หลังจากวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเปิดเผยคำสั่งคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ซึ่งกรรมการเสียงข้างมากจึงมีมติอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจปฏิบัติ
ด้านคณะกรรมการเสียงข้างน้อยซึ่งประกอบไปด้วย ศาสตราจารย์สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า, สันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้าและโฆษกคณะกรรมการ และ อร่ามศรี รุพันธ์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า ได้ให้เหตุผลที่ไม่เห็นด้วย ดังนี้
- การรวมธุรกิจในครั้งนี้จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากการรวมธุรกิจมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาดหรือครอบงำทางเศรษฐกิจขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะผู้ขออนุญาตมีสถานะเป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญหลายประเภททั้งในส่วนของสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในชีวิตประจำวันตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ
เมื่อผนวกรวมกับธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในระดับสูงทุกรูปแบบการค้า ตั้งแต่ระดับค้าส่ง ค้าปลีกขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายสำคัญที่จะกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค ด้วยปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดสูงมากจนสามารถครอบงำเศรษฐกิจการค้าของประเทศได้โดยง่าย และจะมีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมมากยิ่งขึ้น
- ผลกระทบต่อคู่แข่ง (Competitors) ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจ เหนือตลาดและมีส่วนแบ่งตลาดในระดับสูงทุกรูปแบบของการค้าส่งและค้าปลีก จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจที่มีอยู่หรือผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดจะยิ่งเข้าสู่ตลาดยากยิ่งขึ้น เพราะคู่แข่งที่จะสามารถแข่งขันได้ในตลาดจะต้องมีการใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจและการตลาดที่เน้นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ตลอดจนการลดราคาแข่งขันเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้
แม้จะมีผลดีในระยะสั้น แต่หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดไม่สามารถปรับตัวได้ ก็อาจจะต้องออกจากตลาดไปในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่แข่งที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ในที่สุดทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดน้อยลง
- ผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (Suppliers) การรวมธุรกิจในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบ เนื่องจากเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่รายใหญ่ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยภายหลังการรวมธุรกิจส่งผลให้ผู้ขออนุญาตและบริษัทในเครือเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคครบทุกรูปแบบ ทั้งร้านค้าส่ง ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกขนาดเล็ก อันเป็นผลให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดและมีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (Supplier) มากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะผู้ผลิตที่เป็น SMEs ที่อาจไม่มีอำนาจต่อรองมาก จึงมีโอกาสสูงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมในการกำหนดเงื่อนไขทางการค้า หรืออาจอยู่ในภาวะจำยอมที่จะต้องรับเงื่อนไขตามที่ผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจเสนอโดยไม่มีข้อต่อรองใดๆ เนื่องจากหากไม่ยินยอมดำเนินการในลักษณะดังกล่าวก็ไม่สามารถที่จะวางสินค้าจำหน่าย หรืออาจถูกปิดกั้นช่องทางการจำหน่ายและต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด
- ผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยรวม ผลของการรวมธุรกิจครั้งนี้ทำให้จำนวนคู่แข่งขัน ในตลาดลดน้อยลง แม้ว่าในระยะสั้นอาจไม่มีผลต่อผู้บริโภคทั้งในด้านราคาหรือประเภทสินค้าที่มีให้เลือก แต่ในระยะยาวแล้วอาจมีผลต่อทางเลือกของผู้บริโภคทั้งประเภทชนิดสินค้าและระดับราคา อาจมีการกำหนดตามความต้องการหรือนโยบายของกลุ่มบริษัทที่เป็นของผู้ขออนุญาต นอกจากนี้หากมีการลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในตลาดค้าส่งค้าปลีกซึ่งจะมีต้นทุนค่อนข้างสูง ผู้บริโภคอาจเป็นผู้ต้องรับภาระอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างน้อยมีความเห็นว่า หากยอมให้มีการรวมธุรกิจดังกล่าวเกิดขึ้นจะส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจการค้าของประเทศ และมีผลทำให้โครงสร้างของตลาดค้าส่งค้าปลีกมีการกระจุกตัวในระดับสูงมาก อันจะนำไปสู่การครอบงำตลาดหรือการผูกขาดทางการค้าในที่สุด จึงไม่เห็นชอบต่อการอนุญาตให้รวมธุรกิจ ทั้งนี้ในต่างประเทศเมื่อมีการรวมธุรกิจที่มีการกระจุกตัวมากขนาดนี้ จะมีการกำหนดมาตรการจากหนักไปเบา ได้แก่ ไม่อนุญาต อนุญาตแต่มีเงื่อนไข
ด้านโครงสร้างประกอบกับด้านพฤติกรรม และเบาสุดเฉพาะมาตรการด้านพฤติกรรม (มติ กขค. เสียงส่วนใหญ่ใช้มาตการนี้) อนึ่ง กรณีการรวมธุรกิจที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ หากมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างตลาด องค์กรกำกับการแข่งขันทางการค้าในประเทศต่างๆ จะมีทางเลือก 2 ทางคือ ไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจหรืออนุญาตให้รวมธุรกิจอย่างมีเงื่อนไข โดยต้องมีมาตรการเยียวยาที่เน้นมาตรการโครงสร้างเป็นหลักควบคู่ไปกับมาตรการด้านพฤติกรรม
โดยมาตรการด้านโครงสร้างที่ใช้แก้ไขปัญหาการกระจุกตัวของตลาดในระดับพื้นที่ ได้แก่ การให้ขายกิจการบางส่วน หรือการให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจการให้เป็นรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่อยู่ในตลาดเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขในการยับยั้งการเปิดสาขาใหม่ หรือในกรณีที่ไม่ถูกบังคับให้ขายร้านแต่จะมีการห้ามมิให้มีการขยายพื้นที่ในร้านค้าที่มีอยู่เดิม
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า