กระแสแสดงความยินดีจากผู้นำทั่วโลกต่างส่งไปถึง โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 และคามาลา แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ หลังจากที่ทั้งสองพลิกเอาชนะ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และคว้าเก้าอี้ในทำเนียบขาวได้สำเร็จ
แต่ปีนี้ภาพการแสดงความยินดีต่อผู้นำใหม่สหรัฐฯ จากทั่วโลกเปลี่ยนไปจากปีก่อนๆ เนื่องจากยังมีผู้นำ ‘มหาอำนาจ’ อย่างจีนและรัสเซีย และผู้นำ ‘สายแข็ง’ อีกหลายประเทศ เช่น ตุรกี บราซิล และเม็กซิโก ที่ยังสงวนท่าที ไม่เอ่ยปากยินดีหรือแสดงอาการใดๆ ต่อการที่ไบเดนคว้าชัยชนะ
ในทางกลับกัน การนิ่งเงียบของผู้นำเหล่านี้กลับเป็นการส่งเสียงดังกึกก้องของพวกเขาถึงความคาดหวังที่มีต่อความสัมพันธ์กับผู้นำและรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ
ความเงียบของผู้นำแต่ละคนบอกอะไรบ้าง? โดยบทวิเคราะห์ของ CNN ได้ยกตัวอย่างท่าทีของผู้นำคนสำคัญมา 5 คน
ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย
ในปี 2016 รัฐบาลเครมลินแสดงความยินดีต่อประธานาธิบดีทรัมป์ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่เขาคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่ท่าทีของปูตินในครั้งนี้ไม่เหมือนก่อน เขายังไม่ส่งข้อความใดๆ ถึงไบเดน และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (9 พฤศจิกายน) โฆษกรัฐบาลรัสเซียระบุว่าจะรอจนกว่าสหรัฐฯ ได้ผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะแสดงความเห็นใดๆ ออกมา
ตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์ เขาได้ทำลายจุดยืนในนโยบายสหรัฐฯ ด้วยการกล่าวชื่นชมปูตินหลายต่อหลายครั้ง จนทำให้เกิดความสงสัยว่าทีมหาเสียงของเขาในปี 2016 มีความเกี่ยวข้องกับความพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของรัสเซียหรือไม่
ซึ่งความสัมพันธ์แสนอบอุ่นนี้ไม่อาจคาดหวังได้จากไบเดน ซึ่งประกาศกร้าวว่าการแทรกแซงกิจการภายในของสหรัฐฯ เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์
“ไบเดนจะทำงานอย่างหนักร่วมกับหุ้นส่วนและพันธมิตรเพื่อต่อต้านสิ่งใดก็ตามที่ปูตินทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามสังหารประชากรรัสเซียในต่างประเทศ หรือสังหารผู้นำฝ่ายค้านเช่นที่เกิดกับ อเล็กเซ นาวาลนี (แกนนำฝ่ายค้าน) ในไซบีเรีย หรือการดำเนินการต่างๆ ในซีเรียหรือไครเมีย” คาริน ฟอน ฮิปเปล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านความมั่นคง Royal United Services Institute กล่าว
ขณะที่คาดว่านโยบายของไบเดนอาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อความสัมพันธ์กับรัสเซีย โดยก่อนการเลือกตั้งในช่วงปลายเดือนตุลาคม ไบเดนให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ 60 Minutes ของสถานีโทรทัศน์ CBS ระบุถึงรัสเซียว่าเป็นภัยคุกคามหลักของความมั่นคงสหรัฐฯ ซึ่งโฆษกรัฐบาลเครมลินตอบโต้ว่าไม่เห็นด้วย และมองว่าเป็นวาทกรรมที่ขยายความเกลียดชังที่มีต่อรัสเซีย
ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีน
ถึงแม้ว่าในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2016 ทรัมป์จะใช้วาทกรรมต่อต้านจีนร้ายแรงแค่ไหน แต่หลังจากที่ทรัมป์คว้าชัยชนะ เขาก็ยังคงได้รับการแสดงความยินดีจากประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่เรียกร้องให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ก้าวไปข้างหน้า
แต่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ภายใต้บังเหียนของทรัมป์ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะไม่เป็นมิตรแล้วยังเลวร้ายลงต่อเนื่อง จากท่าทีของทรัมป์ที่เปิดฉากทำสงครามการค้าและดำเนินการต่อต้านจีนในหลายด้าน ทั้งด้านเทคโนโลยี สิทธิมนุษยชน กล่าวหาจีนว่าพยายามขยายอิทธิพลในภูมิภาค และล่าสุดคือกล่าวหาว่าจีนเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ไปทั่วโลก
แต่ยังไม่แน่ชัดว่าความสัมพันธ์ที่บั่นทอนลงของสองประเทศเป็นสาเหตุให้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงยังไม่รีบยินดีต่อการขึ้นเป็นว่าที่ประธานาธิบดีของไบเดน โดยในวันจันทร์ที่ผ่านมา (9 พฤศจิกายน) รัฐบาลจีนเลี่ยงที่จะตอบคำถามว่าจะแสดงความยินดีต่อชัยชนะเลือกตั้งของไบเดนเมื่อใด
ซึ่งโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนชี้แจงแค่ว่าจีนจะดำเนินการโดยเป็นไปตามแนวปฏิบัติสากล
ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าความลังเลของรัฐบาลปักกิ่งมาจากท่าทีของไบเดนเองที่เคยอวดอ้างว่าสามารถเอาชนะจีนได้ และประณามท่าทีของทรัมป์ที่จับมือกับสีจิ้นผิงในช่วงแรก ทำให้จีนอาจยังไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องประนีประนอมกับสหรัฐฯ ภายใต้การนำของไบเดน เนื่องจากความเสี่ยงของการกระทำที่คาดเดาไม่ได้นั้นค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับทรัมป์
“แม้ว่าไบเดนจะแข็งกร้าวต่อจีน และจะทำงานร่วมกับหุ้นส่วนและชาติพันธมิตรในการมีนโยบายต่อจีนร่วมกัน แต่แนวนโยบายของเขาบอกว่าสหรัฐฯ จะทำงานกับจีนในพื้นที่ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพภูมิอากาศแปรปรวนหรือเกาหลีเหนือ และจากนั้นพวกเขาจะต่อต้านกันในเรื่องอื่นๆ ดังนั้นมันจึงมีความแตกต่างกันมากกว่า แต่ผมคิดว่ามันจะดีกว่าสำหรับจีน เพราะมันจะไม่สามารถเอาแน่เอานอนได้เหมือนอย่างที่ทรัมป์เป็น” ฟอน ฮิปเปล กล่าว
ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ของตุรกี
ในระหว่างสมัครรับเลือกตั้ง ทรัมป์ชื่นชมประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ของตุรกีที่สามารถรับมือกับความพยายามก่อรัฐประหารได้ แม้จะมีการกวาดล้างนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม
ในฐานะประธานาธิบดี ทรัมป์แสดงความยินดีต่อชัยชนะในการทำประชามติของแอร์โดอัน ซึ่งทำให้เขาได้อำนาจมากมายที่ไม่สามารถตรวจสอบได้
การที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ยังทำให้แอร์โดอันมั่นใจว่าสามารถใช้อำนาจทำอะไรก็ตามที่เขาต้องการ แต่เรื่องนี้จะต่างออกไปอย่างมาก หากไบเดนซึ่งแอร์โดอันยังไม่เคยให้การยอมรับได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่
ในการให้สัมภาษณ์กับ The New York Times เมื่อปีที่ผ่านมา ไบเดนเคยกล่าวว่าเขากังวลเกี่ยวกับตุรกี และคงจะมีท่าทีแตกต่างอย่างมากในด้านความสัมพันธ์กับตุรกี ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนผู้นำฝ่ายค้านและชาวเคิร์ดที่เป็นปฏิปักษ์ของรัฐบาลตุรกี
ขณะที่การถอนกำลังทหารสหรัฐฯ ออกจากภูมิภาคตะวันออกกลางในยุคของทรัมป์ โดยเฉพาะการถอนทหารอย่างฉับพลันในซีเรีย ถือเป็นการเปิดทางให้กองทัพตุรกีรุกคืบเข้าโจมตีกองกำลังชาวเคิร์ดในซีเรีย และทำให้แอร์โดอันยอมเสี่ยงซื้ออาวุธจากรัสเซีย อีกทั้งยังสนับสนุนการโจมตีเป้าหมายของสหรัฐฯ และชาติยุโรปในตะวันออกกลาง
ซึ่งไบเดนกล่าวประณามและยืนยันว่าตุรกีนั้นต้องชดใช้สำหรับการกระทำดังกล่าว ซึ่งคาดว่ารวมถึงการพิจารณาว่าสหรัฐฯ จะยังคงขายอาวุธให้ตุรกีต่อหรือไม่
ประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู ของบราซิล
สำหรับ ฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีแห่งบราซิลที่ได้ฉายาว่า ‘ทรัมป์แห่งดินแดนเขตร้อน’ จากแนวทางการเมืองแบบประชานิยมที่คล้ายกับทรัมป์ ยังคงไม่แสดงท่าทีต่อชัยชนะของไบเดนหรือการพ่ายแพ้ของทรัมป์เช่นกัน
โดยผู้นำบราซิลและลูกๆ ของเขาซึ่งชื่นชอบบทบาททางการเมืองของทรัมป์มีความหวังที่อยากให้ทรัมป์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกสมัย
ซึ่ง เอดูอาร์โด โบลโซนารู บุตรชายของเขาที่สวมหมวกทรัมป์ 2020 ระหว่างเยือนวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อปีที่แล้ว ได้โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์โดยตั้งคำถามเกี่ยวกับความโปร่งใสของคะแนนโหวตและความสมบูรณ์ของการเลือกตั้งสหรัฐฯ ครั้งนี้
ความคล้ายคลึงระหว่างทรัมป์กับโบลโซนารูนั้นรวมถึงแนวทางการเมือง โดยโบลโซนารูหาเสียงด้วยการปราศรัยที่เป็นประเด็นขัดแย้ง ทั้งการใช้วาทกรรมเหยียดเพศหญิง ต่อต้านกลุ่มรักร่วมเพศ และแบ่งแยกเชื้อชาติ อีกทั้งยังมั่นใจและประเมินสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่ำเกินไป ทั้งที่บราซิลเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
การพ่ายแพ้และหลุดจากตำแหน่งของทรัมป์จึงเปรียบเหมือนการสูญเสียพันธมิตรทางการทูตของโบลโซนารู ในขณะที่ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ อย่างไบเดนมีท่าทีและนโยบายหลายอย่างที่สวนทางกับทรัมป์ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนว่าไบเดนจะเป็นมิตรที่ดีต่อผู้นำบราซิลมากน้อยแค่ไหน
ประธานาธิบดี อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ของเม็กซิโก
ประธานาธิบดี อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ของเม็กซิโกนั้นระมัดระวังอย่างยิ่งในการออกแถลงการณ์เรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เขายังไม่แถลงยินดีต่อชัยชนะของไบเดน และในขณะเดียวกัน เขายังระบุว่าจำเป็นที่จะต้องรอคอยจนกว่าการต่อสู้ทางกฎหมายของทรัมป์ในเรื่องการนับคะแนนนั้นได้ข้อสรุป
“เราจะรอให้ปัญหาทางกฎหมายทั้งหมดได้รับการแก้ไข เราไม่ต้องการประมาท เราไม่ต้องการดำเนินการอย่างไม่จริงจัง เราต้องการเคารพความตั้งใจของประชาชนและสิทธิของพวกเขา” โลเปซ โอบราดอร์ กล่าวในการแถลงทางโทรทัศน์เมื่อวันเสาร์ (7 พฤศจิกายน) หลังทราบผลเลือกตั้ง
ผู้นำเม็กซิโกนั้นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นกับประธานาธิบดีทรัมป์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้จะเผชิญกับมาตรการต่อต้านทางเศรษฐกิจและวาทกรรมเหยียดเชื้อชาติของทรัมป์
โดยทั้งสองซึ่งมีความคล้ายคลึงกันจากการเป็นนักการเมืองที่สนับสนุนประชานิยมได้พบปะกันเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อฉลองการทำข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา
จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการชะลอแสดงความยินดีต่อไบเดนของประธานาธิบดีเม็กซิโกอาจมีส่วนจากความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อทรัมป์ ในขณะเดียวกันยังแสดงให้เห็นถึงความชัดเจนของแนวนโยบายต่างประเทศของเม็กซิโกที่หลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นต่อกิจการของประเทศอื่น
ขณะที่ประธานาธิบดีโลเปซ โอบราดอร์ ยังกล่าวในการแถลงเมื่อวันเสาร์ว่าเม็กซิโกมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งสองคน พร้อมชื่นชมทรัมป์ที่ให้ความเคารพต่อเม็กซิโกและมีข้อตกลงบางอย่างที่ดีร่วมกัน และขอบคุณทรัมป์ที่ไม่แทรกแซงและให้ความเคารพต่อกิจการของเพื่อนบ้าน ในขณะเดียวกันเขายังชื่นชมไบเดนในฐานะมิตรที่รู้จักกันมายาวนานกว่า 10 ปี
ภาพ: Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: