‘Smart City’ ความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วไปคือ ‘เมืองอัจฉริยะ’ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนแย้งว่าควรเปลี่ยนเสียใหม่เป็น ‘เมืองน่าอยู่’ ซึ่งน่าจะตรงความมากกว่า
นั่นคือเรื่องความหมาย หากในทางกายภาพ Smart City เมืองใหญ่หลายต่อหลายแห่งทั่วโลกดำเนินงานด้านนี้มาเนิ่นนาน และต้องขอบคุณโซลูชัน Internet of Things (IoT) ที่ทำให้นวัตกรรมสมาร์ทๆ หลายอย่างถูกใช้งานแพร่หลายและขยายตัวอย่างรวดเร็วเพื่อเชื่อมต่อและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้เปี่ยมประสิทธิภาพ เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในเมืองให้ดียิ่งกว่า
เราลองมาไล่ชื่อเสียงเรียงนามสักสองเมืองในประเทศที่รู้จักกันดีให้เป็นตัวอย่างกันเสียหน่อย
อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
ถือเป็นประเทศแรกที่นำแนวคิดเมืองอัจฉริยะมาใช้ในยุโรปเมื่อปี 2009 โดยเปิดตัวโครงการเมืองอัจฉริยะชื่อ Amsterdam Smart City (ASC) เพื่อปรับปรุงทุกองคาพยพของเมือง โดยรวมแนวคิด โปรเจกต์ และแนวทางแก้ไขภายใต้กรอบ 7 ด้าน ได้แก่ ระบบโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital City), พลังงานอัจฉริยะ (Energy), ระบบการคมนาคม (Mobility), แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular City), การปกครองและการศึกษา (Governance & Education), ประชากรและการอยู่อาศัย (Citizens & Living) และสถาบันการศึกษาด้านเมืองอัจฉริยะ (Smart City Academy)
โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
ว่ากันว่านี่คือเมืองที่มีอากาศบริสุทธิ์สุดๆ เพราะเป็นหนึ่งในแกนหลักของโครงการเมืองอัจฉริยะ จากการประสานงานโดย Copenhagen Solutions Lab เพื่อเปลี่ยนเมืองให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จนทำให้โคเปนเฮเกนคว้ารางวัล World Smart City Award 2014 มาครอง พร้อมตั้งเป้าที่จะเป็นเมืองหลวงปลอดคาร์บอนแห่งแรกของโลกภายในปี 2025 โดยพุ่งเป้า 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ การใช้พลังงาน การผลิตพลังงาน การคมนาคมสีเขียว การขับเคลื่อนสีเขียว และการบริหารเมือง
หันมามองประเทศไทย ถึงตอนนี้จะยังไปไม่ไกลเหมือนสองเมืองข้างต้น แต่เป็นที่น่าดีใจเมื่อยังมีหน่วยงานให้ความสนใจและมองเห็นถึงความสำคัญ รวมทั้งเตรียมพร้อมต่อความเป็น Smart City มาโดยตลอด จนกระทั่งสามารถเกิดขึ้นจริง ณ บริเวณใจกลางกรุงเทพฯ แล้ววันนี้
MEA ร่วมกับจุฬาฯ ลงนามสู่การพัฒนานวัตกรรมระบบจ่ายไฟฟ้าให้ทันสมัย
การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ในฐานะองค์กรที่มุ่งเน้นสร้างสรรค์นวัตกรรม ขับเคลื่อนระบบพลังงานอัจฉริยะเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานครมาตลอดนั้น มีหน้าที่รับผิดชอบแผนการสร้างเมืองอัจฉริยะด้าน Smart Energy จึงได้มีการลงนามโครงการร่วมพัฒนาเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ เพื่อร่วมกันศึกษาพัฒนารูปแบบเมืองอัจฉริยะ Smart City ในพื้นการดูแลของมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่บริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสยามสแควร์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร มีศักยภาพในด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการศึกษาของประเทศ
ก่อนนำมาสู่การลงนามครั้งสำคัญเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 โดยมี กีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง พร้อมด้วย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือการพัฒนาระบบจ่ายไฟฟ้าและนวัตกรรม รองรับโครงการเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ (CHULA Smart City) ณ อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวงสำนักงานใหญ่ คลองเตย เพื่อดำเนินการอย่างบูรณาการตามจุดมุ่งหมายสำคัญของทั้งสองฝ่ายต่อการพัฒนาชุมชนเมืองด้านพลังงานให้ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
สร้างท้องถนนไร้สาย-เสาไฟฟ้า อาคารพลังงานสะอาด ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ อนาคตที่เป็นจริงและดีกว่า
ภาพของนักท่องเที่ยวถ่ายเซลฟีพวงสายไฟระโยงระยางพันกันยุ่งเหยิง บ้างเรี่ยราดต่ำติดทางเท้าจนบางทีก็เผลอเดินชน เป็นที่ตลกขบขันของต่างชาติพร้อมเสียงก่นด่าของผู้คนในประเทศกำลังจะเลือนหายไป เหลือทิ้งไว้แค่อดีต
เนื่องจากเสาไฟทุกต้นและสายไฟทุกเส้นจะถูกปรับเป็นระบบไฟฟ้าใต้ดินทั้งหมด ตลอดจนอาคารพลังงานสะอาดที่พร้อมทั้งฟังก์ชันเชิงพลังงาน ผสานความสวยงามทางสถาปัตยกรรม และโครงข่ายระบบไฟฟ้าอัจฉริยะของ MEA (Smart Metro Grid) กำลังจะเกิดขึ้น ก่อให้เกิดทัศนียภาพใหม่ที่สวยงามสะอาดตาบริเวณพื้นที่การศึกษาควบรวมพื้นที่เชิงพาณิชย์รวม 1,153 ไร่ ล้อมรอบด้วยถนนพระราม 4, ถนนพระราม 1, ถนนบรรทัดทอง และถนนอังรีดูนังต์ ภายใต้รายละเอียดของโครงการในระยะแรกดังต่อไปนี้
- ปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นระบบไฟฟ้าใต้ดิน ทำให้ระบบไฟฟ้าให้มีความเพียงพอ มั่นคง ปลอดภัย มีทัศนียภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จุฬาฯ ให้สวยงาม ปรับปรุงระบบจำหน่ายในพื้นที่สยามสแควร์เป็นระบบสายใต้ดินภายในปี 2562 และครอบคลุมทั้งพื้นที่จุฬาฯ ภายในปี 2564
- พัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งในพื้นที่จุฬาฯ มีศักยภาพในการติดตั้ง Solar Rooftop ประมาณ 20 เมกะวัตต์
- ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ขนาด 1.2 เมกะวัตต์ชั่วโมง ที่สถานีไฟฟ้าย่อยปทุมวันภายในปี 2565
- พัฒนาระบบมิเตอร์อัจฉริยะ (AMI) ทำให้สามารถเก็บข้อมูลการใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเชื่อมโยงและบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่ Smart City ภายในปี 2564
- พัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Metro Grid) ทำให้สามารถควบคุม จัดการ และแก้ไขระบบไฟฟ้าขัดข้องอย่างอัตโนมัติ และผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าของตนเองได้ภายในปี 2564
กรุงเทพฯ เมืองอัจฉริยะหรือเมืองน่าอยู่ เป็นเมืองเดียวกัน
ตามกรอบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 7 สมาร์ท ได้แก่ Smart Economy, Smart Mobility, Smart Energy, Smart Environment, Smart Governance, Smart Living และ Smart People เสาหลักแรกสำคัญหนีไม่พ้น ‘Smart Environment’ เพราะต่อให้ทุกด้านอัจฉริยะแค่ไหน หากแต่เมืองยังปนเปื้อนไปด้วยมลพิษและผลผลิตจากกระบวนการผลิตพลังงานรูปแบบเก่า ทุกอย่างคงจะไปต่อไม่ได้ แม้วันนี้อากาศอย่างโคเปนเฮเกนและความอัจฉริยะของเมืองอย่างอัมสเตอร์ดัมยังดูห่างไกล แต่นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของอนาคตสังคมเมืองอันแจ่มใส อัจฉริยะ เปี่ยมคุณภาพ และน่าอยู่มากขึ้นได้อย่างแน่นอน
ข้อสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดที่ทำให้เมืองอัจฉริยะสมบูรณ์แบบได้นั้นไม่อาจขาดพลังงานไฟฟ้าที่พอเพียงต่อการใช้งานทั้งระบบและรองรับนวัตกรรมแห่งอนาคตไปได้ เรียกได้ว่าถ้าไม่มีพลังงานไฟฟ้าก็ยากที่จะมี Smart City เช่นกัน ‘No Electricity… No Smart City’ ด้วยเหตุนี้ MEA ในฐานะผู้ขับเคลื่อนวิสัยทัศน์พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานครและดูแลพลังงานไฟฟ้าเมืองหลวงของประเทศไทย จึงมุ่งมั่นพัฒนาระบบต่างๆ ให้มีความล้ำสมัยเพื่อให้สามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้า รองรับอุปกรณ์ IoT ระบบประมวลผลข้อมูลและเทคโนโลยีที่มีมากขึ้น มุ่งสู่การพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพและความยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์ City ที่มีความ Smart อย่างแท้จริง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์