นี่คือบรรยากาศภาพรวมงานฉายหนังสารคดีเรื่อง ‘ฮากามาดะ’ และการเสวนาในหัวข้อ ‘โทษประหาร: ยุติธรรมหรือความผิดพลาด’ เนื่องในวันยุติโทษประหารชีวิตสากลและยุโรป ที่จัดขึ้นโดย คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ และ Documentary Club เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ หอประชุมชั้น 3 สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ นับเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อเปิดพื้นที่พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับประเด็นโทษประหารชีวิต
ภาพยนตร์สารคดีความยาว 72 นาที เรื่อง ‘ฮากามาดะ’ ถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของอดีตนักมวยชาวญี่ปุ่น อิวาโอะ ฮากามาดะ ชายผู้ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตจากเหตุฆาตกรรมครอบครัวเจ้าของโรงงานมิโซะ 4 ศพที่เขาไม่ได้ก่อ ก่อนที่จะถูกจองจำเพื่อรอการประหารชีวิตยาวนานกว่า 47 ปี และได้รับการปล่อยตัวเมื่อราว 6 ปีก่อน หลังจากศาลชั้นต้นค้นพบหลักฐานชิ้นใหม่ที่นำไปสู่การรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง จวบจนปัจจุบันนี้ ฮากามาดะ ก็ยังถือเป็นผู้ครองสถิติในฐานะนักโทษที่ถูกจองจำในแดนประหารยาวนานที่สุดในโลก สะท้อนถึงช่องโหว่ของโทษประหารชีวิตและกระบวนการยุติธรรมที่พรากอิสรภาพของชายคนหนึ่งไปยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ
ในการกล่าวเปิดงาน เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้เน้นย้ำจุดยืนของสหภาพยุโรปต่อการใช้โทษประหารชีวิต โดยกล่าวว่า “สำหรับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทุกประเทศนั้น ท่าทีของเรายังแน่วแน่ไม่เคยเปลี่ยน การประหารชีวิตคือการลงโทษที่ทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราคัดค้านการใช้โทษประหารชีวิตในทุกกรณี”
การเสวนาในหัวข้อ ‘โทษประหาร: ยุติธรรมหรือความผิดพลาด’ ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรม รวมถึง ดอน ลินเดอร์ ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง The Last Executioner ที่มาบอกเล่าเรื่องราวอีกมุมหนึ่งของ เชาวเรศน์ จารุบุณย์ เพชฌฆาตแม่นปืนคนสุดท้ายของไทย พร้อมให้ภาพความโหดร้ายของโทษประหาร
ดอนเล่าว่า จากเดิมที่มีการลงโทษประหารด้วยการตัดศีรษะ ก่อนที่ปรับเปลี่ยนมาลงโทษด้วยวิธีการยิงเป้าด้วยปืนกล และเปลี่ยนมาฉีดสารพิษเข้าสู่ร่างกายในท้ายที่สุด ภาพดังกล่าวสะท้อนความโหดร้ายและรุนแรง เป็นบทลงโทษที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
พระเทพปริยัติมุนี เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตและมุมมองของศาสนา โดยชี้ให้เห็นว่า “พระพุทธศาสนาไม่ได้มุ่งเน้นเอาคนชั่วออกจากสังคม หากแต่มุ่งเน้นให้คนชั่วกลับตัวกลับใจเป็นคนดี” โทษประหารชีวิตจึงไม่ตอบโจทย์หลักการตรงนี้ในพระพุทธศาสนา
สัณหวรรณ ศรีสด ที่ปรึกษากฎหมาย คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับความยากลำบากในการรื้อฟื้นคดีในกระบวนการยุติธรรมไทย
“หลังมีคำพิพากษา ผู้ต้องการที่จะรื้อฟื้นคดีใหม่ก็จะต้องเป็นผู้ขวนขวายเองทั้งหมด กฎหมายการรื้อฟื้นคดีใหม่ไม่ได้มีอยู่แค่ที่ไทย จริงๆ มีอยู่ในทุกประเทศ เป็นภาพสะท้อนว่า ทุกประเทศยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ได้สมบูรณ์แบบ 100% ดังนั้น ณ จุดๆ หนึ่งที่ต่อให้มีคำพิพากษาไปแล้ว หากมีพยานหลักฐานใหม่ ก็สามารถกลับมารื้อฟื้นคดีได้ โดยจะต้องเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือ มั่นคง แน่นหนา”
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมรายงานภาพรวมเกี่ยวกับสถานการณ์เกี่ยวกับโทษประหารชีวิตทั่วโลก โดยชี้ว่า “กว่า 2 ใน 3 จาก 193 ประเทศทั่วโลกตัดสินใจยุติโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว เราควรมาพูดคุยกันด้วยเหตุและผลว่าอะไรคือวิธีการในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกันแน่ ก่อนที่เราจะใช้พายุทางอารมณ์ในการโต้ตอบกัน เพราะการใช้ความรุนแรงไม่ได้แก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น”
ขณะที่ ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดสุพรรณบุรี ชี้ให้เห็นว่า โทษประหารชีวิตถูกทำให้เป็นแพะและอาจไม่ตอบโจทย์วิธีการที่จะช่วยลดหรือป้องกันการเกิดปัญหาอาชญากรรม โดยปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ระบบยุติธรรมไทยมีช่องโหว่ เป็นระบบที่ไม่สามารถรักษาความจริงเอาไว้ได้ และเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม
“เราจำเป็นต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัย มากกว่าที่จะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ตัดสินให้คนตายตกไปตามกัน ทั้งที่ปัญหาการก่ออาชญากรรมก็ไม่ได้ลดลง เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่โทษเราเบาเกินไป แต่ระบบยุติธรรมไทยเรามีช่องโหว่”
[IN PARTNERSHIP WITH THE DELEGATION OF THE EUROPEAN UNION TO THAILAND]
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล