ วันนี้ YLG มีคำตอบ

 

แน่นอนว่าเรากำลังอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการพัฒนาวัคซีน ขณะที่นักวิเคราะห์ของ Goldman Sachs ระบุไว้ว่า มีแนวโน้มที่วัคซีนต้านโควิด-19 จะได้รับการอนุมัติในกรณีฉุกเฉิน EUA (Emergency Use Authorization) ในสหรัฐฯ ได้อย่างเร็วสุดในช่วงปลายเดือนธันวาคม หรือต้นเดือนมกราคม ทำให้สหรัฐฯ อาจเริ่มต้นฉีดวัคซีนได้ในเดือนมกราคม และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2 จนถึงระดับที่วัคซีนแพร่หลายในช่วงปลายปี 2021  

 

ดังนั้น กว่าที่วัคซีนจะถูกกระจายไปอย่างทั่วถึงจนสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้คน และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกกลับมาอยู่ในระดับปกติก่อนหน้าเกิดการระบาดคงยังต้องใช้เวลาอีกนานนับปี อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวสารเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยที่นักลงทุนต้องจับตาในปี 2021 เพราะหากเกิดการร่วมมือกันทั่วโลกจนทำให้สามารถกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึง และส่งผลให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้น จนทำให้ธนาคารกลางและรัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลกเริ่ม ‘ถอน’ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินการคลัง ก็อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ส่งผลให้ราคาทองคำร่วงลงในปี 2021 ได้

 

แต่กระนั้น นักลงทุนรู้หรือไม่ว่าทองคำมีต้นทุนการผลิตที่เรียกว่าราคาหน้าเหมือง และถือเป็นเสมือนราคา Floor ของราคาทองคำ และที่น่าสนใจคือ ราคาทองคำแทบไม่เคยร่วงลงต่ำกว่าต้นทุนเลยในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา  

 

 

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงต้นทุนแบบ All-in Sustaining Cost (AISC) ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นทุนที่สะท้อนทุกค่าใช้จ่ายของการผลิตทองคำ โดยหากย้อนดูต้นทุน AISC ของราคาทองคำจาก CPM Group ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า ต้นทุน AISC ของราคาทองคำในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมามีระดับสูงสุดอยู่ที่ 1,187 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วงไตรมาส 3/2012 หลังจากนั้นต้นทุน AISC ของราคาทองคำก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจนต่ำกว่าระดับ 1,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์นับตั้งแต่ไตรมาส 4/2014 เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาเทียบกับระดับต่ำสุดของราคาทองคำจะพบว่า ราคาทองคำไม่เคยร่วงลงต่ำกว่าระดับดังกล่าวเลย

 

จากข้อมูลล่าสุดของ S&P Global Market Intelligence พบว่า ต้นทุน AISC ทองคำในช่วงไตรมาส 1/2020 ของผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำรายใหญ่จำนวน 17 รายอยู่ระหว่าง 652-1,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ต้นทุน AISC โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 968 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และมีค่ากลางของต้นทุน AISC อยู่ที่ 975 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพิ่มขึ้น 5.9% จากระดับ 923 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในไตรมาสก่อนหน้า ดังนั้น ต่อให้ราคาทองคำปรับตัวลง แต่โอกาสที่ราคาทองคำจะร่วงลงแรงจนต่ำกว่าระดับดังกล่าวนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย  

 

ที่สำคัญ ดูเหมือนจะเร็วไปที่นักลงทุนจะวิตกเกี่ยวกับการร่วงลงของราคาทองคำ เหตุเพราะปัจจัยพื้นฐานเชิงบวกที่เคยหนุนทองคำในปีนี้ยังมีแนวโน้มจะดำเนินต่อไปในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ  

 

และการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จากธนาคารกลางต่างๆ บวกรวมกับรัฐบาลทั่วโลกโดยเฉพาะยังมีแนวโน้มจะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังเพิ่มเติม ทำให้สภาพคล่องในระบบยังคงเพิ่มสูงขึ้น ภาวะดังกล่าวกระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น อันนำไปสู่การอ่อนค่าของสกุลเงิน ซึ่งจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เชิงบวกต่อราคาทองคำได้ในระยะยาว

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X